posttoday

ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่ฆ่าได้แม้แต่เชื้อที่ดื้อยา

27 กรกฎาคม 2565

เราทราบกันดีว่าเชื้อแบคทีเรียทวีความเก่งกาจขึ้นทุกวัน ภายหลัง Colistin ยาปฏิชีวนะตัวสุดท้ายเกิดการดื้อยาในปี 2016 หลายคนหวาดกลัวว่าจะกลายเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ ด้วยไม่เหลือยาปฏิชีวนะไว้รับมือ แต่การค้นพบครั้งใหม่จะเปลี่ยนความเข้าใจนั้นไปโดยสิ้นเชิง

หนึ่งในปัญหาหนักใจประการสำคัญในวงการแพทย์และเวชศาสตร์คือ การดื้อยาของเชื้อโรคและแบคทีเรียทั้งหลาย เมื่อยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อที่เรารู้จักกันเริ่มได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ เป็นผลจากเชื้อเริ่มกลายพันธุ์และวิวัฒนาการตัวเองเพื่อให้ต้านทานยาชนิดนั้นได้ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ การดื้อยา

 

          การดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียถือเป็นวาระร้ายแรง ข้อมูลจาก ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พบว่าประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยามากถึง 40,000 คนต่อปี นี่จึงเป็นปัญหาร้ายแรงที่เราไม่สามารถมองข้าม เพราะเป็นไปได้ว่าแนวโน้มสถานการณ์จะยิ่งทวีความรุนแรงในอนาคต

 

          แต่ก่อนอื่นคงต้องขยายความกันสักนิดว่า การดื้อยาคืออะไร? มีความร้ายแรงแค่ไหน?

ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่ฆ่าได้แม้แต่เชื้อที่ดื้อยา

การดื้อยาของเชื้อ ปัญหาหนักใจแก่วงการแพทย์

 

          การดื้อยา คือ ภาวะที่เชื้อแบคทีเรียมีคุณสมบัติในการต้านทานยาที่ได้รับ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาชนิดนั้นลดลง เมื่อเชื้อที่เกิดการดื้อยาเข้าไปในร่างกายทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อที่มีความอันตรายสูง เช่น ปอดบวม, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ

 

          สาเหตุของภาวะดื้อยานี้สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ยาของผู้ป่วย เมื่อเกิดการเจ็บป่วยและซื้อยามากินเองทั้งที่บางครั้งไม่มีความจำเป็น กลายเป็นการใช้ยาเกินความจำเป็น อีกทั้งคนไข้บางส่วนอาจใช้ยาไม่ครบโดสหรือใช้ยามากเกินความจำเป็น นำไปสู่การทนทานยาของเชื้อกลายเป็นการดื้อยาในที่สุด

 

          นอกจากนี้อีกปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการดื้อยาคือ การจัดการกับยาหมดอายุหรือยาที่ไม่ใช้แล้วผิดวิธี เพราะหากนำไปฝังกลบหรือทิ้งลงสู่แหล่งน้ำแบบเดียวกับขยะทั่วไป ตัวยาจะปนเปื้อนไปตามธรรมชาติจนเกิดผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงคนเรา อีกทั้งเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติเองจะได้รับยาในปริมาณน้อย ทำให้สามารถพัฒนาตัวเองให้ทนฤทธิ์ยาอีกด้วย

 

          ปัจจุบันปัญหานี้ทวีความร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเชื้อแบคทีเรียเริ่มทยอยดื้อยาปฏิชีวนะที่ใช้ทำการรักษาไปทีละตัว ทำให้การรับมือโรคภัยของคนเราแคบลง แม้แต่ยา Colistin ที่ใช้ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียดื้อยาโดยเฉพาะยังเริ่มมีเชื้อที่สามารถต้านทานยาชนิดนี้ได้ในสหรัฐฯแล้วเช่นกัน

 

          นี่เป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้แก่แพทย์และวงการสาธารณสุขทั่วโลก ในการประชุมทางสาธารณสุขระดับโลกนี่ก็ถือเป็นหัวข้อสำคัญ จากข้อมูลคาดว่าในปี 2017 มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากการติดเชื้อดื้อยามากกว่า 700,000 รายต่อปี และอาจพุ่งไปถึง 10 ล้านคนภายในปี 2050 นี่จึงกลายเป็นอีกโจทย์สำคัญในวงการแพทย์

ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่ฆ่าได้แม้แต่เชื้อที่ดื้อยา

สู่แนวทางการสร้างยาปฏิชีวนะรูปแบบใหม่เพื่อรับมือการดื้อยา

 

          ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่เป็นผลงานจาก Rockefeller University โดยทำการสังเคราะห์ผ่านนระบบคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษายีนแบคทีเรีย โดยอาศัยการศึกษาโครงสร้างพันธุกรรมจากแบคทีเรียหลายชนิด เพื่อศึกษารูปแบบการกลายพันธุ์ของแบคทีเรียเมื่อเกิดการดื้อยา

 

          ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปใส่ระบบคอมพิวเตอร์จากนั้นจึงใช้อัลกอริทึมทำการจำลอง คาดคะเนโครงสร้างแบคทีเรียจากระบบ แล้วนำมาวิเคราะห์หาสารที่ส่งผลกับแบคทีเรียเหล่านี้ กลายเป็นโมเลกุลชนิดใหม่ชื่อว่า Cilagicin ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิด แม้แต่เชื้อที่เกิดการดื้อยาไปแล้วก็ตาม

 

          โดย Cilagicin จะมีคุณสมบัติในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของโมเลกุล C55-P และ C55-PP ที่อยู่ในผนังเซลล์แบคทีเรียชนิดต่างๆ เป็นต้นตอสำคัญทำให้แบคทีเรียสร้างคุณสมบัติต้านทานยาปฏิชีวนะขึ้นมา โดย Cilagicin จะเข้าไประงับการทำงานของทั้งสองโมเลกุลเพื่อให้แบคทีเรียไม่สามารถดื้อยาได้อีก

 

          นี่เป็นสาเหตุทำให้การค้นพบ Cilagicin มีความสำคัญ เมื่อยาปฏิชีวนะที่ผ่านมาแม้บางตัวจะสามารถเข้ายับยั้งโมเลกุลเหล่านี้ได้บ้างแต่ไม่สามารถทำได้พร้อมกันแก่ทั้งสองชนิด เมื่อโมเลกุลชนิดใหม่สามารถเข้าไปยับยั้งการทำงานลงสำเร็จ จึงเป็นไปได้สูงว่าอาจเพิ่มศักยภาพยาปฏิชีวนะแบบก้าวกระโดด

 

          โดยกลไกการทำงานของ Cilagicin สามารถใช้งานกับแบคทีเรียได้ทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่ MRSA ที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่โรงพยาบาลซึ่งมีคุณสมบัติดื้อยาปฏิชีวนะเป็นพิเศษ หรือแม้แต่ Clostridium difficile เชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากการรับยาปฏิชีวนะเข้าไปผิดวิธี และอาจมีส่วนช่วยผู้ป่วยติดเชื้อได้มีมากมายในอนาคต

 

          นอกจากการสร้างโมเลกุลเพื่อผลิตยาชนิดใหม่แล้ว อีกแนวทางในการรับมือกับเชื้อดื้อยาคือ ยับยั้งการผลิตโปรตีน CSP ของแบคทีเรียที่ใช้ในการจับดีเอ็นเอของสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยยาต้านอาการทางจิต ยาต้านจุลชีพ และยารักษามาลาเรีย สามารถทำให้เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae หยุดการกลายพันธุ์และไม่สร้างคุณสมบัติดื้อยาได้สำเร็จเช่นกัน

 

 

          แน่นอนแนวทางดังกล่าวยังเป็นเพียงสิ่งที่เกิดในห้องวิจัย การยับยั้งโปรตีน CSP ยังต้องได้รับการทดสอบกับเชื้อชนิดอื่นเพิ่มเติม เช่นเดียวกับ Cilagicin ที่แม้ได้ผลราบรื่นภายในห้องทดลอง แต่ยังต้องผ่านการทดสอบอีกมากรวมถึงการทดลองในมนุษย์ เพื่อดูผลลัพธ์และผลข้างเคียงออกมาก่อนวางจำหน่าย

 

          แต่นี่ก็เป็นก้าวสำคัญในการต่อกรกับเชื้อดื้อยา ช่วยให้คนไข้ติดเชื้อกลับมามีความหวังรับมือแบคทีเรียในอนาคต

 

         

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.hfocus.org/content/2021/11/23811

 

                    https://www.pobpad.com/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2-%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88

 

                            https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/392/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87/

 

          https://www.dettolthailand.com/common-infections/germs-bacteria-viruses/mrsa/

 

          https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=40

 

          https://interestingengineering.com/a-novel-synthetic-antibiotic-can-kill-even-drug-resistant-bacteria