บอสใหม่ IMF หนักอึ้ง ชะตายุโรปในมือคนยุโรป
ครั้งหนึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยมีอำนาจล้นฟ้า
ครั้งหนึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยมีอำนาจล้นฟ้า
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
ครั้งหนึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยมีอำนาจล้นฟ้า ถึงขนาดชี้นิ้วสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศด้อยพัฒนาที่กำลังกระเสือกกระสนในวิกฤตการเงินได้อย่างตามใจชอบ การวางอำนาจบาตรใหญ่ของ IMF ถูกมองว่าเป็นการกระทำในฐานะนอมินีของมหาอำนาจ จนเป็นที่ชิงชังของประเทศที่บัดนี้เรียกตัวเองว่า “ตลาดเกิดใหม่” ซึ่งส่วนใหญ่เคยผ่านวิกฤตการเงินในชาวงปลายทศวรรษที่ 90 ตั้งแต่รัฐบาลในบางกอกจนถึงรัฐในกรุงบังบัวโนสไอเรส
วันนี้ตลาดเกิดใหม่ผงาดขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจและการเงินโลก ขณะที่มหาอำนาจตะวันตกตั้งแต่วอชิงตันจนถึงเอเธนส์ กลับตกต่ำอย่างเหลือเชื่อ IMF ที่เคยชี้นิ้วสั่งจนเคยตัว ต้องนอบน้อมกับประเทศที่ตนเคยกดดันอย่างไม่ไว้หน้า เพราะในวันนี้ประเทศลูกหนี้เมื่อปี 2540 ได้กลายเป็นผู้อัดฉีดเงินเข้าสู่กองทุนหลักรายใหม่
ไม่แต่เท่านั้น ยังถึงขั้นที่ IMF ตกอยู่ในภาวะคลอนแคลนอย่างหนัก ที่ต้องคอยประคับประคองยุโรปที่กำลังจ่อมจ่มกับวิกฤตหนี้สาธารณะ ต้องขอรับความช่วยเหลือครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่ IMF กลับแสดงท่าที 2 มาตรฐานอย่างน่าตำหนิ หากเทียบกับพฤติกรรมที่เคยทำกับตลาดเกิดใหม่ เพราะไม่เพียงช่วยเหลือยุโรปด้วยเงื่อนไขที่แสนจะโหรงเหรงแล้ว ยังไม่บีบบังคับอย่างไร้มารยาทเหมือนที่เอเชียและละตินอเมริกาในปี 2540 เคยประสบ
ยุโรปกำลังสั่นคลอนอย่างหนักฉันใด IMF ก็กำลังตกที่นั่งลำบากเดียวกันก็ฉันนั้น เพราะความเกี่ยวเนื่องกันตามธรรมเนียม (ล้าหลัง) ที่กำหนดไว้ว่า กรรมการบริหารของ IMF สมควรเป็นผู้แทนมาจากยุโรปเท่านั้น เหมือนกับที่สหรัฐผูกขาดตำแหน่งประธานธนาคารโลก
การแต่งตั้งกรรมการบริหาร IMF คนใหม่เสร็จสิ้นลงในช่วงเวลาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปเริ่มระบาดจากกรีซไปสู่สเปนและอิตาลีอย่างชัดเจนแล้ว เป็นภาระหนักที่ คริสตินลาการ์ด หัวเรือใหญ่คนใหม่จะต้องแบกรับอย่างไม่มีอิดออด เพราะการล่มสลายทางการเงินของยุโรป ย่อมสงผลกระทบต่อระบบการเงินโลกทั้งระบบ รวมถึงเอเชียบางประเทศที่บัดนี้กลายเป็นเจ้าหนี้ที่ช่วยต่อชีวิตยุโรปอย่างทุลักทุเล
เมื่อไล่เรียงปัญหาเฉพาะหน้าที่ ลาการ์ดจะต้องลงมือสะสางโดยด่วน จะพบว่าพันธะที่ต้องแบกรับนั้น หนักหนาสาหัสยิ่งกว่า โดมินิก สเตราส์คาห์น กรรมการบริหารคนที่แล้วเคยประสบมา เพราะอย่างน้อยในช่วงเวลาที่สเตราส์คาห์นต้องพัวพันกับคดีล่วงละเมิดทางเพศ วิกฤตต่างๆ ยังไม่ออกแสดงวี่แววยืดเยื้อถึงเพียงนี้
ปัญหาแรก คือ การจัดแจงรายงานสภาพความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจแพร่กระจายโลก หรือรายงาน Spillover Reports ซึ่งชาวโลกตั้งตารอมานาน เพราะจะเป็นการประเมินผลประทบจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ว่ามีความเสี่ยงต่อทั่วโลกในระดับใด โดยเฉพาะปัญหาในยุโรปที่ลาการ์ดมีส่วนเกี่ยวพันโดยตรง ชาวโลกจึงคาดหวังรายงานฉบับนี้จะมีความตรงไปตรงมา ไม่มีหมกเม็ด และเชื่อถือได้ เพื่อร่วมกันหาหนทางป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเมื่อปี 2551-2552
ปัญหาต่อมา เกี่ยวข้องกับช่องโหว่ในระบบการเงินโลก หลังจากเกิดวิกฤตการเงินปี 2552 หลายฝ่ายเปรยถึงจุดอ่อนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นระดับหนี้สาธารณะที่สูงนับร้อยเท่าของ GDP ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จนถึงการขยายตัวอย่างไร้สมดุลของระบบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน
ปัญหาที่สาม คือ เสียงเรียกร้องจากตลาดเกิดใหม่ ให้เพิ่มสิทธิและเสียงเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว เสียงเรียกร้องทำนองนี้จะยิ่งดังก้องและมีน้ำหนักมากขึ้น ในยุคที่ตลาดเกิดใหม่มีอำนาจทางการเงินสูงและถือไพ่เหนือกว่า ดังจะเห็นได้ว่า จีนพยายามเข้ามาช่วยเหลือยุโรปทั้งทางตรงและทางอ้อม การช่วยเหลือทำนองนี้ ย่อมไม่ใช่การทำเพื่อแสดงน้ำใจ แต่เป็นการคาดหวังผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งจากยุโรปและจาก IMF อันเป็นองค์กรที่ชาวยุโรปผูกขาดอำนาจการบริหาร
ปัญหาสุดท้าย และเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด คือ วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ
หลังจากเผชิญกับวิกฤตศรัทธาครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเผชิญกับตลาดเกิดใหม่ว่าด้วยการเพิ่มสิทธิเพิ่มเสียงให้ประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศพัฒนาแล้ว จนถึงกรณีอื้อฉาวทางเพศของกรรมการบริหารคนก่อน IMF มีโอกาสเดียวที่พอจะกู้หน้าของตัวเองได้ มิใช่การเปิดโอกาสให้สตรีคนแรกเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุด แต่อยู่ที่การกำราบวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซให้ราบคาบโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นทางออกของวิกฤตศรัทธาที่เห็นชัดที่สุด แต่จะเห็นได้ว่า ปัญหาของยุโรปมีความเกี่ยวพันไม่มากก็น้อยกับปัญหาข้างต้นทั้งสองปัญหา แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในระดับกว้าง ความซับซ้อนของปัญหาทำให้การแก้ไขไม่อาจง่ายเหมือนการยกนิ้วขึ้นแล้วชี้ทางออกให้เห็น ยังไม่นับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า แผนให้ความช่วยเหลือกรีซออกแบบมาอย่างลวกๆ ทำให้กรีซไม่ปฏิบัติตามวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด และทำให้ต้องร้องขอเงินช่วยเหลือครั้งแล้วครั้งเล่า
ความเหลวไหลของกรีซช่างผิดกันอย่างลิบลับกับตลาดเกิดใหม่ที่เคยต้องนอบน้อมรอให้ IMF ชี้นิ้วสั่งจนตัวสั่นงันงก ปฏิบัติตามเงื่อนไขความช่วยเหลือทางการเงินอย่างไม่มีปากไม่มีเสียง ถึงขั้นยอมแปรรูปและขายทรัพย์สินของรัฐอย่างขนานใหญ่ โดยที่ยุโรปยังไม่ต้องลงทุนถึงขนาดนั้น ซ้ำยังอิดออดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สุด
สองมาตรฐานของ IMF และความซับซ้อนของวิกฤตในยุโรป เป็นโจทย์ที่ลาการ์ดไม่อาจแก้ไขในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังรับตำแหน่ง ตรงกันข้าม ลาร์การ์ดเองสมควรที่จะปลีกตัวเองให้ห่างจากยุโรปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดระดับความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างกองทุนกับภูมิภาคนั้น
การแก้ปัญหายุโรปที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริหาร IMF คนใหม่ คือ การวางตัวเป็นกลางให้มากที่สุด และไม่ต้องเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม หากประเทศหนึ่งๆ สมควรเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ก็ควรยื่นคำขาดในทันที มิใช่เห็นแก่ที่เป็นพวกในภูมิภาคเดียวกัน เพราะการเล่นพรรคเล่นพวกในนามของ IMF ย่อมหมายถึงหายนะที่อาจลามไปทั่วโลก ดังที่ IMF เตรียมที่จะระบุในรายงาน Spillover Reports ที่จะเปิดเผยอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค.นี้
สาเหตุที่ทำให้ IMF ไม่อาจสะสางวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซได้ เพราะตระเตรียมแผนการอย่างไร้ประสิทธิภาพ หามองย้อนกลับไปจะพบว่า IMF ใช้เวลาหารือกับสหภาพยุโรป (EU) เพื่ออัดฉีดทุนหนุนกรีซในเวลาที่สั้นอย่างเหลือเชื่อ ผิดกับการอนุมัติเงินช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลานานเสียจนกระทั่งทุกอย่างสายเกินการณ์
ความที่ยุโรปมีคนยุโรปคุม IMF อันเป็นเสมือนนายทุนเงินกู้ในระบบ การใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาจึงสุรุ่ยสุร่ายไม่แพ้การจับจ่ายจนกลายเป็นปัญหา สุดท้ายไม่เพียงแก้ไขไม่ได้ กลับยิ่งทำให้เรื่องเลวร้ายลง
การที่ลาการ์ดได้รับตำแหน่งกรรมการบริหาร IMF ก็นับเป็นเรื่องชวนให้ครหาอยู่แล้ว ทั้งในฐานะที่เจ้าตัวเป็นชาวฝรั่งเศสเหมือนสเตราส์คาห์น อีกทั้งยังตกเป้นเป้าโจมตีว่าเป็นเครื่องมือในการหาเสียงของประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี ซึ่งเตรียมลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยที่ 2 ในปีหน้า
พื้นเพของลาการ์ดคือนักกฎหมาย มิใช่นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งผิดกับผู้บริหาร IMF คนที่ผ่านๆ มา แต่นี่กลับเป็นข้อดีในช่วงเวลาที่วิกฤตในยุโรปบานปลาย เพราะความไร้วินัยและไม่ยี่หระกับระเบียบทางการเงินการคลังที่ EU ได้กำหนดไว้
หากลาการ์ดรักษาระยะห่างของตัวเองกับยุโรปได้อย่างพอเหมาะ พร้อมกับเอื้อมมือเข้าหาตลาดเกิดใหม่อันทรงพลัง
บางทีวิกฤตที่ชาวโลกกำลังกังวลใจ อาจคลี่คลายได้รวดเร็วกว่าที่คาดคิด