เตือนแล้วเตือนอีก! “พรรคประชาชน” ยื่นญัตติด่วนถกสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5
"พรรคประชาชน" ยื่นญัตติด่วนถกสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ชี้เตือนแล้วเตือนอีก-เสนอมาตรการครบทุกด้านตั้งแต่ ก.ย.66 แต่รัฐบาลไม่ตอบสนอง
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาชน ตั้งกระทู้สดเรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 ถามนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากติดภารกิจต่างประเทศ นายกฯ จึงมอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ตอบแทน
ภัทรพงษ์ กล่าวว่า ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าผลกระทบของ PM2.5 รุนแรงขนาดไหน หนึ่งในสาเหตุคือเรื่องการเผาในภาคเกษตร ในวันที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตรแถลงนโยบาย ตนได้อภิปรายเสนอแนะมาตรการพร้อมกรอบเวลาที่ชัดเจนในการจัดการป้องกันปัญหาไปแล้ว แต่จากคำตอบของรัฐมนตรี พบว่ามีแต่คำว่า ‘เตรียม’ เต็มไปหมด นี่คือการเตรียมที่ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบังคับสินค้าการเกษตรที่มีที่มาจากการเผา เรามีกฎหมายอยู่แล้วคือ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 บังคับใช้ได้เลย แต่ท่านไม่ทำ ส่วนกระทรวงพาณิชย์ออกประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบภาษีปลอดภาษีปี 2568 เนื้อหาไม่ต่างจากปี 2567 ไม่ได้ให้ผู้นำเข้าระบุพื้นที่แปลงเพาะปลูกหรือ Geo-location ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมเช่นเคย
ประเด็นไฟป่า รัฐบาลตัดงบด้านไฟป่าไปมากขนาดไหน อุทยานขอไป 1,500 ล้านบาท ตัดเหลือ 400 ล้านบาท ท้องถิ่นขอไป 1,800 แห่งได้แค่ 90 แห่ง ส่วนงบกลาง หน่วยงานจัดทำเสร็จตั้งแต่พฤศจิกายน ตอนนี้ยังไม่ผ่านมติ ครม. ตอนนี้ไฟป่าเจอมาแล้วทั้งที่นครราชสีมา เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ชลบุรี งบประมาณไม่มี อุปกรณ์ไม่พอ งบกลางก็ยังไม่มา พอเกิดไฟป่าขึ้นมา ประชาชนไม่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้เลย ไม่มีการแจ้งเตือน ต่อให้ตนอยู่ในพื้นที่ ก็ไม่รู้ว่าว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการชิงเผาหรือเกิดจากการลักลอบเผา
จึงขอถามรัฐมนตรีว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับเกณฑ์การแจ้งเตือนเรื่องไฟป่า รวมถึงเกณฑ์การแจ้งเตือนค่ามาตรฐาน PM2.5 ซึ่งที่ กทม. และปริมณฑลพุ่งขึ้นกว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ท่านจะแจ้งเตือนด้วยวิธีไหน location based SMS จะตั้งเกณฑ์เท่าไหร่
นอกจากนี้ ปัจจุบันฝุ่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถูกพัดมาจากการเผาภาคการเกษตร แต่อีกส่วนหนึ่งที่เราจะไม่พูดไม่ได้คือมลพิษทางอากาศที่มาจากไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งทั้งหมดเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ของกรุงเทพมหานครขึ้นสูงถึง 125 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รัฐบาลได้เตรียมการป้องกันและบรรเทาผลกระทบมลพิษทางอากาศจากไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารอินทรีย์ระเหยง่ายอย่างไรสำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
อีกประเด็นที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหา PM 2.5 จำเป็นต้องกระจายอำนาจ แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ว่า กทม. หรือนายก อบจ. ให้เป็นเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษเลยด้วยซ้ำ เราสามารถกระจายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจัดการได้ตามกฏหมายที่มีอยู่ ไม่ต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่รัฐบาลไม่ทำ
นอกจากนี้ยังมีกลไกเขตควบคุมมลพิษที่รัฐมนตรีมีอำนาจในการประกาศ แล้วให้ท้องถิ่นจัดทำแผนการดำเนินการและของบประมาณ เรื่องนี้รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการ
ภัทรพงษ์ทิ้งท้ายว่ารู้สึกผิดหวังกับการตอบสนองและผลการดำเนินงานของรัฐบาล ตนได้อภิปรายเสนอแนะแนวทางตามกรอบเวลาที่ชัดเจนและลงรายละเอียดในหลายครั้ง แต่คำตอบที่ได้กลับมาแทบเป็นศูนย์
ขอย้ำอีกครั้งว่าการแก้ปัญหา PM 2.5 ต้องเข้าใจกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ไม่ใช่รอปัญหาเกิดแล้วมาแก้เอาตอนที่จวนตัว ขอฝากวิปรัฐบาลส่งข้อความถึงนายกฯ ในการตอบกระทู้สดครั้งหน้าวันที่ 30 มกราคม ถ้าท่านกล้าก็มาตอบด้วยตัวเอง
จากนั้นช่วงบ่าย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้ยื่นเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอมาตรการเร่งด่วนและแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวต่อการจัดการปัญหาฝุ่นพิษในอากาศ ให้คณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณาดำเนินการ
โดยณัฐพงษ์ได้อภิปรายหลักการและเหตุผลของญัตติดังกล่าวว่า การที่คณะรัฐมตรีและรัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่นพิษล่าช้านำมาซึ่งความถดถอยของปัญหาสุขภาพของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้สมาชิกร่วมอภิปรายเพื่อส่งข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว แม้นายกรัฐมนตรีจะได้มีการสั่งการประชุมเร่งด่วนแล้วในวันนี้ แต่หลายมาตรการที่นายกรัฐมนตรีสั่งการเร่งด่วนยังไม่ตรงจุด ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อสิ่งที่สมาชิกเคยเสนอไว้
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชนได้เคยเสนอมาตรการให้รัฐบาลดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งจนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา โดยการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด ต้องระบุที่มา (Geolocation) ว่ามาจากแหล่งที่มีการเผาหรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนใดๆ การจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการต่อสู้ฝุ่นและการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับท้องถิ่น การเพิ่มโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่ต้องป้องกันและเฝ้าระวังจากปัญหาฝุ่นพิษ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตั้งงบประมาณมารองรับกับโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ รวมถึงการออกกฎหมายลำดับรองต่างๆ ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรต่างๆ ว่าจะต้องไม่เกิดจากการเผา
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า พรรคประชาชนได้เคยนำเสนอมาตรการต่างๆ เหล่านี้ต่อรัฐบาลมาเป็นเวลานานแล้ว สิ่งที่ตนอยากเน้นย้ำอีกครั้งวันนี้คือ ทุกนาทีที่เสียไปจากการยังขาดความชัดเจนและการสั่งการจากรัฐบาลอย่างดีเพียงพอ ย่อมหมายถึงความถดถอยของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
ปัญหาฝุ่นโดยสรุปแล้วมีที่มาจาก 4 แหล่ง ได้แก่ ในไร่ ในป่า ในเมือง และฝุ่นข้ามพรมแดน ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้เป็นมาตรการ 5 ด้าน คือด้านงบประมาณ ด้านกฎหมาย ด้านการจัดการการเกษตร ด้านไฟป่า และด้านระบบการแจ้งเตือนและฐานข้อมูลต่างๆ
ยกตัวอย่างถึงมาตรการ เช่น การให้เงินอุดหนุนแก่ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท พรรคประชาชนเคยมีข้อเสนอให้รัฐบาลให้เงินอุดหนุนอย่างมียุทธศาสตร์ ทำความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรให้ทำเกษตรโดยไม่ใช้การเผา แล้วจะได้รับเงินอุดหนุนการทำเกษตรในรูปแบบนั้น เงื่อนไขและมาตรการแบบนี้รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลย แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา
เช่นเดียวกับเรื่องกรณีอ้อยไฟไหม้ที่เมื่อไม่นานมานี้มีปัญหารถขนอ้อยไฟไหม้ต้องจอดค้าง ส่งอ้อยเข้าโรงงานไม่ได้เป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีไม่มีความชัดเจน ทั้งที่ในการดำเนินการปีก่อนๆ เคยมีการตั้งเพดานการรับซื้ออ้อยไฟไหม้มาแล้วและได้ผลดีด้วย แต่ปีนี้คณะรัฐมนตรีกลับไม่ได้ออกมาเป็นมติหรือประกาศที่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรในฤดูกาลนี้ใช้วิธีการเผาในช่วงเก็บเกี่ยว แล้วถึงเวลารัฐบาลก็มาใช้วิธีการขอความร่วมมือโรงงานไม่ให้รับซื้ออ้อยเผา นี่คือตัวอย่างของการที่รัฐบาลขาดความชัดเจนและการวางแผนล่วงหน้า หากก่อนหน้านี้รัฐบาลมีความชัดเจนและประกาศแผนต่างๆ เหล่านี้ล่วงหน้าให้ทั้งเกษตรกรและโรงงานรับรู้ล่วงหน้า ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เลยคือการประกาศหลักเกณฑ์ว่าค่าฝุ่นเมื่อถึงจุดวิกฤตเท่าใดแล้วจะต้องมีการแจ้งเตือนต่อประชาชน และให้ประชาชนต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมามีแต่ กทม. ที่มีการประกาศเช่นนี้ ทั้งที่รัฐบาลสามารถออกประกาศเป็นหลักเกณฑ์กลางให้มีผลโดยทั่วไปได้
ขณะที่ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ได้อภิปรายถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว โดยระบุว่าจากข้อมูลงานวิจัยโดย TDRI ระบุว่าสภาวะอากาศของโลกทำให้หน้าหนาวของประเทศไทยสั้นลง และช่วงเวลาที่คนอยากมาเที่ยวภาคเหนือก็สั้นลง แต่ความท้าทายประการต่อมาก็คือ PM2.5 ซึ่งสถิติฝุ่นที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการเกิดซ้ำๆ ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน
และเมื่อนำสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวมาเทียบกับฤดูกาลเกิดฝุ่น ก็จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวของภาคเหนือกระจุกตัวอยู่ในหน้าหนาวซึ่งตรงกับฤดูฝุ่นพอดี เชียงใหม่มีหน้าไฮซีซั่นอยู่แค่ 4 เดือน และการเกิดฝุ่นซ้ำๆ อยู่แบบนี้ก็ยิ่งทำให้หน้าไฮซีซั่นของภาคเหนือสั้นลงเรื่อยๆ เพราะความกังวลเรื่องฝุ่นของนักท่องเที่ยว
ณัฐพลกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลปัจจุบันแม้จะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวด้วยมาตรการต่างๆ แต่สิ่งที่ตนอยากเห็นคือการแก้ไขปัญหา PM2.5 ที่กระทบกับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในภาคเหนือ เราอยากเห็นการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เทียบเท่าได้กับความพยายามที่รัฐบาลจะทำสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งนายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีก็เป็นคนเชียงใหม่ ควรจะเข้าใจความรู้สึกของคนเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
ณัฐพลกล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ลำพังหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะแก้เรื่องฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ก็จริง แต่ตนก็มีข้อเสนอในสิ่งที่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวสามารถทำได้ เช่น การกระจายการท่องเที่ยวให้ไปหน้าโลว์ซีซั่นมากขึ้น โดยหน่วยงานต่างๆ ต้องไปลงทุนปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ส่งเสริมเมืองรองและเมืองท่องเที่ยวอื่นให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวออกไป ไม่ให้เกิดการแออัด ตลอดจนสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่ที่เผชิญปัญหารถติดมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงกรมการท่องเที่ยวควรต้องปรับปรุงและใช้มาตรฐานการท่องเที่ยวทั้ง 56 มาตรฐานอย่างจริงจังด้วย