posttoday

5พรรคฝันใหญ่กระจายอำนาจ

21 มิถุนายน 2554

สถาบันพระปกเกล้าเชิญ 5 พรรคการเมืองประชันนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น นักวิชาการชี้ยังเน้นประชานิยม

สถาบันพระปกเกล้าเชิญ 5 พรรคการเมืองประชันนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น นักวิชาการชี้ยังเน้นประชานิยม

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดงาน “การเลือกตั้ง 54 : นโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และพรรคมาตุภูมิเข้าร่วม

ปชป.ประกาศแก้ระบบภาษีเพิ่มรายได้ท้องถิ่น

นายถวิล ไพรสณฑ์ ผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้มีกฎหมายที่อยู่ในวาระการประชุมสส.หลายฉบับ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ล้วนเป็นรูปธรรมมาก ทั้งกม.ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำหรับข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐบาลริเริ่มลงทุนในระยะแรก และให้ข้าราชการตั้งแต่ระดับปลัดลงไปสามารถเบิกเเงินได้

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เตรียมแก้ไขระเบียบภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ รวมเป็นพรบ.ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นเครื่องประกันให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น ให้กาษีเป็นตัวหลักของรด.ท้องถิ่น ไม่ใช่อุดหนุน ตามแบบของท้องถิ่นทั่วโลก รายได้หลักภาษีที่ดินนั้นท้องถิ่นเก็บเอง เป็นของท้องถิ่น 100% ใครมีที่ดินหมื่นไร่แสนไร่ก็ต้องเสียภาษี ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ปธ.สภา ได้บรรจุวาระการประชุมแล้ว ถ้าปชป.เป็นรบ.ใน60วัน สามารถประกาศเป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีได้เลย

เพื่อไทยชูเพิ่มรายได้อปท.เท่ากันทั่วประเทศ

ขณะที่นายวิทยา บูรณศิริ ผู้สมัครสส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ตัวภารกิจที่จะต้องกระจายอำนาจ ตามพรบ.ขั้นตอนการกระจายอำนาจต้องครบ เม็ดเงินก็ต้องได้ ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่มีรายได้ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ก็จะเพิ่มให้เป็น 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็จะกระจายภารกิจของกระทรวง ทบวง กรม ออกไป จากเดิมที่เรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ เรื่องนมโรงเรียน หรือเงินรายได้ของอาสาสมัครสาธารณสุขผูก อยู่กับงบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะต้องแยกออกจากงบของอปท.ชัดเจน

5พรรคฝันใหญ่กระจายอำนาจ

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ 13 ฉบับ ต้องเสร็จใน 1 ปี ส่วนข้อเรียกร้องที่ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องการเพิ่มเติมนั้น สามารถนำหนังสือถึงพรรค และพร้อมร่างเป็นนโยบายให้ทันที

ภท.หนุนแจกงบสนับสนุนท่องเที่ยว

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้สมัครสส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.)กล่าวว่า จากการที่พรรคได้รับหน้าที่ควบคุมกระทรวงมหาดไทย มีปีญหาที่สะท้อนออกมาชัดว่ารัฐไม่ควรควบคุมอำนาจส่วนกลางไว้นาน ซึ่งหากพรรคได้เป็นรัฐบาล จะสนับสนุนให้แก้กฎหมายการบริหารราชการแผ่นดินเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จใน 5 ปี เพราะทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะดำเนินนโยบายอะไรในพื้นที่ก็ติดขัดเรื่องระเบียบบริหารราชการ

นอกจากนี้จะผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้งบประมาณในการดูแลการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวปีละ 100 ล้านบาท เพราะปีที่ผ่านมา งบส่วนเหล่านี้มักจัดโดยกระทรวงท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงพอ และทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบปัญหาในการดูแลสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนเอง

ชทพ.ดันท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยตัวเอง

ขณะที่ สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ผู้สมัครสส.ระบบบัญชีรายชื่อ  พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่าหากอ่านกฎหมายให้ละเอียด เราเขียนค่อนข้างชัดเจนว่า ความเข้มแข็งของท่านขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการซึ่งดูแลเรื่องกระจายอำนาจที่มีอยู่ไม่กี่คน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างส่วนงานระดับภูมิภาค และส่วนงานในท้องถิ่นก็ไม่ชัดเจน ที่ผ่านมา ที่ว่าการอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดขอเงินสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ฉะนั้นท้องถิ่นต้องเข้มแข็งด้วยตัวเองด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ส่วนภูมิภาคเข้ามาครอบคลุม หรือครอบงำเพียงอย่างเดียวเหมือนที่เป็นมา เพราะกฎหมายให้อำนาจในฐานะนิติบุคคลอยู่แล้ว

มาตุภูมิเน้นพัฒนาการศึกษา

ส่วนนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ผู้สมัครสส.ระบบเขต พรรคมาตุภูมิ กล่าวว่า ท้องถิ่นเป็นหัวใจการพัฒนาทุก ๆ อย่าง คนหัวดีจบกการศึกษามากมาย ต้องดูว่าท้องถิ่นช่วยเหลือเขาได้แค่ไหน พรรคมีเจตนาแน่วแน่ที่จะกระจายอำนาจท้องถื่น ลดอำนาจ ลดส่วนกลางลง โดยเฉพาะอำนาจในการจัดการศึกษา และทำให้คนท้องถิ่นมีการศึกษามาก ๆ ทัดเทียมกับคนในกรุงเทพฯ หรือส่วนกลาง เพื่อให้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของพรรคในการดำเนินงานการเมือง

นักวิชาการชี้หลายพรรคยังพูดกระจายอำนาจไม่ชัด

ขณะที่นายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า หลายพรรค แทบจะทุกพรรคพูดว่าจะส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่จากการที่ได้ตามนโยบายทุกพรรค ไม่ได้พูดถึงการกระจายอำนาจชัดเจน

“เรื่องนโยบายกระจายอำนาจนี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง หลังจากกระแสสังคมถามถึงเท่านั้น พรรคจะปรับตัวตามข้อเรียกร้องของสังคม ประเด็นที่น่าจะเป็นที่สงสัยในหลายเรื่อง นั้นเราเห็นที่ผ่านมา 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เกิดค.ขัดแย้ง ทุกเรื่องวิ่งเข้ามาที่ส่วนกลาง ทั้งเรื่องการเมือง การะกระจายอำนาจ ทรัพยากรต่าง ๆ ยิ่งกระจายอำนาจ กทม.ยิ่งเข้มแข็งขึ้น”

ขณะที่นายทนงศักดิ์ ทวีทอง  กล่าวว่าจากที่ฟังในวันนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าแต่ละพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากเพียงใด แต่ทางสันนิบาตเอง ก็จะรวมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายในการเรียกร้องสัดส่วนงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา งบประมาณที่ควรจะลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายอย่าง ถูกหน่วยงานภูมิภาคนำไปใช้เอง เช่น  เอาไปทำถนนไร้ฝุ่น นำไปทำลานกีฬา หรือนำไปรวมกับงบประมาณ “ไทยเข้มแข็ง”  ทำให้งบที่ควรจะนำไปบำรุงท้องที่ หรือนำไปทำโครงการที่ประชาชนอยากได้นั้นถูกปรับลดไปทันที ซึ่งเราไม่ได้เรียกร้องให้รัฐเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น ขอเพียงว่า อย่ามายุ่งกับงบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะได้ก็พอควรจะได้

เชื่อนโยบายเน้น"แจก"ใช้ร่วมกับกระจายอำนาจไม่ได้

ด้าน นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แสดงความคิดเห็นถึงนโยบายการกระจายอำนาจของแต่ละพรรคการเมืองว่า ในวันนี้ยังออกมาในลักษณะกลาง ๆ อยู่ เพราะเข้าใจว่าในพรรคการเมืองเองก็มีความคิดที่หลากหลาย และกฎหมายแต่ละอย่างก็มีกำหนดไว้ชัดแล้วว่าจะมีแนวทางการพัฒนาอย่างไร ซึ่งหลังเลือกตั้งก็คงจะต้องจับตาดูว่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องการกระจายอำนาจเพิ่มหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ประชาชนเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจ และเรียกร้องให้มีปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น

“ทุกวันนี้นโยบายหลักของแต่ละพรรคส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องประชานิยม หรือการแจกให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งไปกันได้ยากกับการกระจายอำนาจ เพราะประชานิยมหมายถึงประชาชนต้องพึ่งพารัฐมากขึ้น และพึ่งตัวเองน้อยลง ซึ่งหลังการเลือกตั้งนั้น คงจะต้องพูดถึงกันให้มากขึ้นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดูเรื่องอะไร และจะสนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างไร” นายวุฒิสารกล่าว

ส่วนเรื่องที่ถูกมองว่าการกระจายอำนาจ จะทำให้รัฐส่วนกลางควบคุมอำนาจของประชาชนภายในท้องถิ่นยากขึ้นนั้น นายวุฒิสารกล่าวว่า ความจริงแล้วหากส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น แบ่งบทบาทภาระหน้าที่กันชัดเจน และอำนาจในการตัดสินใจให้ชัด ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทุกวันนี้ทั้งสองอำนาจทำงานทับซ้อนกัน และหลายครั้งก็ทำแข่งกัน ทำให้ โดยอาจกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่าโครงการไหนรัฐส่วนกลางจะเป็นคนทำ และโครงการใดจะให้ท้องถิ่นทำ ซึ่งจะทำให้อำนาจไม่ทับซ้อน และประชาชนเข้าใจมากขึ้น

“ความพร้อมของท้องถิ่นนั้นขึ้นกับพัฒนาการ ในช่วง 13 ปีของการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เห็นได้ชัดว่าเริ่มมีการปรับตัวกันมากขึ้นของแต่ละองค์การบริหารส่วนตำบล และการผูกขาดทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่นก็น้อยลง สังเกตจากการเลือกตั้งนายกอบต.ล่าสุดนั้น ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเลือกก็เป็นคนหน้าใหม่ เพราะฉะนั้นก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญว่า นายกอบต.ของเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ หากได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางให้มีอำนาจเพิ่มขึ้น” รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ากล่าว