posttoday

NISAR เรดาร์รุ่นใหม่กับความสามารถตรวจจับระดับเซนติเมตร

06 เมษายน 2566

เรดาร์ ถือเป็นระบบตรวจจับผ่านคลื่นวิทยุที่ใช้งานกันแพร่หลาย ทั้งในด้านการทหาร คมนาคม ไปจนสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ แต่ล่าสุดเรดาร์ NISAR จะตรวจสอบได้ลึกไปอีกขั้น จากศักยภาพในการตรวจจับความเปลี่ยนแปลงระดับเซนติเมตร

เรดาร์ หนึ่งในเทคโนโลยีตรวจจับใช้งานกันแพร่หลาย อันที่จริงเทคโนโลยีนี้ได้รับการพูดถึงและผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์มายาวนาน ก่อนได้รับการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ช่วยให้อังกฤษสามารถสกัดกั้นการรุกรานของเยอรมนีได้สำเร็จ

 

          นอกจากในด้านการทหารแล้วเรดาร์ยังถูกนำไปใช้งานในหลายภาคส่วน ทั้งในด้านการคมนาคมทั้งทางน้ำและอากาศ ถูกใช้ในการตรวจสอบยานพาหนะเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ไปจนการตรวจสอบสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในสังคม

 

          ล่าสุดเทคโนโลยีจะได้รับการพัฒนาไปอีกขั้นกับเรดาร์ที่สามารถวัดความแตกต่างระดับเซนติเมตร

 

NISAR เรดาร์รุ่นใหม่กับความสามารถตรวจจับระดับเซนติเมตร

 

NISAR สุดยอดเรดาร์จากความร่วมมือของสองชาติ

 

          ผลงานนี้เกิดจาก NASA องค์กรเทคโนโลยีอวกาศที่เราคุ้นตา กับ Indian Space Research Organisation(ISRO) องค์กรวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย กับการพัฒนาระบบเรดาร์รุ่นใหม่ที่สามารถสำรวจและตรวจสอบผิวโลกได้อย่างละเอียดในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

          เรดาร์ชนิดใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า NASA-ISRO Synthetic Aperture Radar(NISAR) ประกอบด้วยเรดาร์สองระบบที่สร้างจากทั้งสององค์กร โดยมีการใช้งานในระดับความถี่ที่ต่างกัน เพื่อให้เรดาร์สามารถทำการสำรวจได้รอบด้านและระบุข้อมูลออกมาได้ชัดเจนยิ่งกว่าเรดาร์รุ่นเก่า

 

          NISAR ได้รับการออกแบบให้มีเสาอากาศเรดาร์ขนาดใหญ่ที่สุดในเรดาร์รุ่นเดียวกัน อาศัยคลื่นความถี่การตรวจจับทั้ง L-band และ S-band อีกทั้งการติดตั้งเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ หรือ SAR เข้าสู่ระบบ จะช่วยให้คุณภาพข้อมูลจากการตรวจสอบก้าวข้ามข้อจำกัดของเรดาร์รุ่นเก่า

 

          โดยเรดาร์ NISAR นี้ได้รับการออกแบบให้เป็นเรดาร์ที่ใช้ในการสำรวจพื้นผิวโลกเป็นหลัก ทำการเก็บข้อมูลพื้นผิวดินและพื้นผิวน้ำแข็งทั่วโลกในทุก 12 วัน มีประสิทธิภาพในการตรวจจับความเปลี่ยนแปลงหรือรายละเอียดที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลกแม้เพียงเล็กน้อย สามารถเจาะจงความแตกต่างระดับรายละเอียดบนพื้นผิวโลกได้สูงสุดถึงในระดับเซนติเมตร

 

          นั่นทำให้ในปัจจุบัน NISAR ถือเป็นระบบเรดาร์ที่มีขีดความสามารถตรวจสอบพื้นผิวโลกสูงสุด จึงได้ดำเนินการติดตั้งลงบนดาวเทียมสำรวจทรัพยากร และเตรียมพร้อมขึ้นบินไปกับจรวด Geosynchronous Satellite Launch Vehicle Mark II ที่ Satish Dhawan Space Centre ของทาง ISRO ในอินเดีย โดยมีกำหนดในการเปิดตัวภายในปี 2024

 

NISAR เรดาร์รุ่นใหม่กับความสามารถตรวจจับระดับเซนติเมตร

 

ขีดความสามารถของเรดาร์ชนิดใหม่ ที่จะช่วยเราได้มากในอนาคต

 

          แน่นอนด้วยเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ข้อมูลที่จะได้รับจากเรดาร์ชนิดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสำรวจสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะส่วนที่มีความไม่แน่นอนและเกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น น้ำแข็งขั้วโลก แหล่งน้ำใต้ดิน หรือการกัดเซาะชายฝั่ง จะช่วยให้เราสามารถรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ได้แม่นยำยิ่งขึ้น

 

          ข้อมูลที่ได้รับจะทำให้นักวิทยาศาสตร์รับมือกับความไม่แน่นอนของธรรมชาติ สามารถทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศได้รวดเร็ว หรือก็คือเรดาร์ชนิดนี้จะช่วยให้เรารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อนได้ทันท่วงที

 

          อีกส่วนที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันคือ อัตราการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ไปจนโอกาสในการเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ทั้งแผ่นดินถล่ม, ภูเขาไฟระเบิด, แผ่นดินไหว, สึนามิ ฯลฯ เราทราบดีว่าปัจจุบันความผันผวนทางธรรมชาติทำให้โอกาสในการเกิดภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดและยังมีความรุนแรงสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจสอบพื้นผิวโลกอย่างละเอียด

 

          ระบบเรดาร์รุ่นใหม่อย่าง NISAR สามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกได้ ตั้งแต่ระดับการระเบิดของภูเขาไฟไปจนการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล การเคลื่อนไหวของภูเขาไฟต่างๆ ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การสอดส่องเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ ช่วยให้สามารถเตรียมรับมือล่วงหน้าเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงทันท่วงที

 

          การทำความเข้าใจข้อมูลสภาพแวดล้อมและภัยธรรมชาติจากการตรวจวัดนี้เอง อาจเป็นกุญแจสำคัญต่อการบรรเทาความเสียหายและควบคุมผลกระทบต่อภัยพิบัติทั่วทุกมุมโลก ด้วยระบบเรดาร์ NASAR จะครอบคลุมทุกส่วนในโลกอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอีกมาก

 

 

 

          ถือเป็นระบบเรดาร์ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อสอดคล้องและรับมือความผันผวนทางสภาพอากาศปัจจุบัน คาดว่าในอนาคตคุณค่าของข้อมูลและแนวโน้มการเกิดภัยธรรมชาติจะยิ่งทวีความสำคัญ เพราะเราต่างทราบดีว่าทั่วโลกกำลังตกอยู่ในวิกฤติที่จำเป็นต้องรับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

          แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือได้โดยตรงแต่นี่ก็อาจเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้เรารับมือภัยพิบัติได้ดีขึ้นในอนาคต

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1255

 

          https://interestingengineering.com/science/nisar-radar-tech-unprecedented-earth

 

          https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=2399&lang=TH