posttoday

จับตานายกฯอิ๊งค์ร่วมเวที GMS-ACMECS พบฮุน มาเนต เดินหน้าMOU44

06 พฤศจิกายน 2567

นายกฯแพทองธาร ร่วมเวที GMS-ACMECS 6-7 พ.ย.67ที่จีน จับตาพบ "ฮุน มาเนต" หลังประกาศเดินหน้า MOU44 จ่อตั้งคณะกก. JTC ในอีก2สัปดาห์ พร้อมหารือกับประเทศเพื่อนบ้านแก้น้ำท่วม-ฝุ่นควันและการส่งออกสินค้าไทย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 หรือ GMS SUMMIT โดยมีประเทศเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิราวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 หรือ ACMECS SUMMIT ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6 ถึง 7 พฤศจิกายน 2567

ที่น่าสนใจคือการพบกันระหว่าง นางสาวแพทองธาร กับ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งประเด็นที่ถูกจับตาคือ เรื่อง MOU44 หรือบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนของไหล่ทวีประหว่างไทย-กัมพูชา โดยฝ่ายไทยเตรียมแต่งตั้ง
คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ขึ้นมาเพื่อเจรจา คาดว่าจะมีการแต่งตั้งไม่เกิน2สัปดาห์ต่อจากนี้หลังการให้สัมภาษณ์ของน.ส.แพทองธาร เมื่อวันที่ 5พ.ย.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไทยจะเดินหน้าให้เกิดการเจราเพื่อประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง2ประเทศ แต่ยังไม่ชี้ชัดว่ามอบหมายให้บุคคลใดเป็นหัวหน้าคณะกรรมการ JTC
 

นายกฯแพทองธาร เปิดเผยว่าการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 หรือ GMS SUMMIT และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิราวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 หรือ ACMECS SUMMIT ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นโอกาสดีที่ตนเอง จะได้พบเจอกับผู้นำหลายประเทศ เพื่อไปตอกย้ำนโยบายต่าง ๆ ที่ได้พูดคุยกันไว้ในเวทีของอาเซียน และนำไปสู่การพูดคุยเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก นวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย ไทยจะขอความร่วมมือ เพื่อทำให้ได้เปิดตลาดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เปิดโอกาสให้กับตลาดของไทย เพราะทั่วโลกตอนนี้กำลังเน้นย้ำเรื่องของ Food Security อย่างประเทศจีนเอง ที่แม้จะมีการเกษตรของตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับประชากรของจีนทั้งประเทศ ดังนั้น จีนจะพึ่งพาไทยในเรื่องนี้ได้ และไทยก็จะไปบอกให้นานาชาติมั่นใจว่า ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนอาหาร Food Security ต่าง ๆ เพราะมีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม ที่สามารถมาร่วมมือกันให้เกิดเป็นรูปธรรมากขึ้น และคล่องตัวมากขึ้น

การประชุมครั้งนี้จะได้มีโอกาสพูดคุยถึงการบริหารจัดการน้ำด้วย ทั้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เพราะประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ มีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีที่ดี และมีระบบการแจ้งเตือนภัย จำเป็นต้องมาพูดคุยกันว่า ตรงไหนที่ยังขาดเหลือ จะได้มาช่วยและร่วมมือกัน อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมแม่สาย แน่นอนว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้มีแนวทางชัดอยู่แล้วว่า ปัญหามันเกิดจาก สิ่งรุกล้ำ ขวางกั้นของทางระบายน้ำ และเป็นปัญหาที่จะต้องเคลียร์ในฝั่งไทยด้วย เพื่อเปิดทางระบายน้ำร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะน้ำท่วมหนักขนาดนี้อีก ซึ่งเรื่องนี้ ประเทศเพื่อบ้านก็อยากได้ความร่วมมือจากไทยไม่ใช่แค่ไทยที่ต้องการได้จากเพื่อนบ้าน 

ส่วนปัญหาฝุ่นควัน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามฤดูของการเผา จะเกิดขึ้นต้นปีหน้า และทำให้มีปัญหา PM2.5 จำเป็นต้องขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะ ควันมาจากหลายทิศทาง พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ถ้าเพื่อนบ้านเผาก็พัดมาหาไทย จึงจำเป็นต้องพูดคุยว่า จะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร หลังจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการตั้งคณะทำงานเรื่องปัญหาฝุ่นควันขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ครั้งนี้จะไปตอกย้ำให้คณะทำงานได้เกิดการทำงานขึ้นมาจริง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่าการเดินทางไปประชุมที่จีนครั้งนี้ไทยจะได้ในเรื่องของตลาดส่งออกสินค้าไทย เป็นการไปตอกย้ำการเดินหน้า เพราะเป็นธรรมชาติทางการเมืองทั่วโลก เมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาลรัฐบาลต่างประเทศจะถามว่าสิ่งที่ทำอยู่ สิ่งที่เคยคุยไว้ ยังทำต่อหรือไม่ และรัฐบาลปัจจุบันจะดำเนินการอย่างไรก็ถือเป็นโอกาสที่ดีจะได้เน้นย้ำว่า เรื่องการส่งออกเรายังสนับสนุนอยู่ ทั้งสินค้าเกษตร และ Food Security และเชื่อว่า จะได้ผลลัพธ์กลับมา ถ้าประเทศไทยไปต่อ ประเทศต่าง ๆ ที่เราไปคุย เขาก็จะพร้อมดำเนินงานต่อไป และได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป