posttoday

ครม.ผ่านร่างกม.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ดัดหลังผู้ว่าจ้างเบี้ยวเงิน

24 ธันวาคม 2567

เปิดร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ว่าจ้างเบี้ยวไม่จ่ายค่าตอบแทน ต้องจ่ายดอกเบี้ย 15% ต่อปีระหว่างเวลาผิดนัด ห้ามเด็กอายุต่ำ18 ทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

นายคารม กล่าว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2554 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดมาตรฐานการควบคุม กำกับดูแล และคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้ได้รับการปฏิบัติจากผู้จ้างงานอย่างเป็นธรรม แต่โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน 

ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระทรวงแรงงานจึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น

 “งานที่รับไปทำที่บ้าน” หมายความว่า งานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม งานบริการ มอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อนำไปผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม แปรรูป ออกแบบ บริการ หรือจำหน่าย นอกสถานประกอบกิจการของผู้จ้างงานหรืองานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง และกำหนดให้ในกรณีที่ผู้จ้างงานไม่คืนหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่จ่ายค่าตอบแทน หรือไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟู สมรรถภาพและค่าทำศพ ให้ผู้จ้างงานเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทที่มีสิทธิ แล้วแต่กรณีในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี โดยหากผู้จ้างงานจงใจไม่คืนหรือจ่ายเงิน ดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ให้ผู้จ้างงานชำระเงินเพิ่มให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทที่มีสิทธิแล้วแต่กรณีร้อยละ 15 ต่อปีของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน 

ทั้งนี้ หากผู้จ้างงานนำเงินที่จะต้องคืนหรือจ่ายดังกล่าวไปมอบไว้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ให้ผู้จ้างงานไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ผู้จ้างงานนำเงินไปมอบไว้ โดยกำหนดห้ามผู้ใดจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน และห้ามเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กนั้น
 
ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว 

รวมทั้งได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวรวม 3 ฉบับ โดยออกเป็นกฎกระทรวง จำนวน 1 ฉบับ เป็นการกำหนดงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์หรือเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี 

ออกเป็นประกาศกระทรวงแรงงาน จำนวน 1 ฉบับ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน และออกเป็นประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำนวน 1 ฉบับ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับเงินเก็บรักษาเงิน และการจ่ายงานที่ผู้จ้างงานมามอบไว้แก่อธิบดี 

ทั้งนี้ กฎหมายลำดับรองดังกล่าว มีกรอบระยะเวลาในการออกภายใน 1 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ