posttoday

'นุกูล ประจวบเหมาะ' อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติถึงแก่กรรม ญาติตั้งศพวัดธาตุทอง

06 กุมภาพันธ์ 2566

นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงแก่กรรมแล้ว ศิริอายุ 93ปี ญาติตั้งศพศาลาพิชานันท์ วัดธาตุทอง สวดพระอภิธรรม 6-12ก.พ.2566 เผยเป็นผู้เข้าตรวจสอบทุจริตโฮปเวลล์ รถไฟฟ้าลาวาลิน กระทั่งถูกสั่งยกเลิก

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2566 ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า นายนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ถึงแก่กรรม ศิริอายุ 93 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 โดยญาติได้แจ้งพิธีสวดพระอภิธรรม เวลา 18.00 น. ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 - 12 กุมภาพันธ์ นี้ ณ ศาลาพิชานันท์ วัดธาตุทอง

ประวัติ นุกูล ประจวบเหมาะ

นายนุกูล ประจวบเหมาะ เกิดวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 เป็นชาวจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ศึกษามัธยม 1 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จากนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเดินทางกลับมาเรียนหนังสือต่อที่บ้านเกิด

ประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2490    มัธยมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
พ.ศ. 2495    ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย
พ.ศ. 2499    ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอร์จ วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
 

เส้นทางการทำงาน

หลังจากจบปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2496 นุกูล ประจวบเหมาะ ได้เข้ารับราชการที่กองเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยการชักชวนของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง และได้รับคัดเลือกไปฝึกงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และกลับมาทำงานที่ กรมบัญชีกลาง

จากนั้นได้ไปทำงานตำแหน่ง ที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน และได้พบกับภรรยา คือ เจนจิรา วิกิตเศรษฐ และสมรสกันเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ. 2505

นุกูล ประจวบเหมาะ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2507 และได้รับตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวง มีหน้าที่บริหารงานติดต่อและบริหารเงินกู้จากธนาคารโลก ต่อมา พ.ศ. 2517 ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง

ก่อนถูกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 เพื่อแก้ปัญหาพนักงานโรงกษาปณ์ประท้วงหยุดงาน และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อเดือนกันยายน ปีเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหารัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง เมื่อ พ.ศ. 2521

นุกูล ประจวบเหมาะ ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แทนนายเสนาะ อูนากูล ที่ลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ โดยการเสนอชื่อโดยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2522

ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ. 2527 เนื่องจากขัดแย้งกับนายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และการลดค่าเงินบาท ในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากพ้นจากตำแหน่งในธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำงานในบริษัทเอกชน คือ บริษัท สยามกลการ ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดทุน ระหว่าง พ.ศ. 2529 - 2531

งานการเมือง

หลังปลดเกษียณอายุแล้ว นุกูล ประจวบเหมาะ ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2534 - 2535 และเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบการทุจริตในสัญญาโครงการโฮปเวลล์ และรถไฟฟ้าลาวาลิน จนกระทั่งสั่งยกเลิกสัญญาโครงการดังกล่าว

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจยุค นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าธปท.

ในยุคที่นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าการธปท. ในปี 2522 และปี 2523 ได้มีการผูกค่าบาทกับเงินดอลลาร์ ไว้ไม่ให้เกิน 21 บาท ในขณะที่ไทยประสบปัญหาการขาดดุลการค้า ทำให้ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนต้องเข้าไปพยุงค่าเงินบาทด้วยการขายเงินดอลลาร์ออก เพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ แต่ในที่สุดก็รักษาไว้ไม่ได้ จนต้องประกาศลดค่าเงินบาทจาก 21 บาท เป็น 23 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

ต่อมาในปี 2525 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการคลังของไทยยากลำบากยิ่งขึ้นจากการเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า รัฐบาลขาดดุลเงินสดเพิ่มจากปี 2524 กว่าเท่าตัว มูลค่าการนำเข้าก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะปี 2526 ส่งผลให้คาดการณ์ว่าเงินสำรองระหว่างประเทศจะอยู่ในภาวะที่ต่ำมากจนเป็นอันตราย รัฐบาลจึงได้เจรจาขอกู้เงินจาก IMF เป็นครั้งที่ 2 วงเงิน 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสิ้นสุดโครงการปี 2526 และขอเงินกู้จากธนาคารโลกควบคู่ไปด้วย 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านต่างประเทศก็ยังเพิ่มขึ้นจนถึงจุดวิกฤติปี 2526 เมื่อเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเหลือเพียง 2,500 ล้านดอลลาร์ ประกอบรัฐบาลได้ออกมาตรการจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน จากร้อยละ 11.5 ในช่วงต้นปี 2526 เป็นร้อยละ 13 ต่อปี ณ ปลายปี 2526 เพื่อแก้ปัญหาบริษัทเงินทุนที่มีปัญหา

จนกลายเป็นที่มาของ “โครงการ 4 เมษายน 2527” ที่ปรับปรุงระบบการบริหารของบริษัทเงินทุนให้มีประสิทธิภาพ และออกพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เพื่อป้องกันและปราบปรามการกู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งขณะนั้นเป็นที่นิยมในรูปของวงแชร์

ขณะที่การแก้ไขปัญหาดุลการชำระเงิน ได้มีการออกมาตรการควบคุมปริวรรตควบคุมการเกิด L/C เพื่อการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ยกเว้นน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 1 ปี และควบคุมการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้เพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 18 มีมาตรการจัดชั้นสินเชื่อเพื่อเข้มงวดการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่ไม่เป็น ประโยชน์ และควบคุมการให้สินเชื่อเพื่อการนำเข้าให้ขยายตัวไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปีเท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อชะลอการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและ ส่งเสริมการส่งออก เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า โดยการยกเว้นอากรขาออกสำหรับสินค้าบางประเภท แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะค่าเงินดอลลาร์ ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก

กระทั่งวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประกาศปรับปรุงระบบแลกเปลี่ยนเงินตรา ยกเลิกการผูกค่าเงินบาทไว้กับดอลลาร์ มาใช้ระบบที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับกลุ่มเงินตราของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยให้ทุนรักษาระดับฯ เป็นผู้กำหนดอัตรากลางระหว่างการซื้อขายเงินดอลลาร์ และลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างจริงจัง โดยรณรงค์ปลูกฝังให้ประชาชนช่วยกันประหยัด และหันมาใช้สินค้าไทย ลดการฟุ่มเฟือย ชะลอการนำเข้า ส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลจาก : ธปท.  วิกิพีเดีย การเมืองเรื่องลดค่าเงินบาทสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สถาบันพระปกเกล้า