posttoday

TEPCO ในมือรัฐบาล อุตฯนิวเคลียร์เริ่มจนมุม?

04 เมษายน 2554

บัดนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ชะตากรรมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ หรือโรงงานหมายเลข 1 ได้สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว

บัดนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ชะตากรรมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ หรือโรงงานหมายเลข 1 ได้สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

บัดนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ชะตากรรมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ หรือโรงงานหมายเลข 1 ได้สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว และรอวันที่จะถูกกลบฝังอย่างถาวรโดยเร็วที่สุด โดยที่ภารกิจในขณะนี้คือการยุติการรั่วไหลของกัมมันตรังสีให้ได้ ซึ่งล่าสุดความพยายามนี้ยังไม่ประสบผล แต่ชาวโลกต่างร่วมลุ้นระทึกว่าความพยายามนี้จะไม่ล้มเหลวในท้ายที่สุด

เพราะโรงงานหมายเลข 1 มีสภาพไม่ต่างอะไรกับ “ขยะนิวเคลียร์” ก้อนใหญ่ ที่เป็นอันตรายเป็นรองแค่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

ขณะที่ปฏิบัติการสยบกัมมันตรังสีรั่วไหลยังคงดำเนินต่อไป (และคาดว่าอาจต้องยืดเยื้อไปอีกนานนับเดือน) ยังมีอีกความพยายามหนึ่งเพื่อสยบความหวาดกลัวของสาธารณชนต่อพลังงานนิวเคลียร์

นั่นคือการโอนกิจการบริษัท TEPCO เป็นของรัฐ (Nationalization)

ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า TEPCO หรือ Tokyo Electric Power Co. เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าหมายเลข 1 และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีก 2 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 15 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 160 แห่ง มูลค่าหุ้นถึง 6.76 แสนล้านเยน จนนับเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

TEPCO ในมือรัฐบาล อุตฯนิวเคลียร์เริ่มจนมุม?

แต่วิกฤตที่โรงไฟฟ้าแห่งที่ 1 รุนแรงและผลาญงบประมาณมหาศาล จนเกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับแนวโน้มที่ TEPCO จะล้มละลาย หรืออาจถูกโอนกิจการเข้าเป็นของรัฐ ซึ่งปรากฏว่า ข่าวหลังเป็นความจริงในที่สุด

ในระยะแรก TEPCO จะได้รับความช่วยเหลือเป็นเงิน 7.5 ล้านล้านเยน เพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับผู้ถือพันธบัตรของบริษัท หลังจากที่ TEPCO ประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เนื่องจากต้องนำงบประมาณมาแก้ไขวิกฤตที่โรงงานหมายเลข 1 อีกทั้งยังขาดรายได้จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง

เงินดังกล่าวมิใช่เงินให้เปล่า แต่มาจากการซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ TEPCO ส่วนการชำระคืนเพื่อนำหุ้นส่วนใหญ่กลับมาบริหารอีกครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของ TEPCO มีความพร้อมเมื่อใด

การโอนกิจการในลักษณะนี้เป็นเพียงการควบคุมในระยะสั้นๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับที่รัฐบาลสหรัฐเคยทำกับสถาบันการเงินต่างๆ ในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ทั้งนี้เพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง และยกระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน เหตุผลที่รัฐบาลสหรัฐต้องเข้าโอบอุ้มสถาบันการเงินในครั้งนั้นก็เพราะอ้างว่าบริษัทเหล่านั้นมีขนาดใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้มละลาย หรือ Too big to fail

TEPCO มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มละลายเช่นกัน เพราะหากสถาบันการเงินมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ในฐานะที่เป็นเสมือนเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงกระแสทุนในระบบเศรษฐกิจที่อิงกับสินเชื่อ บริษัทพลังงานก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นเสมือนหัวใจที่คอยปั๊มพลังชีวิตให้กับระบบ

ยิ่งญี่ปุ่นไม่มีทรัพยากรพลังงานเป็นของตนเอง พลังงานนิวเคลียร์ยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จะปล่อยให้ล้มเหลวไม่ได้ ทั้งล้มเหลวในด้านศรัทธาต่อประชาชน และล้มเหลวในทางเทคนิค

แต่การโอนกิจการเป็นของรัฐอาจจะช่วยต่ออายุบริษัทนั้นๆ ได้จริง แต่จะบั่นทอนศักยภาพของธุรกิจประเภทนั้น รวมถึงทำลายกลไกการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งจะช่วยพัฒนาธุรกิจนั้นผ่านการแข่งขัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรณีที่สหรัฐกระโดดเข้าอุ้มสถาบันการเงินน้ำเน่า จนเกิดข้อครหาว่าไม่ยอมปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด และบั่นทอนสถาบันการเงินน้ำดีที่เหลืออยู่

ข้อดีของการโอนกิจการ TEPCO คือ การโอนกิจการเป็นของรัฐครั้งนี้มิใช่กระบวนการตามปกติ แต่ถือเป็นการจัดระเบียบอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ครั้งสำคัญ เพราะเหตุการณ์ที่โรงงานหมายเลข 1 และความบกพร่องของ TEPCO จะกลายเป็นมาตรฐานให้นานาประเทศได้ปรับใช้ หรือป้องกันล่วงหน้าต่อไป

ปัญหาก็คือ การโอนกิจการจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพลังงานนิวเคลียร์เกิดความระส่ำระสาย เพราะการโอนกิจการให้รัฐดูแล แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าเอกชนยังมีศักยภาพไม่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจด้านนี้

TEPCO ซึ่งนับเป็นเบอร์ 1 ของเอเชียยังล้มลุกคุกคลานถึงขนาดนี้ แล้วบริษัทขนาดย่อมๆ ลงไปจะไม่สร้างปัญหาที่สาหัสกว่านี้หรือ?

ด้วยความกังวลทำนองนี้ จะมีผลที่ติดตามมาคือ ธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์จะยิ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตศรัทธาอย่างใหญ่หลวง

ในชั้นต้น ฐานะที่สั่นคลอนของ TEPCO ทำให้นานาประเทศเริ่มพิจารณาทบทวน หรือถอนตัวจากพลังงานนิวเคลียร์กันเป็นทิวแถว ตั้งแต่เอเชียไปจนถึงยุโรป

ในชั้นต่อมา ยังผลให้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบด้านยอดขายและรายได้ เช่น Toshiba และ Hitachi ผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์ชั้นนำของโลก ที่มีแนวโน้มสูงที่จะขายสินค้าไม่ออก โดยเฉพาะ Toshiba ที่มีส่วนช่วยสร้างเตาปฏิกรณ์ 4 ใน 6 เตาของโรงงานหมายเลข 1

และในระดับต่อมา ยังส่งผลกระทบต่อความพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ดังที่กำลังเกิดขึ้นกับ Urenco ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในอังกฤษ ซึ่งต้องพับแผนขายหุ้นเพื่อระดมทุนให้ได้ 1,000 ล้านปอนด์ เพื่อจัดตั้งธนาคารในเครือเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

การโอนกิจการเป็นของรัฐแม้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องขาดสภาพคล่องและจัดระเบียบการบริหารจัดการได้ แต่มีผลกระทบด้านจิตวิทยาอย่างรุนแรง

ในด้านการลงทุน ข่าวการทำ Nationali zation มักทำให้นักลงทุนผู้ถือหุ้นบริษัทที่เป็นเป้าหมายต้องขวัญผวา เพราะเกรงว่าหุ้นที่ตนถืออยู่จะกลายเป็นอากาศธาตุไป สถานการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่รัฐบาลสหรัฐโอนกิจการของสถาบันการเงินมาดูแล สื่อยังประโคมข่าวนี้จนเกิดกระแสตื่นตูมขนาดย่อมๆ

กรณีของ TEPCO อาจไม่รุนแรงเท่า เพราะมิได้เกี่ยวข้องกับตลาดทุนโดยตรง แต่อาจทำให้มูลค่าหุ้นยิ่งดิ่งลง จนในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นยิ่งต้องแบกรับต้นทุนในการดูแลบริษัทที่สูงขึ้น ทำให้การดูแลในระยะสั้นกลายเป็นสถานการณ์ยืดเยื้อ

ที่สำคัญก็คือ ฐานะทางการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นย่ำแย่ขนาดหนัก ด้วยหนี้สาธารณะที่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้มิได้อยู่ที่การโอนกิจการโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาอยู่ในการดูแลของรัฐ แต่อยู่ที่แนวทางในการเก็บกวาด “ขยะนิวเคลียร์” ก้อนใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกให้เรียบร้อย

แต่ปัญหาระยะยาว คือ การสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนทั่วโลกได้อุ่นใจว่า อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์จะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับวิกฤตการณ์ได้ด้วยตนเอง มิใช่ต้องคอยรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ดังที่ญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่

เพราะบางรัฐบาลอาจไม่เข้มแข็งเหมือนญี่ปุ่น