posttoday

ถอดรหัส"วิษณุ เครืองาม" ตีความสถานะ "บิ๊กโจ๊ก" ลุ้นเก้าอี้ผบ.ตร.

21 มิถุนายน 2567

ถอดรหัส "วิษณุ เครืองาม" ตีความสถานะ "บิ๊กโจ๊ก" ทำคลอด "แมว10ชีวิต" เปิดประเด็นข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย "พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล"ไม่หลุดจาก"รองผบ.ตร." มีลุ้นโอกาสในตำแหน่ง ผบ.ตร.

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน แถลงผลตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน กรณีความขัดแย้งระหว่าง 2 บิ๊กตำรวจ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล บิ๊กต่อ กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล บิ๊กโจ๊ก โดยให้ฝ่ายแรกกลับไปที่สตช.คืนตำแหน่งผบ.ตร.เพราะเพราะไม่มีอะไรสอบสวนแล้ว

การแถลงข่าวของนายวิษณุ มีประเด็นที่ต้องขยายความถกเถียงเพิ่มว่า บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีโอกาสได้กลับไปสตช.เหมือนฝ่ายแรกหรือไม่ และยังมีโอกาสผงาดกลับไปเป็นคู่ชิง"แคนดิเดต ผบ.ตร."ต่อจากพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้หรือไม่

"กรณีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นการออกคำสั่งตาม ม.132 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2505 ที่เคยทำกันมาในอดีต แต่ในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565ได้เพิ่มมามาตราหนึ่งว่า"กรณีที่สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน"แล้วไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น คำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อนต้องทำโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน"

"แต่เนื่องจากเมื่อ 18 เม.ย.67 มีการออกคำสั่งถึง 3 คำสั่งคือ สั่งให้กลับ ตร. สั่งตั้งกรรมการสอบวินัยและสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นปัญหาและมีการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ 10 ต่อ 0 เห็นว่าการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น "กระทบต่อสิทธิประโยชน์และหน้าที่"รวมทั้งสิทธิ"การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์" จึงต้องทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน"

"แต่เรื่องนี้ไม่ผ่านคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีความเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมให้ไปดำเนินการให้ถูกต้อง โดยสถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ขณะนี้ถือว่า "อยู่ระหว่างการรอนำความกราบบังคมทูลฯ"จำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ต้องตรวจสอบว่า"ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่"
 
"ขณะนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ไปฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.ตร.) ส่วนคำสั่งที่ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนใครจะต้องรับผิดชอบนั้น ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือดำเนินการโดยสุจริตก็ไม่มีความผิด แต่ถ้ารู้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีการเปลี่ยนแปลงและไปกลั่นแกล้งก็ถือว่ามีความผิด”  

นายวิษณุ สรุปรวมความในตอนท้ายว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ถูกออกจากราชการไว้ก่อน แต่ยังไม่ได้นำความกราบบังคมทูลฯและเหตุที่ยังไม่ได้นำความกราบบังคมทูลฯเพราะกระบวนการที่ผ่านมายังไม่ถูกต้อง หากกระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังไม่หลุดจากตำแหน่ง ก็มีลุ้นในตำแหน่ง ผบ.ตร.

ดังนั้นหากเป็นไปตามที่นายวิษณุแถลงเท่ากับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถือเป็นรองผบ.ตร.ผู้มีอาวุโสลำดับ1  เกษียณอายุราชการ ปี 2574  มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อเป็นว่าที่ผบ.ตร.คนถัดไปต่อจากพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ซึ่งนายกฯออกคำสั่งให้กลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติและคืนตำแหน่งผบ.ตร. ขณะที่พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. แม้จะเคยทำหน้าที่รักษาการผบ.ตร.แทนพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ก็ยังเป็นผู้มีอาวุโสลำดับ2 เกษียณอายุราชการ ปี 2569

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ ปี 2565 ได้กำหนดลำดับอาวุโสในการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ 

  1. ผู้มียศสูงกว่า (ไม่รวมถึงยศที่ได้รับจากการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ) เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า
  2. ถ้ามียศเท่ากัน ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับนั้นในกรมตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาตินานกว่า เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า
  3. ถ้าดำรงตำแหน่งตาม (2) นานเท่ากัน ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับถัดลงไปนานกว่าตามลำดับจนถึงตำแหน่งระดับรองสารวัตร เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า
  4. ถ้าดำรงตำแหน่งระดับถัดลงไปตาม (3) นานเท่ากัน ให้ผู้ที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรนานกว่า เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า
  5. ถ้ามีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรเท่ากัน ให้ผู้ที่มีอายุมากกว่าเป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า
  6. สำหรับข้าราชการตำรวจที่ถูกประจำหรือสำรองราชการในระดับตำแหน่งใด ให้ถือว่ายังคงดำรงตำแหน่งระดับนั้นตลอดระยะเวลาที่ประจำหรือสำรองราชการ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งให้หมายความรวมถึงระยะเวลาการปฏิบัติงานเป็นทวีคูณของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์การนับ