อุณหภูมิมหาสมุทรพุ่งทะลุทำลายสถิติ โลกร้อนอย่าง “ไม่เคยเป็นมาก่อน”
อุณหภูมิของมหาสมุทรที่บันทึกไว้ครั้งล่าสุดทำให้โลกพบกับคำว่า “uncharted territory” หรือ สิ่งที่เราไม่เคยเจอ-ไม่เคยเป็นมาก่อน คำเตือนสำคัญที่ชี้ชัดว่า มนุษย์กำลังเผชิญหน้ากับอุณหภูมิในระดับที่เราไม่เคยประสบมาก่อน และนี่คือเรื่องที่ผิดปกติมาก…
อุณหภูมิในมหาสมุทรของโลกได้ทำลายสถิติใหม่ พุ่งทะลุสู่จุดสูงสุดใหม่เป็นที่เรียบร้อย เป็นระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนในลักษณะที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
รายงานข่าวล่าสุดจาก เดอะ การ์เดียน บอกว่า โลกได้มาถึงจุดที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบไม่เคยเจอกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา ในขณะที่อุณหภูมิของมหาสมุทรพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นความผิดปกติที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ อ้างอิงจากข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมุ่งสำรวจศึกษาในเรื่องสภาวะของมหาสมุทร ทางน้ำสำคัญและชั้นบรรยากาศ (US National Oceanic and Atmospheric Administration -NOAA)
ชุดข้อมูลที่เรียกว่า Optimum Interpolation Sea Surface Temperature (OISST) ซึ่งรวบรวมโดยดาวเทียมและทุ่นแสดงให้เห็นอุณหภูมิที่สูงกว่าปีก่อนๆ เทียบกับชุดข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 1981 ตลอดระยะเวลา 42 วันที่ผ่านมา ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า โลกกำลังเผชิญกับปรากฎการณ์ทางสภาพอากาศที่เรียกว่าเอลนีโญ (El Niño) ในปีนี้
เรารู้กันว่า “เอลนีโญ” คือคำอธิบายระบบสภาพอากาศอันเป็นวัฏจักรในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนทั่วโลก แต่เจ้าระบบอากาศแบบเอลนีโญที่ว่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้นการแกว่งตัว (Oscillation) ของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นตอนนี้จึงยังไม่สามารถนำมาอธิบายถึงความร้อนที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของปีได้ ซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิของมหาสมุทรจะลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมและเมษายนของทุกปี
เอลนีโญ (มาจากภาษาสเปนแปลว่า เด็กชาย) คือรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกห้าปี ลักษณะของเอลนีโญ คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า เอลนีโญและลานีญาตามลำดับ
ลานีญา (La Niña) เป็นปรากฏการณ์บรรยากาศมหาสมุทรซึ่งเกิดขึ้นคู่กับเอลนีโญ เป็นความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ ในช่วงที่เกิดลานีญา อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางตะวันออกแถบเส้นศูนย์สูตรจะต่ำกว่าปกติ 3-5 องศาเซลเซียส
(ลานีญามาจากภาษาสเปน หมายถึง "เด็กหญิง")
กล่าวโดยสรุป เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน บริเวณที่เคยฝนตกชุกจะกลับแห้งแล้ง บริเวณที่แห้งแล้งกลับฝนตกชุกกว่าปกติ
ศาสตราจารย์ไมค์ เมเรดิธ (Prof. Mike Meredith) จาก British Antarctic Survey กล่าวว่า “เรื่องนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเกาหัว ความจริงที่ว่า มันร้อนขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นมานั้นเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและน่าเป็นห่วงมาก มันอาจเป็นจุดสูงสุดในระยะสั้น หรืออาจเป็นจุดเริ่มต้นของบางสิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้น”
อุณหภูมิในมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นคือปัญหาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากน้ำทะเลที่มีพื้นที่มากขึ้นเร่งให้อุณหภูมิสูงขึ้น เร่งให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และน้ำอุ่นที่ขั้วโลกเร่งการละลายของแผ่นน้ำแข็ง อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอาจส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ปรับตัวได้ยากหรือปรับตัวไม่ได้เลย โดยเฉพาะปะการังที่ต้องพบกับสภาวะการฟอกขาวที่รุนแรงขึ้นได้
ด้านนักวิทยาศาสตร์บางคนกลัวว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วอาจเป็นสัญญาณของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ดำเนินไปในอัตราที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ใครจะรู้ว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามหาสมุทรได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนกันชนของโลกที่มีต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งโดยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลที่เราระบายสู่ชั้นบรรยากาศ และโดยการกักเก็บพลังงานและความร้อนส่วนเกินประมาณ 90% ที่เกิดขึ้น และยังช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนบนบกบางส่วน
นักวิทยาศาสตร์บางคนเกรงว่า เราอาจมาถึงสุดขีดจำกัดความสามารถของมหาสมุทรในการดูดซับส่วนเกินเหล่านี้
ศาสตราจารย์เมเรดิธกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอก “อัตรา (ของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น) นั้นแข็งแกร่งเกินกว่าที่แบบจำลองสภาพภูมิอากาศจะคาดการณ์ได้” เขากล่าว “สาเหตุของความกังวลคือ หากมันดำเนินการต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะแซงหน้าเส้นโค้งภูมิอากาศ (คาดการณ์) สำหรับมหาสมุทร แต่เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่”
สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นครั้งแรกเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศได้ออกโรงเตือนเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ข้อมูลเบื้องต้นจาก NOAA แสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวมหาสมุทรอยู่ที่ 21.1 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 21 องศาเซลเซียสในปี 2559 หรือเมื่อ 7 ปีก่อน
ศ.แมทธิว อิงแลนด์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า "เส้นทางการเคลื่อนไหว (ของอุณหภูมิ) ในปัจจุบันดูเหมือนว่า จะหลุดจากชาร์ต ทำลายสถิติก่อนหน้านี้"
นับตั้งแต่นั้นมา อุณหภูมิก็เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละวัน แต่ก็มีสัญญาณว่าจะลดลงเพียงเล็กน้อย เบน เว็บเบอร์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย กล่าวว่า อุณหภูมิที่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเวลานานเช่นนี้ในช่วงเวลานี้ของปีถือเป็น "ความผิดปกติ"
“สิ่งที่เราพบนั้นผิดปกติมาก” เขากล่าว “ตัวเลขนี้กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ไม่เคยมีมาก่อน และอาจพาเราไปสู่ที่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน”
มาร์ก มาสลิน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (Earth System Science: ESS) แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า วิกฤตสภาพอากาศกำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา
“นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเคยช็อคกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงในปี 2564” เขากล่าว “หลายคนหวังว่า มันจะเป็นเพียงปี (2564) ที่สูงที่สุดเท่านั้น แต่มันก็ยังไม่หยุด และตอนนี้มันเกิดขึ้นอีกในปี 2566 ดูเหมือนว่า เราได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ระบบภูมิอากาศที่อุ่นขึ้น (warmer climate system) ซึ่งมีเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้งและอุณหภูมิที่ทำลายสถิติ กลายเป็นเหตุการณ์ปกติใหม่ หรือ new normal ไปแล้ว เป็นเรื่องยากที่ใครสักคนจะปฏิเสธ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบร้ายแรงทั่วโลกจริงๆ”
อ้างอิง: