posttoday

เน้นสร้างผลงานตัวเอง ไม่หนุนรัฐบาล สาเหตุ นายใหญ่ ส่งสัญญาณฟาด เสนาบดี

19 ธันวาคม 2567

ครบ 3 เดือนรัฐบาลแพทองธาร จับตานายใหญ่ส่งสัญญาณถึงเสนาบดีหลังไม่ปลื้มในการทำงาน เน้นผลงานตัวเองเป็นหลัก ไม่หนุนภาพลักษณ์ของรัฐบาลทำให้ถูกโจมตีจากหลายฝ่าย

สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ตามหาตัวรัฐมนตรี“อีแอบ”ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทิ้งทุ่นระเบิดกลางวงเสวนาเพื่อไทยหัวหิน หมายถึงบุคคลใด ว่ากันว่านายใหญ่ติดตามผลงานและพฤติกรรมของเสนาบดีรายนี้มานานแล้วตั้งแต่ฟอร์มรัฐบาลสมัยเศรษฐาเป็นนายกฯ 

เมื่อไล่เรียงดูย้อนหลัง 3 เดือนที่จะให้“นายกฯอิ๊งค์”แถลงก็ไม่มีแม้จะย้อนไปอีกเกือบปีสมัยเป็นเสนาบดียุคนายกฯเศรษฐา รัฐมนตรีรายนี้ก็ไม่มีผลงานจึงเป็นที่มาของทุ่นระเบิดที่ว่า “จะมาเอาแต่ตำแหน่งรัฐมนตรี ความร่วมมือกันสร้างผลงานให้รัฐบาล ไม่ให้ ทำนองไม่ให้ใจไม่จริงใจกัน ก็ควรออกไป”

การทำงานที่ผลงานไม่ชัดเจน แต่กลับมีการใช้งบกระทรวงประชาสัมพันธ์เฉพาะผลงานตัวเองรายวัน  แต่จุดพีคสุดที่จู่ๆลุกขึ้นมาประกาศชนิดคนฟังหัวตั้ง คือ จะหักนายทุน  มีการสั่งชะงักโครงการหน่วยงานในสังกัดตัวเอง  เอื้อมมือจะดึงงานภาษีจากกระทรวงการคลังที่เพื่อไทยกำกับดูแล มาปั่นเป็นผลงานตัวเองเป็นรัฐมนตรีคนดีตามลำพัง

อย่างที่ทราบกันในการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทย จะมีการประเมินการทำงานของคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาครบระยะเวลาทดลองงาน (Probation) ของรัฐบาลนายกฯแพทองธาร จึงเป็นเวลาดีของนายใหญ่ส่งสัญญาณไม่ผ่านโปรฯ  และจะว่าไป พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลซึ่งเสนาบดีคนนี้เป็นหัวเรือใหญ่ ก็ไม่ใช่ชื่อที่มีน้ำหนักเป็นตัวเลือกลำดับแรกของเพื่อไทยเกือบจะหล่นหายไปจากกระดานการตั้งครม.ด้วยซ้ำ แต่ที่เข้ามาได้เพราะ “ผู้สนับสนุนดี”ช่วยผลักดันเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลสำเร็จแถมได้รับแบ่งกระทรวงเกรดเอ ที่เดิมต้องเป็นของเพื่อไทยด้วยซ้ำ 

จากที่ไม่มีผลงานหลังได้รับการแบ่งสรรตำแหน่ง และเสนาบดีก็ไม่มีอะไรช่วยเกื้อกูลกลับมาที่รัฐบาล แถมไม่ให้เกียรติในการทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล  โดยเฉพาะสมัยยุคนายกฯแพทองธารเท่ากับเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้นายใหญ่ถึงกับระเบิดด้วยถ้อยคำเปรียบเปรยว่าเป็น “อีแอบ” และชี้ชัดถึงเหตุผลการ “ไม่ให้ใจ” ไม่ให้ความร่วมมือในนโยบายรัฐบาลและการไม่เข้าร่วมประชุมครม. เพื่อผ่านร่างพ.ร.ก.2ฉบับสำคัญเท่ากับนายใหญ่หมดความอดทน 
 
หลังครบ 3 เดือน เมื่อรัฐบาลต้องไปต่อ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะส่งสัญญาณให้คนผู้นั้นได้ยินว่า“พอเถอะ”