posttoday

เปิดภาพ'รถไฟไทยทำ'ความเจริญที่จับต้องได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง

29 กรกฎาคม 2566

รัฐบาลเผยผลความสำเร็จ"รถไฟไทยทำ"ความเจริญที่จับต้องได้ ผลสำเร็จโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟต้นแบบ เดินหน้าพลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบรางทั้งผลิต-วางโครงสร้างขนส่ง ดันเศรษฐกิจโตก้าวกระโดด

เมื่อวันที่ 29ก.ค.2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่เดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อยกระดับเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมุ่งมั่นผลักดันนโยบาย Thai First ของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนผลิตในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% จากเดิมที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 มีมูลค่าสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท

เปิดภาพ\'รถไฟไทยทำ\'ความเจริญที่จับต้องได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เป็นการสนับสนุนภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์

เปิดภาพ\'รถไฟไทยทำ\'ความเจริญที่จับต้องได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง
 
“โครงการวิจัยและพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) โดยสำนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. เพื่อพัฒนาตู้รถไฟโดยสารต้นแบบที่เน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีรายงานความคืบหน้าล่าสุดสามารถประกอบตัวรถไฟที่มีชิ้นส่วนภายในประเทศได้เป็นครั้งแรก คิดเป็น 44.1% ของมูลค่าสินค้ากรณีรวมแคร่รถไฟ และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบไม่รวมแคร่รถไฟจะมีมูลค่า local content ถึง 76%” น.ส. ทิพานัน กล่าว
 
 

เปิดภาพ\'รถไฟไทยทำ\'ความเจริญที่จับต้องได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง

ทั้งนี้ ตัวรถออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากเครื่องบินชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง มีที่นั่งจำนวน 25 ที่นั่ง ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิงและสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง  จุดเด่นของรถขบวนชุดนี้ยังเป็นขบวนที่มีความเงียบเนื่องจากไม่มีตัวเครื่องยนต์ปั่นไฟในตัวรถ

นอกจากนี้ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย ซึ่งได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวน 7 ผลงาน ขณะนี้อยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริง สำหรับการให้บริการ หากผ่านการทดสอบตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้

เปิดภาพ\'รถไฟไทยทำ\'ความเจริญที่จับต้องได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง
 
“พล.อ.ประยุทธ์ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ผลักดันให้โครงการสำเร็จ ถือเป็นภาคภูมิใจในองค์ความรู้และความสามารถของคนไทยไม่ด้อยไปกว่าชาติใด ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้จะช่วยให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ยกระดับการเดินทางที่มีความสะดวกสบาย ทันสมัยและปลอดภัยในระดับสากล รองรับการแข่งขันและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นผู้นำที่พลิกโฉมยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางของไทยในทุกมิติ