เปิดปม “ค่าไฟแพง” รัฐ (ใคร) ประเคนให้เอกชน
ทำไม กฟผ. ต้องซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ และรัฐบาลทหารไม่มีการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ตั้งแต่รัฐประหาร
เป็นเรื่องร้อนไม่แพ้กับอากาศ เมื่อค่าไฟรอบเดือนมี.ค. 2566 แพงกันทั้งประเทศ แม้ว่าทั้งการไฟฟ้านครหลวง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ แม้แต่รัฐบาลเอง ต่างออกมาบอกถึงสาเหตุที่ค่าไฟแพงขึ้น มาจากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้เครื่องทำความเย็น เป็นตัวการสำคัญของค่าไฟสูงขึ้น แม้จะใช้งานปกติ หรือแม้แต่การเกิดจากค่าพลังงานเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเพราะต้นทุนราคาก๊าซ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทน ในขณะที่ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำลดลงมาก ก็ตาม
แต่รัฐบาลกลับไม่เคยย้อนไปดูโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยว่า “จุดเริ่มต้นมาจากที่ใด”
สำหรับ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 สำหรับประเภทที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้นทุนดังกล่าวมาจาก หนี้สินการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 0.34 บาท , ต้นทุนระบบจำหน่ายและค้าปลีก 0.5100 บาท , ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า 0.2400 บาท ,นโยบายของรัฐ 0.2040 บาท,ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 2.6265 บาท และต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 0.7988 บาท
ต่อประเด็นนี้ หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์เร่งอนุมัติทิ้งทวน 5,000 เมกะวัตต์ นาน 10 ปี รู้ไหม ก่อนตนจะเข้ามา มีการอนุมัติในเรื่องของด้านพลังงาน 5,000 เมกะวัตต์
พร้อมระบุว่า พรรคเพื่อไทย ควรออกมาชี้แจงว่า ทำไม "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ถึงทำล็อคผูกพันค่าไฟแพงไว้ ทำไมถึงอนุมัติให้กฟผ. ต้องซื้อไฟฟ้าจากบริษัทกัลฟ์ ถึง 5,000 เมกะวัตต์ เป็นเวลาถึง 10 ปี
ส่งผลทำให้การสำรองไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องจ่ายเงินให้เอกชน อิงตามเอกชน ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่แพงมหาโหดนี้
ขณะที่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์โต้แย้ง เห็นต่างว่า รัฐบาลทหารอยู่มาจะ 9 ปีแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็อยากเตือนความจำทุกคนว่าเหตุการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นใน “สมัยประยุทธ์” ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น
-ออกคำสั่ง คสช. ปลดเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และแต่งตั้งกรรมการ กกพ. ใหม่ทั้งชุด
-ไม่มีการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) อีกเลยตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน
-แต่ระหว่างทางมีการอนุมัติให้ RATCH สร้างโรงไฟฟ้าใหม่มา “ทดแทน” ของเก่า แต่สร้างใหญ่กว่าเดิม หลังจากนั้นขายหุ้นครึ่งหนึ่งของโรงนี้ให้ GULF ในราคาพาร์(!) ได้เงินไม่ถึงสองล้านบาท
-ช่วงวิกฤติโควิด-19 โรงไฟฟ้ามากถึง 7-8 โรงจาก 12 โรงไม่ต้องเดินเครื่องเลย ไปดูว่าของใครบ้างที่ไม่เดินแต่ได้เงิน
-รัฐบาลทหารไม่เคยคิดที่จะปรับโครงสร้างพลังงานหรือเจรจาแก้สัญญาใดๆ กับเอกชน ให้ยุติธรรมกับประชาชนมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
-ช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนยุบสภา มีการอนุมัติให้ กฟผ. ลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่โขงใหม่ (ยังไม่ได้สร้าง) อีก 3 แห่ง กำลังการผลิตรวมหลายพันเมกะวัตต์ ทั้งที่ไฟสำรองทะลุ 50%
-สัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) จากเขื่อนหลวงพระบางในลาว 1 ใน 3 เขื่อนใหม่ที่อนุมัติ ยาวถึง 35 ปี นานเป็นประวัติการณ์ (ก่อนหน้านี้ PPA ไซยะบุรียาว 31 ปีก็ว่านานแล้ว)
-ผลการเปิดประมูลพลังงานหมุนเวียนรอบล่าสุดที่เพิ่งประกาศผลก่อนสงกรานต์ มีเอกชนหน้าเดิมกวาดโควตาไปมากมายท่ามกลางความกังขาของทั้งวงการ
ทำให้ทุกวันนี้ ปริมาณไฟฟ้าของประเทศไทยอยู่ในมือของเอกชนรายใหญ่เกินครึ่ง !!! ซึ่งล้วนอยู่ในกำมือการบริหารงานของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”