SWIFT คืออะไร? ทำไมจึงมีความสำคัญต่อรัสเซีย?
ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน มีความพยายามในการคว่ำบาตรรัสเซียเกิดขึ้นไม่ขาดสาย จุดหมายเพื่อยับยั้งการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน แต่เมื่อมาถึงการตัดรัสเซียออกจาก SWIFT หลายชาติในยุโรปกลับคัดค้าน อะไรทำให้เป็นแบบนั้น? เราจะมาหาคำตอบในบทความ
Highlight
- ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียขึ้นมากมาย โดยมีจุดหมายเพื่อยับยั้งความตั้งใจรุกรานของรัสเซียไม่ให้บานปลายไปกว่านี้
- หนึ่งในการคว่ำบาตรที่ถูกหยิบมาพูดถึงมากที่สุดคือ การตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ระบบเครือข่ายธนาคารขนาดใหญ่ที่เชื่อมทั้งโลกไว้ด้วยกัน และเป็นตัวผลักดันสำคัญในการค้าระหว่างประเทศปัจจุบัน
- ประเทศที่เคยถูกคว่ำบาตรเช่นนี้คือ อิหร่าน เพื่อต่อต้านโครงการพัฒนานิวเคลียร์ นำไปสู่การตกต่ำทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจอาหรับ บีบให้อิหร่านต้องยอมทำตามข้อตกลงเพื่อผ่อนคลายเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ
- แต่การทำเช่นนั้นกับรัสเซียไม่ได้ง่ายนัก เมื่อความผูกพันทางผลประโยชน์ระหว่างรัสเซียและชาติในยุโรปเข้มข้นจนตัดกันไม่ขาด หากฝืนทำย่อมเกิดความเสียหายร้ายแรงในระบบเศรษฐกิจ
- ทางรัสเซียเองแม้พยายามหาแนวทางรับมือหลากหลายเพื่อป้องกันเหตุการณ์นี้ล่วงหน้า แต่ทั้งหมดยังถูกไม่เป็นผลนักและยังจำเป็นต้องพึ่งพาระบบ SWIFT อยู่ดี จึงยังอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกทั้งสองฝ่าย
การส่งกำลังทหารเข้าสู่ยูเครนแม้รัสเซียจะถือเป็นเพียง ปฏิบัติการทางทหาร แต่แน่ชัดว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการรุกราน นั่นทำให้บรรดาชาติตะวันตกต่างออกมาเรียกร้องประณาม คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจใส่รัสเซียอย่างดุเดือด ภายใต้การต่อต้านสุดกำลังจากชาวยูเครนที่ฮึดสู้ทุ่มเทชีวิตปกป้องมาตุภูมิ
แน่นอนมาตรการในการคว่ำบาตรเกิดขึ้นหลายแนวทาง ทั้งการแบนธนาคารรวมถึงบุลคลากรชั้นนำของรัสเซียไม่ให้ยุ่งกับเงินทุนในต่างประเทศ, ตัดท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม 2, ขัดขวางการทำธุรกรรมของรัสเซียในประเทศต่างๆ แต่ที่จะสร้างผลกระทบให้ไม่แพ้กันหากเกิดขึ้นคือ การแบนรัสเซียออกจากระบบ SWIFT เพื่อให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก
สำหรับคนในสายธนาคาร การเงิน หรือทำธุรกรรมระหว่างประเทศอาจรู้จัก ใช้งาน รวมถึงคุ้นเคยกับระบบ SWIFT เป็นอย่างดี แต่สำหรับผู้ไม่เคยรู้จักระบบนี้มาก่อนอาจสงสัยว่า ระบบดังกล่าวคืออะไร? มีความสำคัญแค่ไหน? และการตัดออกจากระบบจะส่งผลกระทบใดต่อรัสเซียบ้าง? เราจะมาหาคำตอบต่อจากนี้กัน
SWIFT คืออะไร?
SWIFT มีชื่อเต็มว่า Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication หรือ สมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก เป็นระบบเครือข่ายทางการเงินขนาดใหญ่ระหว่างธนาคาร ถูกก่อตั้งขึ้นมานับแต่ปี 1973 มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศเบลเยี่ยม ทำหน้าที่เชื่อมการเงินทั่วโลกเข้าด้วยกัน
รูปแบบการทำงานของ SWIFT ไม่ใช่บริการทางการเงินโดยตรง ไม่มีธนาคาร ไม่มีระบบรับฝากเงินใดๆ เป็นแค่ตัวกลางในการสื่อสารด้านการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารทั่วโลก เป็นตัวกลางการสื่อสารช่วยให้การชำระเงินรวมถึงการโอนเงินเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วต่อธนาคารในแต่ละประเทศ
ปัจจุบันสถาบันทางการเงินในเครือที่รองรับ SWIFT มีมากกว่า 11,000 แห่ง ครอบคลุมการใช้งานรวม 200 ประเทศ(รวมประเทศไทย) มีการส่งข้อความไปมาในเครือข่ายรวมกว่า 40 ล้านครั้งต่อวัน เม็ดเงินสะพัดมีมูลค่ามากกว่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเวียนกันไปมาทั้งภายในหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนของนานาประเทศ
แม้มีสำนักงานใหญ่อยู่ภายในเบลเยี่ยมแต่ปัจจุบัน SWIFT ถูกกำกับดูแลร่วมระหว่างธนาคารแห่งชาติเบลเยี่ยมกับตัวแทนธนาคารกลางจากหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ จากแนวคิดการสร้างเครือข่ายที่ไม่ต้องการให้สถาบันแห่งใดแห่งหนึ่งผูกขาด และมีการบริหารร่วมกันจากหลากหลายประเทศ
แน่นอนสถาบันที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นตัวกลางระหว่างประเทศเช่นนี้ แท้จริงย่อมต้องวางตัวเป็นกลางไม่สมควรยุ่งเกี่ยวประเด็นความตึงเครียดจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ แต่อันที่จริง SWIFT เองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตมาแล้ว ก่อนที่จะถูกนำมาใช้กับรัสเซียในปัจจุบันเสียอีก
อาจฟังดูไม่ได้น่ากลัวในเมื่อระบบ SWIFT เป็นเพียงตัวกลางในการรับ-ส่งเงินผ่านธุรกรรมเป็นหลัก ต่อให้ไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้งานการทำธุรกรรมก็ยังสามารถดำเนินไปตามปกติ แต่เมื่อถูกตัดขาดจากระบบ SWIFT ระบบธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศจะติดขัดและหยุดชะงักไปทันควัน ดังตัวอย่างที่กำลังจะยกมานับจากนี้
การคว่ำบาตรของ SWIFT และผลกระทบที่ตามมา
ประเทศที่ถูกถอดออกจากระบบ SWIFT คือ อิหร่าน ในปี 2012 เป็นการคว่ำบาตรเพื่อต่อต้านโครงการนิวเคลียร์ เมื่อรวมกับมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินอื่นที่ธนาคารกลางอิหร่านประสบอยู่ก่อน ทำให้การแลกเปลี่ยนสกุลเงินอิหร่านเพื่อการค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างยากลำบาก
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้สกุลเงินเรียลอิหร่านอ่อนค่าไม่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก การค้าขายของอิหร่านจำเป็นต้องอาศัยตัวกลางอื่น เช่น ทองคำ ส่งผลให้การทำธุรกรรมหรือติดต่อซื้อขายทางการค้าติดขัด ไม่สะดวกต่อการซื้อขายชำระค่าสินค้าเหมือนเก่า ทำให้กำไรจากการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เป็นรายได้หลักลดลงกว่าครึ่ง กระทบรายได้ประเทศไปกว่า 30%
การตัดออกจากระบบ SWIFT ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ภายหลังข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 อิหร่านจึงมีโอกาสได้กลับสู่ SWIFT แต่ภายหลังปี 2018 ทางอิหร่านก็ทำการฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ นำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและตัดออกจากระบบ SWIFT อีกครั้ง แม้คราวนี้อิหร่านจะมีประสบการณ์ หาทางลดผลกระทบไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ทำให้กำไรจากการค้าขายในอิรักมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ฯถูกแช่แข็งตามไปด้วย
ล่าสุดอิหร่านยอมผ่อนปรนกลับมารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ ภายหลังสถานการณ์ระบาดของโควิดเข้าเล่นงานเกือบทุกอุตสาหกรรมบนโลก โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันภายหลังอัตราการใช้น้ำมันในโลกลดลงจนราคาน้ำมันในตลาดตกต่ำ น่าเสียดายที่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องยกเลิกการคว่ำบาตร รวมถึงนำอิหร่านกลับสู่ SWIFT แต่อย่างใด
การตัดรัสเซียออกจาก SWIFT เหตุใดหลายประเทศจึงลังเล?
เมื่อใช้งานได้ผลกับอิหร่านทำให้หลายชาติพากันออกเสียงว่าให้ใช้การคว่ำบาตรจาก SWIFT เล่นงานรัสเซีย น่าจะช่วยกดดันทางเศรษฐกิจให้ทางรัสเซียกลับมาเปิดการเจรจาได้อีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับไม่ง่ายเมื่อหลายประเทศในยุโรปผู้มีบทบาทการตัดสินใจต่อระบบ SWIFT ไม่เห็นด้วยในมาตรการนี้
อันที่จริงความพยายามในการใช้มาตรการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ในปี 2014 อังกฤษเคยผลักดันให้อียูแบนรัสเซียจากการใช้งานระบบ SWIFT เพื่อประท้วงจากการยกทัพเข้าสู่ภูมิภาคดอนบาสของยูเครนนำไปสู่การผนวกไครเมีย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อรัสเซียระบุว่า การตัดรัสเซียออกจากระบบคือการประกาศสงคราม
การตัดรัสเซียออกจาก SWIFT จะสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อการทำธุรกรรมไม่สามารถดำเนินผ่าตัวกลางได้ ระบบที่เคยทำงานได้ราบรื่นหายไปการทำธุรกรรมอาจเกิดการติดขัดหรือชะงัก ทางธนาคารรัสเซียต้องจัดการธุรการเหล่านี้โดยตรง นำไปสู่ความล่าช้าและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของรัสเซียโดยตรง
แน่นอนมันทำให้รายได้ของรัสเซียหดตัว แต่เมื่อเป็นเช่นนี้การซื้อขายกับรัสเซียจะทำได้ยากขึ้น สร้างผลกระทบร้ายแรงแก่ยุโรปโดยเฉพาะสินค้าด้านพลังงาน ผลกระทบจะไม่ได้เกิดแค่รัสเซียแต่ส่งผลกระทบไปถึงประเทศคู่ค้าภายในยุโรปทั้งหลาย ซึ่งเรื่องยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นอีกเมื่อรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายหลักในสหภาพยุโรป
หากระบบ SWIFT ถูกตัดขาดจากรัสเซีย ผลกระทบจะทำให้การซื้อขายพลังงานของชาติในยุโรปทำได้ยากขึ้น อีกทั้งการจัดหาแหล่งพลังงานทดแทนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อยุโรปในช่วงเวลานี้ที่กำลังอยู่ในช่วงฤดูหนาว ความต้องการใช้พลังงานหล่อเลี้ยงมีแต่จะสูงขึ้น ทำให้หลายชาติโดยเฉพาะเยอรมนีที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียไม่เห็นด้วยกับทางเลือกนี้
หนทางรับมือของรัสเซีย ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ
ดังที่บอกไปว่านี่ไม่ใช่มาตราการที่ถูกหยิบมาพูดถึงครั้งแรก ความจริงมันคือเรื่องที่เกือบจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 แม้รัสเซียจะแสดงความไม่พอใจแต่ก็ต้องหาทางรับมือ โดยเฉพาะเมื่อมีตัวอย่างให้เห็นจากอิหร่าน ที่ถูกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเล่นงานจนต้องยอมชาติตะวันตกในที่สุด
หนึ่งในมาตรการรองรับชิ้นสำคัญคือการเกิดขึ้นของ National Payment Card System(Mir) เป็นระบบโอนเงินข้ามประเทศที่จัดตั้งและบริหารด้วยธนาคารกลางแห่งรัสเซีย ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2017 มีจุดประสงค์คือเป็นตัวกลางใหม่ใช้งานภายในระบบเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ฟังดูดีน่าเสียดายที่ปัจจุบันการใช้งานระบบนี้ยังไม่แพร่หลาย มีประเทศที่ยอมรับระบบ Mir นี้มาใช้งานเพียงไม่กี่ประเทศ ปัจจุบันนอกจากรัสเซียก็จะมี อาเมเนีย, เซาท์ออสซีเชีย, อับคาเซีย, ตุรกี, อุซเบกิสถาน, สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บัลแกเรีย และประเทศไทย อีกทั้งยังเริ่มมีการทดลองใช้ใน สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ รวมถึงอินเดีย
แน่นอนว่าด้วยการริเริ่มก่อตั้งขึ้นไม่นานนับเป็นเวลาเพียง 5 ปี จำนวนประเทศสมาชิกที่ใช้งานระบบนี้ยังน้อย นั่นทำให้ Mir ไม่ถือเป็นทางเลือกสำรองที่สามารถทดแทน SWIFT ได้ในปัจจุบัน แม้ทางรัสเซียจะพยายามผลักดันแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จพออยู่ดี
แนวทางการรับมืออีกวิธีคือใช้การค้าขายประเทศนอกจากระบบ SWIFT ทดแทน ผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มนี้คือจีนที่มีระบบการชำระเงินเบ็ดเสร็จเป็นของตัวเอง กระนั้นก็คงไม่สามารถทดแทนกำลังซื้อจากชาติตะวันตกที่ขาดตอน หากรัสเซียถูกตัดออกจาก SWIFT แบบอิหร่าน ย่อมสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่งเศรษฐกิจรัสเซียไม่แพ้กัน
นั่นทำให้ปัจจุบัน SWIFT จึงเป็นทางเลือกสุดท้ายในการเล่นงานรัสเซีย เพราะผลที่ตามมาย่อมเจ็บหนักทั้งสองฝ่าย
จากแนวโน้มในปัจจุบันการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT จึงยังไม่เกิดขึ้น กระนั้นสถานการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ทั้งจากฝั่งชาติในยุโรปหรือทางฝั่งรัสเซียเอง สองตัวแปรสำคัญคงเป็นทิศทางของสองคู่ขัดแย้งนับจากนี้ว่า ทั้งคู่จะดำเนินนโยบายไปทิศทางใด และส่งผลกระทบต่อโลกนับจากนี้อีกขนาดไหน
ที่มา
https://www.bbc.com/thai/international-60530552
https://www.voicetv.co.th/read/33898
https://www.xinhuathai.com/inter/74566_20200130
https://www.bangkokbiznews.com/world/945063
https://uza.uz/en/posts/uzcard-and-mir-agreed-on-issuing-co-badged-cards-29-03-2019