posttoday

อปท. เฮ! บอร์ด สปสช. เพิ่มงบเหมาจ่ายที่มีภาวะพึ่งพิง 10,442 บาทต่อคนต่อปี

23 มิถุนายน 2567

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ยิ้มร่า "บอร์ด สปสช." เพิ่มงบเหมาจ่ายดูแล “ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง” เป็น 10,442 บาทต่อคนต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 6,000 บาทต่อคนต่อปี

     นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณค่าบริการจากเดิมเหมาจ่ายการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ จากจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มเติมเป็นจำนวน 10,442 บาทต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้น 4,442 บาทต่อคนต่อปี)

     ผลการอนุมัติดังกล่าวจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ ทำให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้ดีขึ้น รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดแรงจูงใจหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เช่น สถานชีวาภิบาลที่อยู่กระจายในชุมชนเข้าร่วมให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบ

     นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช. ข้างต้นนี้ สปสช. จะมีการปรับประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว ซึ่งบางส่วนก็ได้เสนอบอร์ดไปในคราวเดียวกันแล้ว พร้อมกับปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายที่จะเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากได้มีการขออนุมัติงบประมาณรองรับไว้แล้ว นอกจากนี้ สปสช. จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำแนวทาง มาตรฐานการจัดบริการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับทั้งกับประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยจัดบริการต่อไป

     เลขาธิการ สปสช. กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ สปสช. มีการสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการการดูแลผู้ป่วยที่ภาวะพึ่งพิง ในพื้นที่ของตนเอง จะทำให้เกิดการบูรณาการการดูแลผู้ป่วยทั้งด้าน Health Care และ Social Care ได้มากขึ้น เช่น ผู้ป่วยบางคนอาจมีความต้องการที่จะได้รับการช่วยเหลือทางด้านที่พักอาศัย หรือการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ทางท้องถิ่นก็อาจจะจัดหางบประมาณในส่วนนี้มาสนับสนุนได้อีก รวมทั้งในปัจจุบันการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงมีหน่วยงาน องค์กร ที่ทำหน้าที่อยู่หลายหน่วยงาน แต่เมื่อลงไปดำเนินการจริงในพื้นที่แล้ว ท้องถิ่นก็จะได้รับทราบข้อมูล เป็นศูนย์กลางในการประสาน ลดความซ้ำซ้อนในการดูแลและงบประมาณได้