posttoday

Cervelo นวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยที่ถูกมองข้าม สู่แบรนด์ปฏิวัติวงการจักรยาน

18 พฤศจิกายน 2564

จากไอเดียในการยกระดับจักรยานที่ล้ำยุค จนผู้ผลิตยุคก่อนต้องถอยหนี Cervelo กลายเป็นผู้บุกเบิกยุคใหม่ของอุตสาหกรรม ทั้งในแง่วัสดุและเทคนิคการผลิต จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอย่างเต็มตัว

Highlights

  • จุดเริ่มของ Cervelo เกิดจากไอเดียของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์สองคน ที่ต้องการสร้างจักรยานที่เร็วกว่าเดิม ด้วยแนวคิดที่ต่างออกไป
  • ไอเดียของทั้งคู่ถูกผู้ผลิตต่าง ๆ ปฏิเสธ จนเป็นที่มาของการตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตัวเอง กระทั่งกลายเป็นผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมนี้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ
  • แม้ทุกวันนี้ แบรนด์คู่แข่งจะหันมายึดแนวทางเดียวกัน จนช่องว่างที่เคยทิ้งห่างถูกลดลง แต่ปรัชญาของการเน้นความเป็นที่สุด ก็ยังทำให้ Cervelo ยังยืนหนึ่งในวงการนี้ได้

--------------------

          จักรยาน คือยานพาหนะที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน คือต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อ 600 ปีก่อน

          ในยุคเริ่มแรกหน้าตาของเจ้าสองล้อนั้นแตกต่างจากที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันมาก และมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

          และหนึ่งในแบรนด์ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาจักรยานสำหรับแข่งขันของยุคปัจจุบัน ก็คือ Cervelo ที่มาพร้อมกับแนวคิด 'engineering-first'

          ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารูปทรงของเฟรมให้เป็นไปตามหลักแอโรไดนามิค การเปลี่ยนวัตถุดิบจากโลหะเป็นคาร์บอนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า หรือแม้แต่การทดสอบในอุโมงค์ลม ฯลฯ จนสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นมาตรฐานที่ทุกแบรนด์ต้องปฏิบัติตามในปัจจุบัน

          แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไอเดียของ ฟิล ไวท์ และ เจอราร์ด ฟรูเมน สองผู้ก่อตั้ง เกือบถูกปัดตกไป ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ

จุดเริ่มจากโปรเจกต์ส่งอาจารย์
ฟิล ไวท์ และ เจอราร์ด ฟรูเมน สร้าง Cervelo ด้วยแนวคิด engineering-first / ภาพจาก radmarkt.de

          ฟรูเมน อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเฟน มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมเครื่องกล และเทคโนโลยีโพลีเมอร์

          ในปีสุดท้ายก่อนเรียนจบ เขาเดินทางไป มอนทรีออล ในแคนาดา เพื่อออกแบบเฟรมจักรยานไทม์ไทรอัล เป็นโปรเจกต์ส่งอาจารย์

          จนเมื่อถึงเวลาต้องเริ่มทำรถต้นแบบ ฟรูเมน ก็ได้เจอกับ ไวท์ นักศึกษาวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยแม็คกิลล์ ที่สนใจในเรื่องจักรยานเหมือนกัน และอาสายื่นมือช่วย

          การมีพื้นฐานจากวิศวกร ทำให้ทั้งคู่ยึดมั่นกับข้อมูลมากกว่าความเชื่อแบบเดิม ๆ และ ฟรูแมน ก็เชื่อว่านี่เป็นเรื่องดีที่ทำให้สิ่งเขากับ ไวท์ กำลังจะสร้างขึ้นนั้น แตกต่างจากคนอื่น ๆ

          เพราะในยุคนั้น อุตสาหกรรมจักรยานยังยึดติดกับเฟรมรูปทรงท่อที่คนหมู่มากคุ้นเคยกันดี รวมถึงเรื่องวัสดุที่ต้องเป็นโลหะ

 

ล้ำยุค จนไม่มีใครเอา
Barrachi รถต้นแบบรุ่นแรกของ Cervelo ที่ล้ำยุค จนไม่มีผู้ผลิตรายไหนยอมรับ / ภาพจาก gerard.cc

          แนวคิดของ ฟรูเมน และ ไวท์ คือการพัฒนาจักรยานตามหลักแอโรไดนามิค รูปทรงของเฟรมแบบท่อจึงไม่เหมาะสม เช่นเดียวกับการปรับวัสดุมาเป็นคาร์บอนที่เบา แต่แข็งแรง

          จนเป็นที่มาของ Barrachi ดีไซน์แรกที่ฉีดจากจักรยานรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังถือว่าดูล้ำยุคไปมาก

          "ไอเดียในการออกแบบมัน คือเราอยากให้ขี่ได้เร็วขึ้น และไม่ยึดติดกับความเชื่อแบบเดิม ๆ" ไวท์ อธิบาย

          "การออกแบบทั้งหมดจึงยึดตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด เพื่อให้ได้จักรยานที่เร็วขึ้น ไม่ใช่จักรยานที่ดีขึ้น"

          เสียงวิจารณ์ถึงรูปร่างหน้าตาของ Barrachi จึงไม่เป็นผลสำหรับ ฟรูแมน และ ไวท์ ที่เชื่อว่าโปรดักท์ต้องมาก่อนแผนการตลาด

          ปัญหาคือด้วยความที่มันล้ำยุคเกินไป เมื่อทั้งคู่นำรถต้นแบบไปนำเสนอให้บรรดาผู้ผลิตในอิตาลีพิจารณา

          คำตอบที่ได้รับจึงมีแต่การปฏิเสธ

          แต่ด้วยความเชื่อมั่นในตัวโปรดักท์ที่สร้างขึ้น เมื่อไม่มีผู้ผลิตรายไหนสนใจจะนำไปใช้

          Cervelo ซึ่งได้ชื่อแบรนด์มาจากการผสมคำ cervello (สมองในภาษาอิตาเลียน) และ velo (จักรยานในภาษาฝรั่งเศส) จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 1995

 

พิสูจน์ด้วยผลงาน
เดฟ ซาบริสกี หนึ่งในแหล่งข้อมูลเชิงลึกยุคแรกของ Cervelo / ภาพจาก Flickr

          ในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อสหภาพจักรยานนานาชาติ หรือ UCI ปรับเปลี่ยนกฎเรื่องเฟรมจักรยานที่ใช้ในการแข่งขันใหม่

          ฟรูเมน และ ไวท์ ก็นำไอเดียของตนไปพัฒนาต่อ จนให้กำเนิด Eyre และ P2 TT ซึ่งต่อยอดมาจาก Baracchi 

          ไม่ใช่แค่เรื่องเฟรมคาร์บอน แต่ Cervelo ยังเป็นผู้บุกเบิกการนำเทคโนโลยี อย่าง อุโมงค์ลม การวัดค่าต่าง ๆ ด้วยเซนเซอร์มาใช้

          การรับฟังฟีดแบ็กของนักปั่นเพื่อนำมาพัฒนาต่อ ยังเป็นอีกแนวคิดที่ทำให้ Cervelo "ล้ำ" กว่าแบรนด์อื่น ๆ ในยุคนั้น เพราะข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ มีส่วนช่วยให้พัฒนาจักรยานได้ดีขึ้นจริง

          ทีมวิศวกรของ Cervelo ถึงขนาดสแกนรูปร่างของ เดฟ ซาบริสกี นักแข่งจักรยานไทม์ไทรอัล เพื่อนำมาสร้างเป็นโมเดลขนาด 1:1 เพื่อนำไปใช้ในการทดสอบจักรยานรุ่นใหม่ ๆ ในอุโมงค์ลม ต่อเนื่องกว่าสิบปี

          หรือประสบการณ์ทะเลาะกับ มาร์ค คาเวนดิช นักปั่นชาวสหราชอาณาจักรที่วิจารณ์เฟรมของ Cervelo ตลอดเวลาที่ทำงานร่วมกัน

          แต่ สกอตต์ รอย ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของ Cervelo ยอมรับว่าการที่ คาเวนดิช สามารถอธิบายประสบการณ์ในการขี่ของตัวเองให้เห็นภาพเป็นฉาก ๆ ได้นั้น คือประสบการณ์เหมือนฝันที่เป็นจริง สำหรับทีมวิศวกรของบริษัทเลยทีเดียว

 

ทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำ
Cervelo TestTeam ประสบการณ์ลองผิดลองถูกของ ฟรูเมน / ภาพจาก Cycling Weekly

          ฟรูเมน เล่าว่าในช่วงแรกนั้น Cervelo ลองผิดลองถูกกับทุกอย่าง ตั้งแต่สัญญากับร้านค้า การสปอนเซอร์ทีมแข่ง หรือแม้แต่เรื่องโปรดักชั่น ไม่ใช่แค่เพราะเขากับ ไวท์ มีประสบการณ์น้อยในการทำธุรกิจ

          แต่หลายเรื่อง ก็เป็นการลองทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ

          หนึ่งในนั้น คือการตั้งทีมแข่งในนามบริษัทอย่าง Cervelo TestTeam ซี่งยุคนั้นไม่เคยมีแบรนด์จักรยานไหนเคยทำมาก่อน

          เหตุผลจาก ฟรูเมน คือแม้ความร่วมมือกับทีม CSC จะประสบความสำเร็จด้วยดี (ทีมขยับจากอันดับ 14 ขึ้นมาเป็นทีมระดับหัวแถวของโลก ด้วยผลงานของนักแข่งอย่าง ฟาเบียน กานเซยารา และ การ์ลอส ซาสเตร)

          แต่ปัญหาคือ ยิ่งทีมจักรยานผลงานดีเท่าไหร่ โอกาสจะปล่อยตัวนักแข่งมาทดสอบจักรยานให้ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากมากขึ้น

          การทดลองตั้ง TestTeam จึงมีขึ้นเพื่อตัดปัญหานี้ แม้สุดท้าย จะมีปัญหาเรื่องการเงิน จนต้องปรับแนวทางไปจับมือกับ Garmin และเปลี่ยนชื่อเป็น Garmin-Cervelo ตอนต้นทศวรรษ 2010 ฟรูเมน ก็ยังเชื่อว่านี่คือประสบการณ์ที่ดีที่ตนกับทีมงานได้เรียนรู้

 

หนทางใหม่ เมื่อทุกคนเท่าทัน
ฟรูเมน เชื่อว่าความสำเร็จของ Cervelo ในทุกวันนี้ มาจากปรัชญาที่เน้นความเป็นที่สุด โดยไม่ได้คิดเรื่องการตลาด / ภาพจาก Pedal Magazine

          แม้จะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัว ก็ถึงเวลาแยกย้าย

          ฟรูเมน แยกตัวออกไปก่อน แต่ยังกลับมารับบทบาทที่ปรึกษาให้บริษัทเป็นระยะ

          ขณะที่ ไวท์ ตกลงขายบริษัทฯ ให้เครือ Pon Holdings ยักษ์ใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ ที่มีแบรนด์อื่น อย่าง Raleigh, Focus และ Santa Cruz อยู่ในมือ แต่ยังรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม (ซีไอโอ) ต่อมาอีกหลายปี กระทั่งลาออกในปี 2017

          การอำลาบริษัทของสองผู้ก่อตั้งเป็นการจากกันด้วยดี ขณะเดียวกัน ก็เปิดทางให้บริษัทก้าวสู่ยุคใหม่ที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นด้วย

          Cervelo ในยุคที่ไร้เงาของสองผู้ก่อตั้ง ยังไม่ละทิ้งแนวคิด engineering-first ที่ ไวท์ กับ ฟรูเมน วางแนวทางไว้

          แต่ในปัจจุบัน เมื่อบริษัทอื่น ๆ เริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีแบบเดียวกันได้ และสร้างเฟรมจักรยานที่เบาและเร่งความเร็วมาแข่งขันในตลาด ความได้เปรียบมหาศาลที่ Cervelo เคยมี ก็ค่อย ๆ ลดลงไปด้วย

          การปรับตัวของ Cervelo คือหันมาเน้นองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพในการขับขี่ เพื่อให้นักปั่นรู้สึกดี และสบายขึ้น มากกว่าแค่เรื่องของความเร็วเพียงอย่างเดียว

          แม้ปัจจุบันคู่แข่งจะพัฒนาขึ้นมามากแล้ว แต่ในการแข่งขันไตรกีฬาระดับโลกอย่าง Ironman สถิติยังบ่งบอกว่าผู้เข้าแข่งขันส่วนใหญ่ ยังวางใจ Cervelo เป็นหลัก

          ฟรูเมน ซึ่งปัจจุบันแยกตัวมาก่อตั้งแบรนด์ของตัวเองในชื่อ Open Cycle เล่าว่าในตอนเริ่มต้น ตนกับ ไวท์ คิดแค่ว่าทำยังไง ถึงจะสร้างจักรยานที่ดีที่สุด เร็วที่สุด โดยไม่ได้คิดไปไกลถึงเรื่องการตลาดหรือความนิยมอะไรทั้งสิ้น

          ขณะที่ ไวท์ ก็ยอมรับว่า ณ ตอนนั้น ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ Cervelo สร้างขึ้น จะพาบริษัทและวงการจักรยานมาถึงจุดนี้ได้

          ในวันที่แอโรไดนามิคกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับจักรยาน ทั้งในการแข่งขันและการขับขี่ทั่วไป ทั้งที่ในวันที่ทั้งสองคนเริ่มต้นนั้น แนวคิดเรื่องเฟรมคาร์บอน ยังเป็นเรื่องตลกสำหรับผู้ผลิตจักรยานทั่วโลกด้วยซ้ำ

--------------------
SOURCE