posttoday

Did you know? จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนโลก? แล้วเราจะมีทางแก้แบบไหน?

20 มกราคม 2565

อุกกาบาตพุ่งชนโลก วันโลกาวินาศยอดนิยมในโลกภาพยนตร์ แท้จริงโอกาสเกิดขึ้นในความจริงมีมากแค่ไหน? ที่ผ่านมาเคยมีอุกกาบาตตกครั้งใดที่ถูกกล่าวขาน? และหากเกิดเรื่องนี้ขึ้นจริงมนุษยชาติจะเอาตัวรอดเช่นไร? วันนี้เรามาหาคำตอบกัน

          วันที่ 18 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา อุกกาบาต หรือ ดาวเคราะห์น้อย 1994 PC1 ได้เคลื่อนเข้ามาใกล้โลก เป็นอุกกาบาตที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1,052 กิโลเมตร ในระดับความเร็ว 68,800 กิโลเมตร/ชั่วโมง จัดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่อาจเป็นอันตราย แต่สามารถผ่านพ้นไปได้อย่างปลอดภัยโดยที่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อโลกเรา

 

          แต่นั่นย่อมทำให้เกิดคำถามตามมาว่าวันหนึ่งหากดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลกจริงๆ แบบในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น  Armageddon(1998), Greenland(2020) หรือล่าสุด Don’t look up(2021) อาจทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า สรุปแล้วอุกกาบาตชนโลกมันเป็นไปได้จริงแค่ไหน? และหากมันเกิดขึ้นเราจะตายกันหมดแบบในหนังไหม?
Did you know? จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนโลก? แล้วเราจะมีทางแก้แบบไหน? มหาวินาศจากภัยอุกกาบาตมีโอกาสเกิดจริงแค่ไหน?
          ถ้าจะให้พูดมันคือสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังเคยเกิดขึ้นมาแล้วในหน้าประวัติศาสตร์ อันที่จริงทุกวันนี้เราก็ได้ยินข่าวเหตุการณ์อุกกาบาตตกใส่อยู่บ่อยครั้งในหลายปะเทศ บ้างก็ตกลงบนที่สาธารณะ บางส่วนก็ตกลงบนสวนหน้าบ้าน ตกทะลุผ่านหลังคา หรือแม้แต่ตกใส่เตียงที่กำลังนอนอยู่ยังมี

 

          แต่ถามว่าโอกาสในการเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงจากอุกกาบาตพวกนี้เป็นไปได้เพียงไร คงต้องตอบว่าโอกาสเป็นไปได้ไม่สูงนัก ด้วยธรรมชาติของดาวเคราะห์น้อยในอวกาศล้วนเคลื่อนที่ไปในอวกาศ จากแรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วงในระบบสุริยะ ทำให้มีอุกกาบาตเคลื่อนเฉียดใกล้โลกราว 5 – 6 ลูกต่อเดือนอยู่แล้ว

 

          การที่อุกกาบาตเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อโลก จะต้องมีขนาดใหญ่พอจะฝ่าชั้นบรรยากาศ เพราะบางส่วนแม้หลุดเข้ามาก็จะถูกชั้นบรรยากาศโลกเผาไหม้ตั้งแต่อยู่กลางอากาศ รวมถึงต้องมีวงโคจรตัดเข้ามาบนโลก ทำมุมองศาที่จะตกลงมาเท่านั้นจึงสามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงได้

          อุกกาบาตที่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่โลกจนต้องเฝ้าระวังจริงๆ จะมีขนาดตั้งแต่ 1 กิโลเมตรขึ้นไป เหมือน 1994  PC1 ที่เพิ่งเฉียดผ่านโลก หากพุ่งเข้ามาในวงโคจรหรือมุมที่ตกลงมาอาจสร้างความเสียหายต่อโลกได้เป็นวงกว้าง เพราะเมื่อครั้งที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ อุกกาบาตเจ้าปัญหาที่เป็นต้นเหตุในครั้งนั้นก็มีขนาดราว 10 กิโลเมตรเท่านั้น

 

          นั่นทำให้อุกกาบาตที่หล่นลงมาสู่พื้นโลกปัจจุบันส่วนมากเป็นขนาดเล็กเท่ากำปั้นเป็นหลัก เหมือนที่มีข่าวอุกกาบาตตกทะลุหลังคาตกลงบนเตียงนอนของ รูธ แฮมิลตัน ในประเทศแคนาดา และตกลงบนสวนหน้าบ้านของ โจชัว ฮูตากาลัง ในประเทศอินโดนีเซีย ล้วนแต่เป็นอุกกาบาตขนาดเล็กที่มีน้ำหนักไม่กี่กิโลกรัม

 

          อีกทั้งการเสียชีวิตด้วยอุกกาบาตประเภทนี้ยังมีความเป็นไปได้น้อยมาก จากการคำนวณคาดว่าโอกาสเป็นไปได้จริงมีเพียง 1 ใน 250,000 เท่านั้น ในการที่อุกกาบาตจะสามารถตกลงมาได้เหมาะเจาะใส่ใครสักคนจนเสียชีวิต เราจึงไม่จำเป็นต้องกังวลนักว่าจะเป็นผู้โชคร้ายจากเหตุการณ์นี้หรือไม่

 

          ในส่วนของโอกาสที่ความรุนแรงของอุกกาบาตที่โคจรใกล้โลกจะรุนแรงเทียบเท่าเมื่อ 66 ล้านปีก่อนนั้นยิ่งแล้วใหญ่ ด้วยโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นอีกคือ 1 ใน 100 ล้าน หรืออีกราว 34 ล้านปี จึงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก จึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมานั่งกังวลในเร็ววัน
ร่องรอยความเสียหายจาก 30 มิถุนายน 1908 ที่ยังเหลืออยู่บนโลก

โอกาสเกิดแม้น้อยนิดแต่ความร้ายแรงกลับมหาศาล ภัยจากอุกกาบาตนับจากอดีตสู่วันนี้
          อาจเป็นไปได้ยากในทางทฤษฎี แต่หากเกิดขึ้นจริงภัยพิบัติจากอุกกาบาตถือเป็นเรื่องร้ายแรง จึงทำให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่กล่าวขานหรือถูกนำไปแต่งเติมเนื้อหาเพื่อสร้างสื่อบันเทิง เพราะเป็นไปได้ว่าอาจนำมาสู่จุดจบของมนุษยชาติเข้าจริงๆ

          สิ่งพิสูจน์แนวคิดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ช่วงเวลายุคครีเทเชียส ในตอนที่โลกยังถูกปกครองด้วยไดโนเสาร์ อุกกาบาตพุ่งลงมาจากฟากฟ้าปะทะเข้ากับพื้นที่ อ่าวเม็กซิโก ในปัจจุบันรอยหลุมอุกกาบาตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังอยู่ โดยมีปากหลุมกว้างกว่า 200 กิโลเมตร และลึกลงไปถึง 20 กิโลเมตรเลยทีเดียว

 

          ขยับขึ้นมาหน่อยในสมัยอารยธรรมของมนุษย์ เหตุการณ์อุกกาบาตถล่มเองก็เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อ 3,600 ปีที่แล้ว ในโบราณสถานเมืองทัลล์-เอล-ฮัมมัม ประเทศจอร์แดน หรือที่รู้จักกันในคัมภีร์ไบเบิลคือ เมืองโซดอม แท้จริงอาจถูกอุกกาบาตถล่มใส่ด้วยความเร็ว 61,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเกิดการระเบิดขึ้นบนท้องฟ้าในระดับสูง 4 กิโลเมตรจากพื้นดิน

 

          ความรุนแรงของการระเบิดมากกว่านิวเคลียร์จากฮิโรชิม่ากว่า 1,000 เท่า สร้างอุณหภูมิมากกว่า 2,000 องศาเซลเซียส คลื่นกระแทกทำให้เกิดกระแสลม 1,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้ชาวเมืองกว่า 8,000 ชีวิตถึงแก่ความตาย พื้นที่ในรัศมีกว่า 22 กิโลเมตรล่มสลาย ถูกทำลายอย่างราบคาบจนกลายเป็นแดนร้างในพริบตา

 

          ถัดจากนั้นไปอีกหน่อยคือวันที่ 30 มิถุนายน 1908 พื้นที่แถบแม่น้ำพอดกาเมนนายา ทังกัสกา ประเทศรัสเซีย แสงจากการระเบิดแผ่ขยายจนสามารถเห็นได้จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระเบิดพื้นที่ 10 กิโลเมตรของป่าจนราบคาบ สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในรัศมีกว่า 70 กิโลเมตร แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีใครกล้าเข้าไปสำรวจในพื้นที่ กระทั่งในปี 1955 จึงมีนักวิทยาศาสตร์ค้นพบสะเก็ดอุกกาบาตที่ตกอยู่ และคาดว่ามันเคยมีอุณหภูมิสูงถึง 17 ล้านองศาเซลเซียสเลยทีเดียว

 

          ล่าสุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013 ดาวเคราะห์น้อย 2012 AD14 มีขนาดประมาร 17 เมตร และน้ำหนักกว่า 9,000 ตัน ที่เล็ดรอดการตรวจจับเข้าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ จนเกิดการระเบิดขึ้นในระดับความสูง 30 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหนือพื้นที่เมืองเชเลียบินสค์ ของรัสเซีย ด้วยความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นอี 500 กิโลตัน

 

          เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,200 คน ส่วนมากเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกเศษกระจกบาด ผลจากคลื่นกระแทกหลังการระเบิดเหนือน่านฟ้า สร้างความเสียหายต่ออาคาร 3,000 แห่ง เป็นพื้นที่วงกว้างถึง 6 เมือง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในรัสเซียและคาซัคสถานเลยทีเดียว
Did you know? จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนโลก? แล้วเราจะมีทางแก้แบบไหน?

ทางรอดของมนุษยชาติที่ในภาพยนตร์ก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว

          ได้เห็นกันไปแล้วว่าแม้จะยากแต่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นจริง ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พากันหาวิธีตรวจสอบดาวเคราะห์น้อยที่มีแนวโน้มเป็นอุกกาบาตตกลงมาบนโลก เพื่อเตือนภัยเฝ้าระวังแก่ทั่วทั้งโลกไม่ให้เกิดเรื่องร้ายแรงดังในอดีต รวมถึงคิดค้นวิธีป้องกันในกรณีอุกกาบาตเข้ามาซ้อนทับวงโคจรและจะตกลงมาบนโลกจริงๆ

 

          ในเดือนพฤศจิกายน 2021 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ(นาซา) ได้ปล่อยยานอวกาศที่ถูกใช้งานเพื่อป้องกันอุกกาบาตพุ่งชนโลกในภารกิจ Double Asteroid Redirection Test (DART) อาศัยการพุ่งชนเพื่อเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อย ไดมอร์ฟอส โดยการส่งยานอวกาศพุ่งชนใส่อุกกาบาตนี้ถูกเรียกว่า Kinetic impact

 

          แน่นอนเทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นทดสอบที่ต้องตรวจสอบผลลัพธ์กันต่อไป แต่นั่นช่วยให้เรามีความหวังว่าเมื่อมหันตภัยที่เคยคร่าชีวิตของไดโนเสาร์จนสูญสิ้น หรือเหตุการณ์ร้ายแรงแบบที่เคยเกิดในหน้าประวัติศาสตร์ขึ้นอีกครั้ง เราจะไม่ต้องพบความสูญเสียและการทำลายล้างแบบในอดีต

 

          อีกวิธีที่ได้รับการพูดถึงไม่แพ้กันสำหรับคอหนังคงรู้จักกันดี นั่นคือการทำตามหนัง Armageddon(1998) หรือการใช้ระเบิดนิวเคลียร์เพื่อทำลายอุกกาบาตก่อนพุ่งชนโลก การประเมินด้วยแบบจำลองบอกว่านี่อาจเป็นวิธีการที่สามารถเกิดขึ้นจริง แต่ควรถูกจัดเป็นหนทางสุดท้ายสำหรับแก้ปัญหาเมื่อไม่เหลือทางอื่น รวมถึงอุกกาบาตลูกนั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่จนเกินไป

 

          การกระทำนี้แม้ช่วยแก้ปัญหาได้จริงแต่ค่อนข้างเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องทำลายให้อุกกาบาตแตกละเอียด อีกทั้งยังสามารถทำได้กับดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 100 เมตรเท่านั้น เพราะสะเก็ดชิ้นส่วนจากการระเบิดจะยังคงพุ่งลงมาและสร้างความเสียหายให้แก่ผิวโลกได้เช่นเดิม

 

          ดังนั้นจากข้อสรุปการใช้ Kinetic impact ในการเบี่ยงวิถีอุกกาบาตออกไปจากโลกจึงน่าจะเป็นทางที่เหมาะสมกว่า

 

          ที่ผ่านมามีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่จำนวนมากที่ถูกค้นพบและประเมินว่าอาจพุ่งชนโลก เช่น อะโพฟิส หรือ 2002 NT7 แต่ทั้งหมดล้วนเฉียดผ่านโลกไปโดยปลอดภัย ดังนั้นเราจึงสามารถวางใจได้ว่าถ้าเกิดเหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลกแบบในหนัง นักวิทยาศาสตร์ย่อมต้องรู้ตัวและหาทางป้องกันล่วงหน้า และจะไม่ถูกละเลยแบบใน Don’t look up อย่างแน่นอน

--------------------

ที่มา