posttoday

ย้อนไทม์ไลน์23ปีเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเดิมพันขุมทรัพย์พลังงาน

12 ตุลาคม 2567

ย้อนไทม์ไลน์ 23ปี พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ปฐมบทการเจรจา2ชาติ จากอดีตรัฐบาลทักษิณ สู่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เดิมพันขุมทรัพย์ด้านพลังงานแหล่งน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล10ล้านล้านบาท

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร เปิดการเจรจารอบใหม่กับฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระหว่างประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 2.64 หมื่นตารางกิโลเมตร (OCA) เพื่อสำรวจแหล่งน้ำและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง ที่คาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติ 10ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบ 300ล้านบาเรล มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้ง2ประเทศมีข้อพิพาทกันมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 

ย้อนไปเมื่อ23ปีก่อน18มิ.ย.2544 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกฯแพทองธาร และอดีตนายกฯฮุนเซนของกัมพูชาและเป็นบิดาของฮุน มาแนต ร่วมลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป 2.64 หมื่นตารางกิโลเมตร หรือ MOU 2544 จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถตกลงหาข้อสรุปใดๆได้

เปิดบันทึกข้อตกลง2ชาติ

MOU 2544  เป็นบันทึกความเข้าใจที่กำหนดกรอบและกลไกในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดน (delimitation) ทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือโดยมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตร.กม. และเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม สำหรับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ในลักษณะพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area: JDA) โดยมีพื้นที่ประมาณ 16,000 ตร.กม.

บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ต้องดำเนินการทั้งสองเรื่องในลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน (indivisible package) และให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC)  ดำเนินการพิจารณาและเจรจาร่วมกันและได้ตกลงกันว่า MOU 2544 และการดำเนินการทั้งหมดจะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย  

 รัฐบาลสุรยุทธ์แบ่งสัดส่วน กัมพูชาไม่โอเค            

ต่อมาหลังรัฐประหารปี2549 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ มีความพยายามที่จะเจรจาเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน  กับกัมพูชา 5 กุมภาพันธ์ 2550 มีการประชุมร่วมกัน พิจารณาข้อเสนอของฝ่ายไทยให้แบ่งพื้นที่พัฒนาร่วมซึ่งเป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนบริเวณที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 เหนือ ออกเป็น 3 เขต โดยให้สัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ ไทย : กัมพูชา สำหรับพื้นที่ตรงกลางเป็น 50:50 เขตที่อยู่ใกล้ฝั่งของแต่ละฝ่าย นั้นฝ่ายไทยเสนอ 60:40 แต่กัมพูชาเสนอแย้งเป็น 90:10 แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้จนรัฐบาลหมดวาระ 

ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์จ้องล้ม MOU ทักษิณเป็นที่ปรึกษากัมพูชา

10พ.ย.2552ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU 2544 และให้นำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เนื่องจากการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้งอดีตนายกฯทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจา MOU 2544 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการยกเลิก  MOU 2544

MOU รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกเก็บในลิ้นชัก
  
ปี2544ในรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีท่าทีชัดเจนไม่ยกเลิก MOU 2544 และจะเร่งเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลให้เสร็จโดยเร็ว โดยมีมติเมื่อ  13 กันยายน 2554 ปรับองค์ประกอบคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (ฝ่ายไทย) อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้เดินทางเยือนกัมพูชาโดยเห็นพ้องที่จะให้มีการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอย่างเป็นทางการ แต่ทุกอย่างก็ถูกเก็บใส่ลิ้นชัก เนื่องจากมีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า นักการเมืองใหญ่ของไทยพร้อมที่จะใช้นอมินีเข้าไปมีส่วนแบ่งในสัมปทาน

การเจรจารอบใหม่ในรัฐบาลประยุทธ์

หลังการยึดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการหยิบยกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย กัมพูชา มาหารือในช่วงที่ใกล้จะหมดวาระ 1ตุลาคม 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) พิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่มีการแต่งตั้ง คณะทำงานร่วมกันว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเลประชุมกัน2-3ครั้งก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระไป

ยุครัฐบาลเศรฐา ปัญหาปักปันเขตแดน

หลังเลือกตั้ง66 อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสินได้พบกับนายฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชา ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ 7กุมภาพันธ์ 2567  ผลการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาคืบหน้าล่าสุดก็ตรงที่ ตกลงที่จะหารือกันต่อเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนโดยให้ความสำคัญกับการปักปันเขตแดนทางทะเลพร้อมๆกับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน และมีข้อสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงพลังงาน และกองทัพเรือเพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อ 

ลุ้นเจรจารอบใหม่

การเจรจารอบใหม่ระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา บลูมเบิร์ก ระบุว่ากัมพูชามีเหตุผลน้อยกว่าที่จะรีบเข้าสู่โต๊ะเจรจา แม้จะต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดต่างจากไทยโดยกัมพูชาขาดอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในประเทศที่แข็งแกร่ง และน่าจะยังคงต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในการนำเข้าพลังงานและการจัดหาเชื้อเพลิง

ขณะที่บริษัทที่ปรึกษา CLC Asia ในกรุงเทพฯ ระบุในรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า หากไม่คิดเรื่องรูปแบบการแบ่งปันรายได้ ผู้ผลิตและผู้รับสัมปทานของไทยจะต้องรับภาระงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อน และบริษัทของไทยจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานของไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อหลังการเจรจาระหว่าง2ผู้นำไทย-กัมพูชา เพราะยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาชุดใหม่และแม้จะได้คณะทำงานร่วมและเมื่อตกลงกันแล้วเสร็จก็ต้องเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาต่อและหากเจรจาสำเร็จกว่าจะผลิตได้จริงก็จะใช้เวลาหลายปี

สศช.แนะยึดโมเดล JDA บนผลประโยชน์ร่วม2ชาติ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เรื่องพลังงานไทยต้องเตรียมความพร้อมในระยาว การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) รัฐบาลไทยและกัมพูชาต้องทำงานเรื่องนี้ร่วมกัน คำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ โดยใช้รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย (JDA) ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว ส่วนเงินทุนในการลงทุนคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาในการดำเนินการ ซึ่งมีหลายรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้

“บริเวณดังกล่าวถือว่ามีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับทั้งสองประเทศได้ในระยะยาว และรองรับความผันผวนของราคาพลังงาน กรณีที่มีความขัดแย้งบริเวณแหล่งผลิตน้ำมันที่ประเทศไทยนำเข้า ซึ่งอาจมีการขยายพื้นที่สงครามได้”