ทางเลือก...ลดความสูญเสียจาก“แผ่นดินไหว สึนามิ”
โดย.......วารุณี อินวันนา
โดย.......วารุณี อินวันนา
หนึ่งในทางเลือกการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติ หรือ การทำให้เงินในกระเป๋าไม่สูญหายไปพร้อมกับ แผ่นดินไหว สึนามิ และ น้ำท่วม คือ การผ่องถ่ายความเสี่ยงไปให้กับคนอื่น
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า โครงการประกันภัยอันแรกเท่าที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ปรากฎในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลเกี่ยวกับโจเซฟ และความอดยากในประเทศอียิปต์
เล่ากันว่า คืนวันหนึ่ง ฟาโรห์ทรงพระสุบินว่า มีวัวอ้วนเจ็ดตัวกำลังถูกวัวผอมเจ็ดตัวกัดกิน โจเซฟทำนายฝันว่าประเทศอียิปต์จะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เป็นเวลาเจ็ดปี และต่อจากนั้นจะเกิดความแห้งแล้ง ประชาชนจะอดอยากปากแห้งเป็นเวลาเจ็ดปี ดังนั้น จึงทูลเสนอต่อกษัตริย์ฟาโรห์ให้สะสมธัญญาหารในปีที่สมบูรณ์ไว้สำหรับเลี้ยงประชาชนในปีที่ข้าวยากหมากแพง
วิธีนี้ เรียกได้ว่าเป็นหลักประกันภัยพื้นฐาน กล่าวคือ เก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อไว้ใช้ในอนาคตซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้
จากนั้น ในหลายๆ ประเทศ ก็มีการพัฒนาการกระจายความเสี่ยง เพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ รักษาความมั่งคั่งของธุรกิจ ของครอบครัวไว้มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อจะได้มีทุนรอนในการเริ่มต้นชีวิตใหม่กับครอบครัว หากเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ที่เกิดแผ่นดินไหว ที่ประเทศญี่ปุ่น และจะทำให้เกิดสึนามิตามมา
สำหรับ ประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญออกบทวิจัยเตือนเรื่องการเกิดแผ่นดินไหว มาอย่างต่อเนื่อง เพราะพบรอยเลื่อนตามแนวตะวันตกของประเทศ และโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมมีสูงทั้งในกรุงเทพมีสูงจากการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงน้ำท่วมทั่วประเทศ จากสภาวะอากาศเปลี่ยน
แบบประกันภัย ที่จะให้ความคุ้มครองแผ่นดินไหว สึนามิ และ น้ำท่วม คือ ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า IAR โดยจะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจาก1.ไฟไหม้ 2.ฟ้าผ่า 3.การระเบิด 4.ยานพาหนะ 5.ภัยอากาศยาน หรือ วัตถุที่ตกจากยาน 6.ภัยเนื่องจากน้ำ 7.ภัยน้ำท่วม 8.ภัยจากควัน 9.ภัยแผ่นดินไหว 10.การลักทรัพย์ที่มีร่องรอยการงัดแงะ 11.เจตนาร้ายกลั่นแกล้ง 12.อุบัติเหตุตกแตก 13.ภัยจลาจล 14.การนัดหยุดงาน 15.ภัยจากการก่อการร้าย และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อ
ยกเว้น การก่อการร้าย และ การจลาจล ที่เกิดจากการที่ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาล สงครามทุกประเภท
ด้านอัตราเบี้ยประกัน IAR ในตลาดปัจจุบัน นายสุรชัย ศิริวัลลภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่าง 0.1-0.2% ของวงเงินความคุ้มครอง
ผู้ที่ซื้อประกัน IAR ในปัจจุบัน เป็นบริษัท ห้างร้าน โรงแรม โรงงาน ขนาดใหญ่ โดยปี 2553 ที่ผ่านมา มีผู้ซื้อความคุ้มครองแบบ IAR สูงถึง 1.03 หมื่นล้านบาท ซึ่งปี 2554 ทางสมาคมประกันวินาศภัย คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น 30% เพราะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2553 ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าของกิจการหันมาซื้อประกันภัยประเภทนี้มากขึ้น เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาความขัดแย้งเช่นปีที่ผ่านมา เพราะไม่ได้ซื้อความคุ้มครองจากการจลาจล และการก่อการร้ายไว้
สำหรับ ประชาชนทั่วไป ในปัจจุบันยังไม่มีบริษัทประกันวินาศภัยใดออกแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองภัย แผ่นดินไหว สึนามิ ออกมาเป็นการเฉพาะ หากจะซื้อจะต้องใช้อัตราเบี้ยประกันภัยเดียวกับเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่
ขณะที่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยพื้นฐาน ที่ขายในปัจจุบัน จะคุ้มครองเฉพาะความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจาก 1.ไฟไหม้ 2.ฟ้าผ่า 3.การระเบิด 4.ยานพาหนะ 5.ภัยอากาศยาน หรือวัตถุที่ตกจากยาน และ 6.ภัยเนื่องจากน้ำ ซึ่งคำว่าภัยจากน้ำ จะไม่รวมความเสียหายจากน้ำท่วม แต่เป็นภัยจากน้ำรั่ว น้ำซึม ไม่คุ้มครองภัยธรรมชาติ
มีทั้งแบบราคาถูก ราคา 600 บาท คุ้มครอง 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับวัสดุในการก่อสร้างบ้าน โดยบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นตึก จะคุ้มครอง 6 แสนบาท บ้านครึ่งตึก ครึ่งไม้ จะคุ้มครอง 2.5 แสนบาท และ บ้านไม้คุ้มครอง 1.5 แสนบาททุกพื้นที่ทั่วประเทศ คุ้มครอง 1.ไฟไหม้ 2.ฟ้าผ่า 3.การระเบิดของแก๊สที่ใช้ในครัวเรือน 4.ภัยเปียกน้ำ 5.อากาศยานหล่นทับ และ 6.ยวดยานพาหนะ และ กรมธรรม์อัคคีภัยทั่วไป ที่ให้ผู้ซื้อสามารถเลือกความคุ้มครองได้เอง
หากต้องการ ซื้อความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วม จะต้องซื้อกรมธรรม์น้ำท่วมเป็นการเฉพาะ โดยอัตราเบี้ยประกันภัยน้ำท่วม นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอกซ่าประกันภัย เปิดเผยว่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.1% ของวงเงินความคุ้มครอง
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ ไม่เกินกลางปี 2554 หากเป็นไปตามแผน จะมีกรมธรรม์คุ้มครองภัยพิเศษ 5 ภัย ประกอบด้วย คือ 1.ภัยน้ำท่วม 2.ภัยแผ่นดินไหว 3.ภัยพายุ 4.ภัยลูกเห็บ และ 5.ภัยก่อการร้าย โดยให้ความคุ้มครองรวมปีละ 5 หมื่นบาท ด้วยเบี้ยประกันภัยปีละ 200 บาท ออกมาขาย
หากได้รับความเสียหายจากภัยใด ภัยหนึ่ง จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 5 หมื่นบาท ถ้าได้รับความเสียหายทั้ง 5 ภัยพร้อมกัน ก็จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 5 หมื่นบาท
ขณะนี้ ทางสมาคมประกันวินาศภัย อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในการกำหนดรายละเอียดของกรมธรรม์ เงื่อนไขความคุ้มครอง ลักษณะความเสียหาย การรับความเสี่ยง
กรมธรรม์นี้ จะเป็นความคุ้มครองเพิ่มเติมจากกรมธรรม์อัคคีภัยพื้นฐานที่ขายอยู่ในปัจจุบัน หรือ จะซื้อเฉพาะความคุ้มครอง 5 ภัยพิเศษนี้ก็ได้
เหตุผล ที่ทางสมาคมประกันวินาศภัย จะทำการออกกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครอง 5 ภัย ออกมา เพราะแนวโน้มการเกิดภัยธรรมชาติมีมากขึ้นทุกปี นอกเหนือจากภัยน้ำท่วมแล้ว ภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น ภัยแผ่นดินไหว ภัยลมพายุ และภัยจากลูกเห็บ ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น ในปี 2553 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ประชาชนหลายแสนรายได้รับความเสียหายจากอาคารบ้านเรือนถูกน้ำท่วม
“คณะกรรมการจึงคิดปรับปรุงกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยให้คุ้มครองถึง 5 ภัย เพื่อประชาชนทั่วไป หรือ ลูกค้ารายย่อย ส่วนลูกค้ารายใหญ่ มีความคุ้มครองทั้ง 5 ภัยอยู่แล้ว เพราะเขาจะซื้อกรมธรรม์คุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด หรือ IAR”นายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม ประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัย กล่าว
รูปแบบของการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทางสมาคมประกันวินาศภัย จะมีการร่วมกันบริหารความเสี่ยง หรือ พูล และหาบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศเข้ามารับประกันด้วย ซึ่งเบื้องต้นทางต่างประเทศแสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมรับความเสี่ยง แต่ยังไม่สรุปว่าจะรับทั้ง 100% หรือ รับบางส่วน
หากบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศไม่ยอมรับความเสี่ยงไว้หมด ก็อาจเสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยรับผิดชอบส่วนเกิน เหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่บริษัทประกันภัยจะรับความเสี่ยงกรณีแผ่นดินไหวบางส่วน และ ส่วนเกินรัฐบาลจะรับผิดชอบ
ทั้งนี้ หวังว่า ธุรกิจประกันภัย รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมมือกันในการหาแนวทางลดความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนทั่วไป ที่มีกำลังทรัพย์น้อยในการเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในทรัพย์สินและชีวิต ให้ได้มีทุนรอนในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังถูกภัยธรรมชาติทำลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้