เอกนัฏ เปิดตัว “แจ้งอุต” ชวนประชาชนร่วมปราบโรงงานเถื่อน สินค้าไม่มีมาตรฐาน

30 มกราคม 2568

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เปิดตัว “แจ้งอุต” แพลตฟอร์มแจ้งปัญหาอุตสาหกรรมง่ายๆ ผ่านไลน์ ดึงประชาชนร่วมปราบ โรงงานเถื่อน สินค้าไม่ได้มาตรฐาน พร้อมเปิด 11 อันดับร้องเรียนมากสุด เดือนหน้าจ่อเปิดตัว AI สกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเซฟอุตสาหกรรม และเอสเอ็มอีไทย

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเอาจริงเอาจังกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรม ทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ให้การประกอบกิจการเป็นเรื่องง่าย (Ease of Doing Business) และเพิ่มความคล่องตัวสำหรับประชาชนทั่วไปในการติดต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรม 

จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม หาแนวทางขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา "ทราฟฟี่ฟองดูว์" (Traffy Fondue) จัดทำช่องทางร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในชื่อ “แจ้งอุต” ที่จะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มช่องทางแจ้งเรื่องและตามติดสถานะของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมแบบทันใจ
 

เอกนัฏ เปิดตัว “แจ้งอุต” ชวนประชาชนร่วมปราบโรงงานเถื่อน สินค้าไม่มีมาตรฐาน

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับการจัดระเบียบอุตสาหกรรมไทย กับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา สินค้าไม่ได้มาตรฐานมากมายยังแทรกซึมในตลาด ลำพังกำลังพลของข้าราชการอุตสาหกรรม ทำได้ไม่เพียงพอ จึงอยากให้ “แจ้งอุต” ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยรับฟังเสียงจากประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อแก้ปัญหา 

ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน ในการต่อสู้เพื่อพังวงจรอุตสาหกรรมสีเทา โรงงานเถื่อน เอาผิดผู้ประกอบการไร้ความรับผิดชอบ ลักลอบฝังขยะอันตราย ปิดตายสินค้าข้ามชาติราคาถูกที่ไร้มาตรฐาน ช่วยกันพลิกฟื้นอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส ไม่ให้มีอะไรซุกใต้พรมอีกต่อไป”

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การทำงานของแพลตฟอร์มแจ้งอุต นั้น สามารถเข้าใช้งานโดยผ่านระบบของทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) และเลือกไปยัง แจ้งอุต รวมทั้งการสแกนผ่าน QR Code และ Link ซึ่งสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนในเรื่องต่างๆ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ 

  1. โรงงาน (ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานกลิ่นเหม็น/เสียงดัง/ฝุ่นละออง/ถนนและระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม) 
  2. อ้อย (ปัญหาเผาอ้อย/รถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน) 
  3. เหมือง (ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) 
  4. มาตรฐานสินค้า
  5. บริการอุตสาหกรรม (ร้องเรียนการให้บริการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)
  6. ด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 

ในระยะแรก กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับแจ้งจัดการเรื่องการร้องเรียนของทุกหน่วยงานในสังกัด จำนวน 8 แห่ง ส่วนระยะต่อไปจะพัฒนาการติดตามสถานะการขอรับบริการ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถานะการสมัครเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สถานะการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ระบบใน Traffy Fondue ได้พัฒนาการแสดงผลภาพรวม (dashboard) และฐานข้อมูลการใช้บริการ เช่น สถิติการร้องเรียน พื้นที่ที่ถูกร้องเรียน ประวัติการส่งเรื่องร้องเรียน และจำนวนที่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถนำไปวางแผนการจัดการปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ และในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเชื่อมโยงแจ้งอุตกับระบบต่างๆที่มีอยู่ของกรม เช่น I-Dee Pro และระบบอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้ข้อมูลและการจัดการต่างๆ เชื่อมโยงถึงกัน 

11 เรื่องถูกร้องเรียนมากที่สุดในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ยปีละ 500-550 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 11 อันดับ ได้แก่ 

  1. กลิ่นเหม็นและไอสารเคมี (ร้อยละ 29) 
  2. ฝุ่นละอองและเขม่าควัน (ร้อยละ 21) 
  3. เสียงดังและแรงสั่นสะเทือน (ร้อยละ 15) 
  4. น้ำเสีย (ร้อยละ 8) 5.อื่นๆ (ร้อยละ 6) 
  5. ประกอบการในเวลากลางคืน (ร้อยละ 6) 
  6. กากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตราย (ร้อยละ 5) 
  7. ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต (ร้อยละ 5) 
  8. ความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพ (ร้อยละ 3) 
  9. คัดค้านการประกอบการ (ร้อยละ 2) 
  10. เหมืองแร่ (ร้อยละ 0.3) 

นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนจากเหตุภาวะฉุกเฉิน เฉลี่ยจำนวน 15 เรื่องต่อเดือน อาทิ เหตุเพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล การชุมนุมคัดค้าน อุบัติเหตุจากการทำงานหรือเครื่องจักรกล เหตุระเบิด เป็นต้น 

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ปัจจุบันมีจังหวัดที่ใช้งานทุกหน่วยราชการของจังหวัดมากถึง 24 จังหวัด ผ่านการรับเรื่องแจ้งทั่วประเทศมากกว่า 1.2 ล้านเรื่อง ครอบคลุมประชากรมากกว่า 30 ล้านคน คิดเป็น 45% ของประชากรทั่วประเทศ ขยายผลการใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 หน่วย

ขณะเดียวกันก็กำลังพัฒนาเอไอตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานตามอีคอมเมิร์ซ ดึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย มีนักศึกษามาช่วยกันพัฒนา จะช่วยเซฟอุตสาหกรรมไทย และ SME รายย่อยได้ 
 

Thailand Web Stat