ครั้งแรกในรอบ 130 ปี! ภูเขาไฟฟูจิไร้หิมะปกคลุมในฤดูหนาว
ญี่ปุ่นรับผลกระทบจากวิกฤต Climate change เมื่อแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศอย่าง “ภูเขาไฟฟูจิ” ไร้หิมะปกคลุมในฤดูหนาวเป็นครั้งแรกในรอบ 130 ปี
ญี่ปุ่นรับผลกระทบจากวิกฤต Climate change เมื่อแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศอย่าง “ภูเขาไฟฟูจิ” ไร้หิมะปกคลุมในฤดูหนาวเป็นครั้งแรกในรอบ 130 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วหิมะแรกของญี่ปุ่นจะเริ่มปกคลุมภูเขาไฟฟูจิในวันที่ 2 ตุลาคม ขณะที่ในปีที่ผ่านมา สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นรายงานว่าหิมะแรกปกคลุมภูเขาไฟฟูจิในวันที่ 5 ตุลาคม และละลายหายไปในเวลาเพียงหนึ่งเดือนจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น
ชินอิจิ ยานากิ เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นโคฟุ (หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประกาศว่าหิมะแรกได้ปกคลุมภูเขาไฟฟูจิแล้ว ซึ่งหน่วยงานจะประกาศให้ประชาชนได้รับทราบทุกปีนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1894) อธิบายสาเหตุที่ภูเขาไฟฟูจิยังไร้หิมะปกคลุมว่า เป็นเพราะอุณหภูมิในญี่ปุ่นยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ฤดูร้อนยังคงกินเวลาอย่างยาวนานสลับกับมีฝน จึงทำให้ในปี 2024 นี้ ญี่ปุ่นยังไม่ได้สัมผัสกับหิมะแรก ขณะเดียวกันยังมีเมืองอีก 74 แห่งเป็นอย่างน้อยที่อุณหภูมิทะลุ 30 องศาเซลเซียสในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม
ปี 2024 นับเป็นปีแห่งการทำลายสถิติของญี่ปุ่นในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นปีที่อุณหภูมิในฤดูร้อนสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 1898 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมสูงกว่าระดับปกติถึง 1.76 องศาเซลเซียส
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับภูเขาไฟฟูจิ สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ในระดับโลก ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตดังกล่าวคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและปรากฏการณ์เอลนีโญ
แม้ภูเขาไฟฟูจิกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาด้านอื่นๆ มากกว่า เช่น ปัญหานักท่องเที่ยวล้นภูเขาไฟฟูจิ จนต้องออกมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางขึ้นไปสัมผัสกับภูเขาไฟฟูจิในราคา 2,000 เยนต่อคน และจำกัดการเข้าชมที่ 4,000 คนต่อวัน
ทั้งนี้ ภูเขาไฟฟูจิ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ด้วยความสูง 3,776 เมตร ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น และการที่หิมะตกช้าลงนั้นย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจท้องถิ่น แหล่งน้ำ และระบบนิเวศโดยรวม