posttoday

Oho! สตาร์ทอัพไทยสุดเจ๋ง กับการพัฒนาแอปฯ ลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

26 กรกฎาคม 2565

Food waste หนึ่งในปัญหาปากท้องที่มักโดนมองข้ามและสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว ‘Oho!’ แอปฯ สตาร์ทอัพสัญชาติไทยจึงพัฒนาแอปฯที่ทุกคนช่วยกันแก้ปัญหาได้ง่ายๆ ที่จะสร้างประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย นอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ราคายังเป็นมิตรอีกด้วยนะ

          ราคาอาหารแพงและปัญหาปากท้องในตอนนี้ คงพูดได้เต็มปากว่าทำเอาชาวเราเข้าขั้น ‘อ่วม’ ไปตามๆกัน การตามล่าหาสินค้าราคาถูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องอาหารถือเป็นอะไรที่ชาเลนจ์และแอดเวนเจอร์มากในจุดนี้ ซึ่งหลายครั้งเรามักติดปัญหาเรื่องค่าเดินทางที่คำนวนดูแล้วอาจแพงกว่าค่าข้าว1มื้อเสียอีก หรือถ้าไม่ติดเรื่องนี้ก็อาจเจอปัญหาที่ว่าไปไม่ทัน คนอื่นเขาสอยของเซลล์กันไปหมดแล้ว นอกจากจะเสียค่ารถไปฟรีๆ ยังเสียเวลาเพิ่มไปอีก ทางสตาร์ทอัพไทยที่เล็งเห็นปัญหานี้ จึงพัฒนาแอปพลิเคชั่น ‘Oho!’ ขึ้นมา ที่จะช่วยตอบโจทย์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และที่สำคัญยังช่วยเซฟเงินในกระเป๋าแถมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวอีกด้วย

Oho! สตาร์ทอัพไทยสุดเจ๋ง กับการพัฒนาแอปฯ ลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

การแก้ปัญหาแบบ วิน-วิน-วิน 

          ธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเผชิญกับปัญหา ‘อาหารเหลือทิ้ง’ หรือ ‘Food waste’ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะมียอดขายทะลุเกินคาดมากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งแม้ว่าจะติดป้ายเหลืองลดแหลกแจกแถมทั้งทางออนไลน์และหน้าร้านแค่ไหนก็ยังแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้สักที ทางด้านค่านิยมของไทยเองก็เน้นการซื้อแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด การเกิดขยะอาหารจำนวนมากจึงดูไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ รวมถึงระบบการจัดการขยะที่ไม่ดีพอของไทย ทำให้ความสามารถในการรีไซเคิลอาหารไปใช้ประโยชน์ต่อ สามารถทำได้แค่เพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

          Oho!’ แอปพลิเคชั่นสัญชาติไทยที่เข้ามาในเวลานี้กับแนวคิดเพื่อให้ลูกค้าได้อาหารคุณภาพดี ราคาประหยัด ร้านค้าไม่มีสินค้าเหลือทิ้ง ลดต้นทุน แถมยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปได้ในเวลาเดียวกัน คาดว่าจะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้พอสมควร 

 

 

 

          คุณสมิทธ์ ชัยชาญชีพ หนึ่งใน Co-Founder ของ Oho! วางโมเดลธุรกิจนี้ไว้ว่าต้องการให้เป็น Win-Win-Win solution สำหรับทุกฝ่าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือจากเคสของร้านโดนัท ที่ต้องอบสินค้าใหม่ตลอด เพื่อรักษาให้มีความสดใหม่อยู่เสมอ แต่เมื่ออบออกมาเยอะเกินความต้องการซื้อ สินค้าที่เหลือก็ต้องนำไปทิ้ง แต่หากเอามาลงขายผ่านแอปพลิเคชั่น Oho! โดยลดราคาลง 25-70 เปอร์เซ็นต์ ก็จะช่วยให้ไม่ต้องเกิดสินค้าเหลือทิ้ง แถมผู้บริโภคยังสามารถหยิบจับได้ในราคาถูกลง

 

          อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจคือความต้องการที่จะเป็น Tech Solution หรือ Food Surplus เพื่อแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน และต่อยอดการพัฒนาตัวแพลตฟอร์มที่จะช่วยส่งเสริมสินค้าและอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่าน Sustainable Food Outlet แพลตฟอร์ม ที่เหมือนเป็นสะพานเชื่อมร้านอาหารเข้ากับผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Oho! สตาร์ทอัพไทยสุดเจ๋ง กับการพัฒนาแอปฯ ลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

          สำหรับการใช้งานของตัวแอปฯนั้น ไม่ต่างไปจาก Food Delivery เจ้าอื่นสักเท่าไหร่นักที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Andriod และ iOS มีทั้งบริการจัดส่งถึงบ้าน ทานที่ร้าน หรือจะเลือกเข้าไปรับเองก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากจะเลือกใช้บริการแบบจัดส่งถึงบ้าน ค่าส่งจะเริ่มต้นที่ 15 บาท แต่หนึ่งในความพิเศษของหน้าแอปฯคือหมวด ‘Oho Suprise Box’ ที่เป็นเหมือนกล่องสุ่ม ให้ทางร้านเลือกจะส่งเมนูไหนมาให้เราก็ได้ ตัดปัญหาโลกแตกว่าเย็นนี้จะกินอะไรดี? แต่ด้วยความที่แอปฯยังถือว่าเป็นหน้าใหม่ในตลาด เมนูของแต่ละร้านยังคงมีให้เลือกน้อยและพื้นที่ในการจัดส่งอาจครอบคลุมแค่บางเขตเท่านั้น

 

Oho! สตาร์ทอัพไทยสุดเจ๋ง กับการพัฒนาแอปฯ ลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

ปัญหา Food Waste กับสิ่งแวดล้อม

          ตามคำนิยามของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แล้ว ‘ขยะอาหาร’ หรือ ‘Food waste’ หมายถึง การสูญเสียอาหารในตอนปลายของห่วงโซ่อาหาร (ขั้นตอนการขายปลีกและการบริโภค) ซึ่งเชื่อมโยงไปยังพฤติกรรมของผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และการบริโภค นอกจากนี้ สถิติตัวเลขที่น่าตกใจจาห FAO ยังชี้ว่า แต่ละปีทั่วโลกมีขยะจากอาหารที่ถูกทิ้งเกือบ 1.3 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั้งปี ในทางกลับกันกลุ่มคนที่ขาดแคลนอาหารก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสงสัยว่าในเมื่อเกิด Food waste มากขนาดนี้ ทำไมในบางพื้นที่ยังเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร?

 

          นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ‘พศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์’ ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการ ‘Over production’ หรือการผลิตอาหารออกมามากเกินไป ซึ่งเราสามารถเห็นได้ตามร้านอาหารขนาดใหญ่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคภาคครัวเรือนบางส่วน ที่ชอบซื้อของมากเกินความจำเป็น 

 

          นอกจากนี้โปรโมชั่นเพื่อสนับสนุนการขายจากภาคการตลาดก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหยิบจ่ายใช้สอยมากเกินกว่าความจำเป็น แต่กลุ่มคนที่สามารถใช้จ่ายแบบนี้ได้ ก็ต้องเป็นระดับชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น

 

          ในอีกมุมหนึ่ง จำนวนคนยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานแม้กระทั่งอาหารได้นั้น เกิดจากการเกลี่ยสัดส่วนอาหารที่ยังทำได้ไม่ดีพอ ความสามารถในการเข้าถึงอาหารจึงค่อนข้างต่ำ และทำให้เกิด Food waste เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆทุกปี

 

          ผลกระทบจาก Food waste แท้จริงแล้วส่งผลต่อชีวิตเรามากกว่าที่คิด สำนักข่าว Al Jazeera กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขยะจากเศษอาหารทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 8% ซึ่งมีผลกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยรวมของโลก ผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกแปรรูปแล้วเหลือทิ้งก็ส่งผลให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นด้วย

 

          นอกจากนี้ ขยะจากการทำการเกษตร และการขุดบ่อเลี้ยงปลา ได้กลายเป็นการสร้างพื้นที่ปิดให้กับระบบนิเวศทางน้ำ สายใยอาหารหรือ food web ถูกเปลี่ยนแปลง และจะส่งผลกระทบต่อวงจรอาหารในระยะยาวได้

 

Oho! สตาร์ทอัพไทยสุดเจ๋ง กับการพัฒนาแอปฯ ลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

โมเดลธุรกิจที่แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

          ทางด้านตัวคุณสมิธเองเคยทดลองใช้แอปฯที่มีไอเดียคล้ายๆกันนี้ที่สหราชอาณาจักร แต่ต้องยอมรับว่าโมเดลธุรกิจเพื่อแก้ปัญหา Food waste ของไทยและของนอก มีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ที่ทางเรามักเป็นอาหารปรุงสดมากกว่าพวกเบเกอรี่ รวมถึงวิธีการรับสินค้าที่ในต่างประเทศมักใช้วิธีการจองก่อนแล้วเข้าไปรับทีหลัง แต่วิถีชีวิตคนกรุงในบ้านเราไม่เป็นแบบนั้น บางทีจองแล้วไม่สะดวกไปรับ หรือฟีลเปลี่ยนอยากไปกินข้าวนอกบ้านบ้าง ซึ่งความไม่แน่นอนมีอยู่ให้เห็นสูงมาก การออกแบบธุรกิจให้ออกมาสอดคล้องกับบริบทในไทยจึงมีความท้าทายอยู่พอสมควร การให้บริการแบบ Delivery และ On demand มาเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายถือเป็นสิ่งที่ช่วยชูประสบการณ์ของผู้ใช้และบริบทแบบไทยๆได้เป็นอย่างดี

 

          การวางแผนแก้ปัญหา Food waste ของ Oho! วางระบบไว้อย่างครบวงจรทั้งจากต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น ในบางฤดูกาลที่ผลผลิตทางการเกษตรมีมากจนล้นตลาด ราคาดิ่งฮวบ หรือส่งออกไม่ได้ Oho! กำลังเร่งเตรียมโมเดลที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาต้นน้ำนี้ในอนาคต

 

          ส่วนทางตัวแอปพลิเคชั่นถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำแล้วที่ช่วยให้ร้านอาหารได้ทำโปรโมชั่น เพิ่มยอดขาย ลดต้นทุนจากการลดปริมาณวัตถุดิบที่มีมากเกินความจำเป็น ในขณะที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโปรโมชั่น ได้ง่ายและซื้อได้ทันทีในราคาประหยัด แถมยังมีโครงการกับพาร์ทเนอร์ที่จะรวบรวมวัตถุดิบที่มีปริมาณมากเกิน จากโรงงานและฟาร์มมาปรุงอาหารยัง Cloud Kitchen เพื่อแจกจ่ายและจำหน่ายให้กับชุมชนในราคาไม่เกิน 20 บาท เพื่อแก้ปัญหา Food Surplus (อาหารที่เกินจากความต้องการ แม้บริโภคต่อได้แต่คนส่วนใหญ่เลือกจะทิ้ง) และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับสังคมโดยรวม

 

          ในปัจจุบันมีร้านค้าที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมกับ Oho! กว่า 400 แบรนด์ เช่น Flash Coffee, บุญตงกี่, ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่าง Gourmet Market ร้านเบเกอรี่ยอดนิยมอย่าง Tiengna Viennoiserie, Yellow Spoon และร้านอาหารจากโรงแรมในเครือ Centara และ Marriott ซึ่งการเติบโตนี้ทางผู้พัฒนามองว่า

 

          “เราไม่ได้แค่สร้างแอปพลิเคชัน แต่เราอยากจะสร้าง Movement เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมและผลักดันไปด้วยกัน”