posttoday

เลือกตั้งอบจ.บทพิสูน์ความเข้มแข็งการเมืองท้องถิ่นระบอบประชาธิปไตยไทย

21 ธันวาคม 2567

เปิดบทวิเคราะห์“ดร.ณัฏฐ์”นักกฎหมายมหาชน ชี้เลือกตั้งท้องถิ่น นายกอบจ.ยังต้องพึ่งพาเครือข่ายหัวคะแนน แตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.ได้เสียงตามจำนวนประชากร ตระกูลบ้านใหญ่ในหลายจังหวัดยังคงมีอิทธิพลสูง

สืบเนื่องจากการหมดวาระของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มอบหมายให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้ง โดยมีการเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2567 ซึ่งการเปิดตัวผู้สมัครในแต่ละจังหวัดเป็นไปอย่างคึกคัก บางจังหวัดถึงขั้นลาออกล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวแข่งขัน

ดร.ณัฎฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชนเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า เท่าที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ. หลายแห่ง นายก อบจ.คนเดิมชิงความได้เปรียบลาออก และลงสมัครใหม่หรือส่งตัวแทนลงสมัครแทน หลายแห่งกลับมาได้ บางแห่งแพ้การเลือกตั้ง ถือเป็นปกติการเลือกตั้ง

แต่การเลือกตั้งนาย อบจ.กับการเลือกตั้งสนามใหญ่ มีความแตกต่างกัน เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ.ตัวแปร ผู้สมัครเลือกตั้งนายก อบจ.มีจำนวนน้อย แต่พื้นที่กว้างใช้เขตจังหวัดเป็นเขตการเลือกตั้ง  แตกต่างพื้นที่ของ ส.ส.ใช้จำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งประมาณ 1.5 -1.6 แสน ที่ กกต.กำหนดเป็นเขตเลือกตั้ง  

จะเห็นว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ.ที่สังกัดพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชน แม้มี ส.ส.ในเขตจังหวัดเป็นฐานเดิมได้เปรียบผู้สมัครรายอื่น แต่ไม่สามารถชนะเลือกตั้ง นายก อบจ.ได้  แม้จะโอ้อวดว่ามีตัวเลขผู้สนับสนุนพรรคจำนวนเพิ่มขึ้นโดยวัดจากเปอร์เซ็นต์ก็ตาม

แต่การเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติมีความแตกต่างกันในแง่พื้นที่และจำนวนผู้สมัคร หากพิจารณาจากบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด ให้สังเกตจากนามสกุลที่คุมการเมืองระดับชาติและกระจายไปยังการเมืองท้องถิ่น จะชิงความได้เปรียบมากกว่าผู้สมัครหน้าใหม่ เพราะฐานคะแนนเดิมและหัวคะแนนจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. หรือฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  

ขณะเดียวกันการเมืองท้องถิ่นระดับ อบจ.ที่ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งที่หมดวาระลง จะเห็นได้ว่า ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองในระดับสูงขึ้นเพราะสนใจในสิทธิของตนเองหันมาหย่อนบัตรเลือกตั้งมากขึ้น ไม่นอนหลับทับสิทธิ เหมือนในอดีต เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัว

กฎหมายใหม่ที่มีผลต่อการหาเสียง

แต่พลวัตการเมืองท้องถิ่นได้พัฒนาไปจากเดิม โดยพระราชบัญญัติสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มาตรา 3 ได้แก้ไขใหม่ในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 บัญญัติให้ “ข้าราชการการเมือง ส.ส.สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อาจช่วยผู้สมัครในการหาเสียงเลือกตั้งได้”

แต่ยังคงสาระสำคัญในหลักการเดิมว่า “จะกระทำการใดๆโดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผัสมัครใด ให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้ โดยให้อำนาจ กกต.นายเดียวที่พบเห็น มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำแล้งรายงานให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ” อันแสดงให้เห็นว่า ห้ามเฉพาะ สว. แต่ ส.ส. ข้าราชการการเมือง นักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ช่วยผู้สมัครนายก อบจ.และผู้สมัคร สจ.ในการหาเสียงเลือกตั้งได้ ตามที่กฎหมายท้องถิ่นแก้ไขใหม่ 
    
หากพี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลปีใหม่ จะเห็นป้ายหาเสียงทั่วทุกจังหวัดเพราะจังหวัดใดที่ นายก อบจ.ชิงลาออกแล้วเลือกตั้งใหม่ แต่สมาชิก อบจ.จะต้องมีการเลือกตั้งในวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง นายก อบจ.คือ กกต.จัดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568  หลายแห่ง เป็นการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งเพราะเลือก สจ.เพียงอย่างเดียว ทำให้เสียงบประมาณซ้ำซ้อนแห่งละ 90 ล้านบาท ไม่รวมถึง การชิงลาออกก่อนไม่กี่วันก่อนหมดวาระ เป็นเพียงใช้เทคนิคทางกฎหมายในกติกาหาเสียงล่วงหน้าและรวมค่าใช้จ่าย ไม่นับ 180 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เป็นการเอาเปรียบผู้สมัครรายอื่นและป้องกันตนเอง

กกต.จัดลงคะแนนวันเสาร์ กระทบผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
    
ส่วนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568  ตรงกันวันเสาร์ โดยหลักปกติในการวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ ย้ำว่า เฉพาะวันอาทิตย์ หากกำหนดเป็นวันเสาร์ มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะชนชั้นแรงงานหรือผู้ประกอบกิจการ ส่วนใหญ่ยังประกอบกิจการในวันเสาร์อยู่ รวมถึงผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้างยังทำงานอยู่ ทำให้เดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งถิ่นที่อยู่ห่างไกลในระดับน้อยลง 

ในมิติทางด้านกฎหมาย เมื่อไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องย่อมเสียสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แม้ กกต.อ้างว่า จะเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่การจัดการเลือกตั้งในวันเสาร์ ที่แรงงานในภาคเอกชนส่วนใหญ่ ยังจะต้องทำงานส่งผลต่อการใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพราะส่วนใหญ่มีฐานะเป็นลูกจ้างและมีภูมิลำเนาห่างไกล ย่อมมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยตรง มีผลต่อถูกจำกัดสิทธิกรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
    
ผู้สมัครหน้าใหม่บารมีไม่ถึงเจาะยาก 

การแข่งขันระดับท้องถิ่น กรณีบ้านใหญ่หลายจังหวัด มีผลต่อการชนะการเลือกตั้ง เพราะบ้านใหญ่ทางการเมืองเหล่านี้ สร้างเครือข่ายในระดับท้องถิ่นมายาวนาน ทำให้ฐานเสียงแน่น ทำให้นักการเมืองหน้าใหม่หรือผู้แข่งขันรายใหม่ บารมีไม่ถึงเจาะฐานเสียงได้ยาก เพราะอำนาจทางการเมืองท้องถิ่นกับการซื้อเสียงเป็นของคู่กัน ปฏิบัติกันเป็นประจำ เป็นวัฒนธรรมทางการเมือง ที่มีรากฐานยาวนาน ที่ว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น”  

แม้พลวัตระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแพร่หลาย ประชาชนสามารถเข้าถึงนโยบายการเมืองท้องถิ่นทางโทรศัพท์มือถือก็ตาม แต่การซื้อเสียงยังเลือกเจาะเฉพาะบางแห่ง โดยใช้เกณฑ์ประชาชนในท้องถิ่นเลือกเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในจังหวัด กลุ่มบ้านใหญ่ยังคงใช้ได้ถึงในยุคปัจจุบัน ทำให้คนมีความรู้ความสามารถ ไม่สามารถเข้าถึงสู่อำนาจทางการเมืองได้ 

ระบบอุปถัมภ์ ธงนำการเมืองท้องถิ่น

ดังนั้น การเมืองระดับบ้านใหญ่ นามสกุลดัง กับการเมืองท้องถิ่นเป็นของคู่กันในสังคมไทย ย่อมไม่ผันแปรคะแนนท้องถิ่นไปให้ผู้ท้าชิงหน้าใหม่ เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนในท้องถิ่น ย่อมต้องเลือกตัวแทนที่เรียกดูแลได้ ที่เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์”ให้จับสังเกตเหลี่ยมการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเลือกเดินสายเปิดตัวเฉพาะจังหวัดที่มีแนวโน้มชนะเลือกตั้งล่าสุด เปิดตัวผู้สมัคร นายก อบจ.นครราชสีมา บ้านใหญ่“หวังศุภกิจโกศล” ในนามพรรคเพื่อไทย  

การยึดโยงการเมืองท้องถิ่นระดับ อบจ.กับการเมืองท้องถิ่นระดับ เทศบาล หรือ อบต. เป็นระนาบเดียวกัน แต่บางแห่งแม้ไม่ผูกพันกัน เพราะการบริหารท้องถิ่น ประชาชนเจ้าของอำนาจ สามารถมองเห็นผลงานได้จากนโยบายที่หาเสียงและการขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้  

จะเห็นได้จากนโยบายน้ำประปาดื่มได้ ของพรรคประชาชนในท้องถิ่นอุดรธานี ถูกนำมาเป็นจุดขาย เกิดจากการนำปัญหาในท้องถิ่นมากลั่นกรองเป็นนโยบาย แต่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับนักการเมืองท้องถิ่นด้วยกันในฐานะหัวคะแนนยังเป็นตัวแปรในการคุมเสียงคะแนนให้แก่ผู้สมัครนายก อบจ.และผู้สมัคร สจ. ไม่เสื่อมคลาย เพราะการเมืองอุปถัมภ์และนับคะแนนในหน่วย แม้รวมคะแนนระดับตำบล ย่อมตรวจสอบคะแนนได้
    
เดิมการเลือกตั้งในชนบท กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มักเป็นหัวคะแนนให้กับบ้านใหญ่ตระกูลที่มีอำนาจทางการเงิน ในจังหวัด ภายหลังปี 2537 เกิด สภาตำบล ต่อมาเป็น อบต. โดยมี อสม. และบางแห่งมี อปพร.เป็นตัวคุมเกมหัวคะแนนระดับท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายระดับบ้านใหญ่ มักใช้ระบบอุปถัมภ์ ใช้อำนาจเงินที่เหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้ตระกูลการเมือง เมื่อส่งบุคคลที่นามสกุลเดียวกับบ้านใหญ่หรือบุคคลที่บ้านใหญ่สนับสนุน ส่วนใหญ่จะชนะเลือกตั้ง
 

เว้นแต่นักการเมืองรายนั้น อยู่ในตำแหน่งนาน งานไม่ทำ แต่งตัวเท่ห์ไปงานชาวบ้าน ผลงานไม่ปรากฏ อาจเกิดกรณีล้มช้างบ้านใหญ่ เพราะเวลาเปลี่ยน บริบทการเมืองเปลี่ยน ระบบออนไลน์โซเชี่ยลร้อนแรง การเมืองระบบอุปถัมป์ย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา