posttoday

เมื่อเตาปฏิกรณ์ขนย้ายได้ด้วยรถบรรทุก ทางเลือกใหม่แห่งพลังงานสะอาด

07 พฤศจิกายน 2565

พลังงานนิวเคลียร์ หนึ่งในพลังงานที่สร้างความมั่นคงให้หลายประเทศ กลับไม่ได้รับความนิยมหรือชื่นชอบของผู้คนนักจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อมีการรั่วไหล แต่ล่าสุดทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อหลายประเทศหันกลับไปพึ่งพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง

เมื่อพูดถึงนิวเคลียร์ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของสิ่งนี้เอียงไปทางแง่ลบ ด้วยการใช้งานและเป็นที่พูดถึงส่วนมากอยู่ในฐานะอาวุธทำลายล้าง เคยแสดงแสงยานุภาพที่ญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความเสียหายในครั้งนั้นผู้คนจึงฝังใจว่า นิวเคลียร์คืออาวุธมหาประลัยชนิดหนึ่ง

 

          แม้มีการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างพลังงานหล่อเลี้ยงประเทศ ภาพลักษณ์ของพลังงานชนิดนี้ก็ยังไม่ดีขึ้น จากอุบัติเหตุการรั่วไหลที่เกิดทั้งในเชอโนบิลและฟุกุชิมะทำให้เกิดความเสียหายวงกว้าง ยิ่งทำให้อัตราส่วนการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกลดลง

 

          แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อพลังงานนิวเคลียร์กำลังถูกผลักดันอีกครั้งในฐานะพลังงานสีเขียว

เมื่อเตาปฏิกรณ์ขนย้ายได้ด้วยรถบรรทุก ทางเลือกใหม่แห่งพลังงานสะอาด

ข้อจำกัดพลังงานทดแทนในปัจจุบัน พลังงานสะอาดกับราคาที่ต้องจ่าย

 

          เมื่อพูดถึงพลังงานทดแทน หลายท่านย่อมนึกถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ลม หรือแสงอาทิตย์ ด้วยสิ่งเหล่านี้สามารถหาได้ตามธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นแนวทางที่ทุกประเทศต่างพยายามผลักดันต่อเนื่อง กระนั้นปัจจุบันพลังงานสีเขียวรูปแบบนี้ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน เป็นเหตุให้หลายประเทศยังคงไม่สามารถหวังพึ่งได้ทั้งหมด

 

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายประเทศพากันกังขาจุดนี้คือ ความมั่นคงทางพลังงาน สภาพอากาศสุดขั้วผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมาก ภัยธรรมชาติรุนแรงเกิดขึ้นทุกปี ต่อหน้าความผันผวนเหล่านี้อัตราการผลิตพลังงานพลอยไม่เสถียร เป็นเหตุให้หลายประเทศไม่สามารถวางใจพลังงานรูปแบบนี้ได้

 

          อีกหนึ่งข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนคือ แม้อัตราการผลิตพลังงานสูงแต่มีช่วงเวลาจำกัด ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกและสภาพอากาศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำไม่สามารถใช้งานในหน้าแล้ง หรือโซล่าเซลล์ที่ไม่สามารถทำงานในเวลากลางคืน สวนทางกับกิจกรรมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ต้องการพลังงานหล่อเลี้ยงตลอดเวลา

 

          ด้วยเหตุนั้นเมื่อไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดังใจทำให้ต้องมีการผลิตไฟฟ้าปริมาณสูง จากนั้นจึงอาศัยแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพื่อเก็บพลังงานส่วนเกินเหล่านั้นแล้วนำกลับมาใช้ในภายหลัง วิธีดังกล่าวอาจชดเชยข้อจำกัดได้แต่ทำให้ต้นทุนในการผลิตพลังงานยิ่งพุ่งสูง ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้บริโภคและสภาพเศรษฐกิจโดยตรง

 

          ส่วนนี้สามารถเห็นได้จากประเทศภายในยุโรป ปัจจุบันมีการผลักดันพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด แต่หลายประเทศยังเผชิญกับวิกฤตพลังงานเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ราคาพลังงานปรับตัวสูงส่งผลร้ายแรงต่อค่าครองชีพ และกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงโดยรวมของประเทศ จึงเริ่มมีการพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง

เมื่อเตาปฏิกรณ์ขนย้ายได้ด้วยรถบรรทุก ทางเลือกใหม่แห่งพลังงานสะอาด

การกลับมาของพลังงานนิวเคลียร์ คำตอบของพลังงานทดแทน?

 

          ภายหลังเกิดวิกฤตพลังงานและสงครามยูเครน-รัสเซียเป็นต้นมา หลายประเทศที่ต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเริ่มปรับตัว เช่น ฝรั่งเศสที่ดำเนินแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อมุ่งสู่ Net zero ในปี 2050 โดยมีแผนกำหนดให้กลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ และ เยอรมนีที่เปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อคลี่คลายปัญหาพลังงาน

 

          แน่นอนว่าสถานการณ์เหล่านี้สำหรับบางประเทศ เช่น เยอรมนีอาจมองเป็นตัวเลือกแก้ขัด เพื่อพยุงค่าครองชีพคลี่คลายวิกฤตขาดแคลนพลังงาน แต่สำหรับบางประเทศนี่เป็นแนวทางที่พวกเขาตั้งใจสานต่อเพื่อสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางข้อโต้แย้งจากหลายฝ่ายที่ยังขยาดจากภัยพิบัติกัมมันตรังสี

 

          หลายท่านทราบดีถึงโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นในเชอโนบิลหรือฟุกุชิมะ กับความเสียหายวงกว้างทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนพื้นที่บางแห่งบนโลกให้กลายเป็นแดนร้าง รวมถึงข้อกังวลภายใต้การจัดการกากกัมมันตรังสีและสิ่งปนเปื้อนรูปแบบต่างๆ ผู้คนจึงพากันแคลงใจโดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดใช้ภายในประเทศ

 

          แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าพลังงานนิวเคลียร์มีข้อดีหลายด้าน ตั้งแต่การเป็นพลังงานที่ไม่มีการเผาไหม้จึงไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง, สร้างความมั่นคงทางพลังงานได้ง่ายจากปริมาณพลังงานมากกว่าถ่านหิน 8,000 เท่า รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าเนื่องจากแร่ยูเรเนียมขนาดเล็กก็เพียงพอในการจ่ายไฟไปหลายปี

 

          ประการสุดท้ายคือ เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์กำลังทวีความก้าวหน้าและลดผลกระทบลงได้อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อเตาปฏิกรณ์ขนย้ายได้ด้วยรถบรรทุก ทางเลือกใหม่แห่งพลังงานสะอาด

 

          เทคโนโลยีล่าสุดของพลังงานนิวเคลียร์ เตาปฏิกรณ์ย่อส่วน

 

          เพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยแบบที่เคยเกิด คำตอบของนักวิทยาศาสตร์คือ การย่อส่วนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็ก ที่แม้จะมีอัตราการผลิตพลังงานลดลง แต่มีต้นทุนการผลิต ดูแลรักษา และความเป็นพิษที่น้อยกว่า จึงเริ่มมีหลายประเทศผลักดันพัฒนาโครงการเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กขึ้นมาแล้วเช่นกัน

 

          ที่โดดเด่นและกลายเป็นโครงการระดับประเทศคือ ความร่วมมือของ บิล เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สองนักธุรกิจชื่อก้องโลกเล็งนำเตาปฏิกรณ์นาเทรียมมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิม โดยการใช้โซเดียมเหลวเพื่อหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์แทนน้ำแบบเตารุ่นเดิม ช่วยให้เตาสามารถทำงานได้มั่นคงและไม่ต้องพึ่งพาการสูบน้ำหล่อเย็น อีกทั้งจะช่วยให้จัดเก็บกากกัมมันตรังสีและสารปนเปื้อนได้ง่ายกว่าอีกด้วย

 

          นอกจากสองนักธุรกิจใหญ่ Brigham Young University ก็มีการออกแบบเตาปฏิกรณ์นาเทรียมเช่นกัน โดยชูจุดเด่นด้านขนาดกระทัดรัด อีกทั้งพวกเขายังพัฒนาระบบความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์นาเทรียมให้มีความเสถียรสูงกว่าเตาปฏิกรณ์รุ่นเดิมมาก จึงไม่ต้องการพื้นที่กว้างขวางเพื่อป้องกันการแผ่รังสี แต่ใช้งานได้สะดวกถึงขั้นขนใส่รถบรรทุกได้เลยทีเดียว

 

          อีกบริษัทที่มีข่าวในการสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กคือ Radiant Nuclear กับการจัดสร้างเจาปฏิกรณ์ขนาดพกพา โดยมีแผนจะผลิตออกมาให้พร้อมใช้งานในอีก 5 ปี จากทีมงานของบริษัท SpaceX ผู้พัฒนาการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร เตาปฏิกรณ์ที่พวกเขากำลังสร้างจะใช้กราไฟต์เคลือบซิลิกอนคาร์ไบต์แทนเชื้อเพลิงแบบเดิม ซึ่งจะลดการแผ่รังสีลงได้มาก

 

 

 

          เห็นได้ชัดว่าแนวทางของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเริ่มมุ่งหน้ากลับไปหาพลังงานนิวเคลียร์ จากเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ที่ต่างได้รับการสนับสนุนให้เป็นคำตอบในการแก้ปัญหาพลังงาน รวมถึงหลายประเทศที่เริ่มขยับไปกว้างกว่านั้น กับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชั่น ทั้งในยุโรป อังกฤษ หรือจีน ก็เริ่มพัฒนาเตาปฏิกรณ์ชนิดนี้แล้วเช่นกัน

 

          แต่เราก็ลืมไม่ได้เช่นกันว่าแม้การพัฒนาเทคโนโลยีจะช่วยให้พลังงานนิวเคลียร์ปลอดภัยขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อที่ผ่านมาเป็นเช่นไร โศกนาฎกรรมที่เชอโนบิลและฟุกุชิมะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดซ้ำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากมีการตั้งคำถามหรือข้อกังขาอีกมากในการใช้พลังงานนิวเคลียร์

 

          ที่เหลือก็ขึ้นกับเราว่าหากมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์จะสามารถควบคุมไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้หรือไม่?

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://brandinside.asia/france-nuclear-power/

 

          https://www.bangkokbiznews.com/world/1025145

 

          https://www.nationtv.tv/original/378853286

 

          https://www.posttoday.com/environment/1267

 

          https://interestingengineering.com/innovation/radiant-could-provide-safe-portable-nuclear-energy-within-the-next-5-years

 

          https://interestingengineering.com/innovation/safe-micro-nuclear-reactor-truck

 

          https://www.weforum.org/agenda/2022/10/nuclear-power-power-plant-smrs-clean-energy/