‘ไฟเบอร์ล่องหน’ ที่จะช่วยให้การกินเค้กหรือพิซซ่าเฮลตี้มากกว่าเดิม
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย RMIT หนึ่งในมหาวิทยาลัยตัวท็อปด้านเทคโนโลยีจากออสเตรเลียที่ได้คิดค้น ‘ไฟเบอร์ล่องหน’ ซึ่งสามารถเติมลงในอาหารได้โดยไม่ส่งผลต่อรสชาติ สี หรือเนื้อสัมผัส ทำให้การกินเค้ก พิซซ่า หรือเบเกอรี่ของเราเฮลตี้มากกว่าเดิม!
เชื่อว่าหลายคนในที่นี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจประจำวันไม่ว่าจากการเรียน หรือการทำงาน การได้กลับบ้านแล้วทานอาหารอร่อยๆ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องชุบชูจิตวิญญาณอันเหนื่อยล้า ความสุขเกิดขึ้นทันตาหลังจากได้ลิ้มรสเมนูอันโอชะ แน่นอนว่าอาหารย่อมมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ของที่ดีต่อสุขภาพและอุดมไปด้วยไฟเบอร์ส่วนใหญ่มักไม่อร่อย ส่วนของอร่อยก็ไม่ดีต่อสุขภาพ
แต่ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย RMIT หนึ่งในมหาวิทยาลัยตัวท็อปด้านเทคโนโลยีจากออสเตรเลียที่ได้คิดค้น ‘ไฟเบอร์ล่องหน’ ซึ่งสามารถเติมลงในอาหารได้โดยไม่ส่งผลต่อรสชาติ สี หรือเนื้อสัมผัส ทำให้การกินเค้ก พิซซ่า หรือเบเกอรี่ของเราเฮลตี้มากกว่าเดิม!
‘FiberX’ ไฟเบอร์ล่องหน
ไฟเบอร์ล่องหนที่ทาง RMIT คิดค้นขึ้นมามีชื่อว่า ‘FiberX’ ซึ่งผลิตมาจาก ข้าวสาลี ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งเจ้านวัตกรรมด้านอาหารนี้ไม่ได้มีความแตกต่างจากไฟเบอร์ที่ได้จากพืชผัก อันเป็นสารอาหารที่สำคัญและให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น
ทางผู้พัฒนาระบุว่า ‘FiberX’ มีลักษณะเป็นเม็ดละเอียด สามารถเพิ่มลงในอาหารที่มีเส้นใยต่ำอย่างเค้กหรือพิซซ่าได้ รวมถึงอาหารที่มีแคลอรีหรือน้ำตาลต่ำ และปราศจากกลูเตน เรียกได้ว่า ‘FiberX’ ตอบโจทย์ในการนำไปผสมกับอาหารทุกชนิด เพื่อเพิ่มทางเลือกในการกินให้เฮลตี้มากขึ้น
รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย RMIT ‘Asgar Farahnaky’ ทั้งยังเป็นนักวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีอาหาร กล่าวว่า "ตอนนี้เราสามารถเพิ่มไฟเบอร์ลงในอาหารได้ เช่น ขนมปังหรือวัตถุดิบอื่นๆ โดยไม่ทำให้รสชาติหรือเนื้อสัมผัสของอาหารเปลี่ยน ซึ่งไฟเบอร์ส่วนใหญ่ที่วางขายในท้องตลาดตอนนี้มักทำให้รสชาติ หรือกลิ่นของอาหารเปลี่ยนไป และนั่นเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ขึ้นมา
โดยตัว FiberX เมื่อใส่เพิ่มลงไปในอาหารแล้ว เราจะไม่รู้ตัวเลยว่าอาหารจานนี้มีการเติมไฟเบอร์เพิ่มเข้ามา หรือเรียกได้ว่าไม่ต่างอะไรจาก ‘ไฟเบอร์ล่องหน’ มันก็เหมือนกับการที่พ่อแม่พยายามซ่อนผักไว้ใต้เมนูโปรดของลูกเพื่อให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น”
กว่าจะได้มาซึ่งไฟเบอร์ล่องหน
สำหรับขั้นตอนการผลิต FiberX นักวิทยาศาสตร์จะดัดแปลงโครงสร้างดั้งเดิมของแป้งในระดับโมเลกุล ก่อนจะนำไปทดสอบกับเอนไซม์ย่อยอาหาร เพื่อดูว่าพวกมันจะอยู่ในระบบย่อยอาหารของร่างกายได้อย่างไร
เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วและแป้งทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์ ผลิตภัณฑ์ของแป้งจะไม่สามารถถูกย่อยและดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์ จึงมีคุณสมบัติเทียบเท่าเส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์ และนับว่าประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแป้งให้กลายเป็นเส้นใยอาหารอย่างสมบูรณ์แบบ
ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของแป้งที่มีแต่คาร์โบไฮเดรต (Starch) สามารถแปลงเป็นไฟเบอร์ได้โดยใช้ขั้นตอนที่เราได้อธิบายไปข้างต้น แต่ในขณะนี้ทางทีมยังมุ่งพัฒนาหาวิธีการผลิตใหม่ๆให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปราศจากการใช้สารเคมี และขยายฐานการผลิต FiberX ให้มากขึ้น
ไฟเบอร์เป็นคาร์โบไฮเดรตรูปแบบหนึ่งที่ลำไส้ของมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ แต่ถึงอย่างนั้นร่างกายก็ขาดไฟเบอร์ไม่ได้เช่นกัน เพราะพวกมันมีประโยชน์ในการช่วยปรับการทำงานของระบบย่อยอาหารและทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ทั้งยังเป็นที่รู้กันว่าช่วยป้องกันโรคอ้วน เบาหวาน ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
แม้ในขณะนี้ FiberX จะยังไม่วางจำหน่ายตามท้องตลาด แต่ทีมวิจัยกำลังร่วมมือกับ Microtec Engineering Group เพื่อต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์สามารถวางจำหน่ายได้ แม้ว่าจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆมากมายก็ตาม
Farahnaky กล่าวว่า "เทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยให้แต่ละมื้อที่เราทานอาหารมีไฟเบอร์เพิ่มขึ้น ช่วยให้เราได้รับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน และแม้ว่าเราจะทานน้อยลง ก็ยังสามารถมั่นใจได้ว่าร่างกายจะไม่ขาดคุณค่าทางโภชนาการไป และนี่จะเป็นสิ่งที่ช่วยควบคุมน้ำหนักและโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลอ้างอิง