posttoday

เมื่อ VR กลายเป็นอุปกรณ์รักษาและลดความเจ็บปวด

13 ตุลาคม 2565

อุปกรณ์ VR หรือ Virtual Reality เราต่างคุ้นเคยคำนี้ในสื่อบันเทิงหรือภาคธุรกิจ ทั้งการเล่นเกมหรือโลกเสมือนจริงทั้งหลาย แต่ล่าสุดเทคโนโลยีนี้ก้าวล้ำไปอีกขั้น เมื่อมีการนำ VR มาใช้ในการรักษาจนถึงช่วยเหลือผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด

การประกาศตัวบุกลุย Metaverse ของ Meta ทำให้คนรู้จักคำว่า Virtual reality(VR) กับการสร้างโลกเสมือนจริง ด้วยจุดหมายในการสร้างโลกเสมือนจริงใบใหม่นำเสนออย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แม้ปัจจุบันเรายังไม่ทันเห็นสิ่งนี้เป็นรูปร่าง แต่ผู้คนก็ได้ตระหนักและมีโอกาสทำความรู้จักเทคโนโลยีนี้มากขึ้น

 

            ด้วยความเป็นเทคโนโลยีใหม่ความเป็นไปได้ทางการใช้งานจึงหลากหลาย ประกอบกับราคาอุปกรณ์ค่อนข้างสูงจึงมีผู้สามารถเข้าถึงได้ไม่มาก ถือเป็นอุปกรณ์พบเห็นได้ยากในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับบางวงการนี่ถือเป็นเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยประโยชน์ โดยเฉพาะในวงการแพทย์ที่ต้องแสวงหาวิธีใหม่ๆ ในการักษาผู้ป่วย

 

            วันนี้เราจึงมาพูดถึงกันเสียหน่อยว่าการใช้งาน VR ทางการแพทย์ปัจจุบันไปถึงไหนแล้ว

เมื่อ VR กลายเป็นอุปกรณ์รักษาและลดความเจ็บปวด

การใช้ VR ในวงการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย

 

            แนวคิดในการนำเทคโนโลยี VR มาใช้เชิงการแพทย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ อันที่จริงเทคโนโลยีนี้ได้รับความสนใจจากวงการแพทย์มาพักใหญ่ ด้วยการสร้างความจริงเสมือนที่มีรายละเอียดใกล้เคียงกับของจริงมาก ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการรักษาในหลายด้าน

 

            การใช้งานเทคโนโลยี VR ในการแพทย์เริ่มตั้งแต่ปี 2015 ในมหาวิทยาลัย Presbyterian ประเทศสหรัฐฯ จากการสร้างห้องผ่าตัดเสมือนจริง Navigation Advanced Platform(SNAP) ช่วยจำลองภาพร่างกายของผู้ป่วยออกมาในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยและค้นหาวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

 

            จากนั้นสตาร์ทอัพ Holoeyes ได้พัฒนาเทคโนโลยีในการแปลงข้อมูลภาพถ่าย Computed tomography (CT) กลายเป็นภาพถ่ายที่มีคุณสมบัติในการแสดงผลแบบ 3 มิติ เพื่อสนับสนุนข้อมูลร่างกายของผู้ป่วย ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบตำแหน่งอวัยวะภายใน หลอดเลือด และความผิดปกติอื่นๆ ได้อย่างแม่นยำ

 

            อีกหนึ่งแนวทางที่มีการใช้งานคือการฝึกซ้อมผ่าตัดใน VR เพื่อทดแทนการผ่าตัดในเคสจริง ช่วยฝึกฝนฝีมือของศัลยแพทย์ให้แม่นยำในการลงมือยิ่งขึ้น สามารถมองเห็นทะลุอวัยวะภายในร่างกาย โดยไม่ถูกอวัยวะหรือกระดูกชิ้นใดบดบัง ช่วยให้แพทย์มีความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดและพัฒนาฝีมือได้ดียิ่งขึ้น

 

            แต่นั่นเป็นเพียงการใช้งานจากฝั่งแพทย์ เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้นจึงเริ่มมีการใช้งานกับผู้ป่วย

เมื่อ VR กลายเป็นอุปกรณ์รักษาและลดความเจ็บปวด

เมื่อ VR กลายเป็นตัวช่วยสำคัญในการบรรเทาและรักษาอาการป่วย

 

            ในเดือนพฤศจิกายน 2021 มีการอนุมัติจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ(FDA) ให้มีการใช้งานระบบ VR เพื่อลดอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง หลังประสบความสำเร็จในการทดลองทางคลินิก ช่วยลดอาการปวดที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยได้รับอนุมัติเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์และสามารถใช้งานตามการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทาง

 

            อุปกรณ์ชนิดนี้คือ EaseVRx แว่น VR และชุดหูฟังของบริษัท AppliedVR มีคุณสมบัติลดความเจ็บปวดของผู้ใช้งาน จากการช่วยกำหนดลมหายใจและโปรแกรมฝึกฝนร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวเข้าหาความเจ็บปวดและใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องกินยาหรือพึ่งมีดหมอ โดยอุปกรณ์นี้ทำให้คนไข้เกือบทุกคนลดความเจ็บปวดได้ราว 30 – 50%

 

            อีกหนึ่งการใช้งาน VR เชิงการแพทย์เกิดขึ้นจากนักวิจัยแห่งออสเตรเลีย จากการนำ VR มาใช้รักษาอาการประสาทหลอน มีส่วนร่วมในกระบวนการจิตบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการทางจิต ช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ยอมรับการรักษาได้ง่าย และฟื้นฟูระบบประสาทที่เสียหายได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนทดสอบร่วมกับยาระงับประสาทว่าช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพได้แค่ไหน

 

            ล่าสุดคือนำ VR มาใช้ร่วมกับการผ่าตัดโดยใช้ยาระงับประสาทปริมาณน้อย ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมีเพียง 4 ใน 17 รายที่ร้องขอยาระงับประสาทเพิ่มโดยไม่มีการใช้งานยาสลบ นอกจากนี้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาสลบตามปกติแล้ว กลุ่มผู้ป่วยที่อาศัยอุปกรณ์ VR ระงับความเจ็บปวดสามารถเสร็จสิ้นการผ่าตัดรวดเร็วกว่าราว 22 นาที

 

            นี่ถือเป็นการประสบความสำเร็จครั้งสำคัญ แม้การทดลองชนิดนี้จะอยู่ในวงจำกัดแต่ช่วยเพิ่มโอกาสการผ่าตัดให้มากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงแก่ผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของยาระงับประสาทและยาสลบทุกชนิด ซึ่งอาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่นที่ไม่คาดฝัน อีกทั้งยังช่วยให้ระยะเวลาฟื้นตัวผู้ป่วยสั้นลง ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งแก่ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

 

 

            แน่นอนว่าการผ่าตัดนี้เป็นเพียงการทดลองใช้งาน VR เพื่อระงับความเจ็บปวดในขั้นตอนรักษาเท่านั้น แต่ถือเป็นก้าวใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า VR สามารถนำไปใช้ในด้านอื่นนอกจากสื่อบันเทิงและภาคธุรกิจได้เช่นกัน ในอนาคตนี่อาจกลายเป็นแนวทางรักษารูปแบบใหม่ที่ลดผลกระทบแก่ร่างกายผู้ป่วยได้อีกด้วย

 

            นี่เป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า VR และ Metaverse มีศักยภาพเกินใครจะคาดเดา และอาจถูกนำไปใช้ในด้านอื่นได้อีกมากในอนาคต

 

 

 

 

            ที่มา

 

            https://newatlas.com/medical/fda-vr-chronic-back-pain/?itm_source=newatlas&itm_medium=article-body

 

            https://newatlas.com/science/vr-psychedelic-therapy-virtual-reality-enosis/?itm_source=newatlas&itm_medium=article-body

 

            https://newatlas.com/medical/fda-vr-chronic-back-pain/?itm_source=newatlas&itm_medium=article-body

 

            https://www.mreport.co.th/news/trend-and-innovation/059-Technology-VR-Medical

 

            https://marketeeronline.co/archives/255184