GARMI หุ่นยนต์การแพทย์ สู่การรองรับสังคมผู้สูงอายุ
หนึ่งในปัญหาหนักใจของหลายชาติในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลหนึ่งในประเด็นสำคัญต่อระบบสาธารณสุข แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการพัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ขึ้นมาใช้งาน
ปัจจุบันเราทราบดีว่าสังคมไทยและทั่วโลกกำลังมุ่งสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ บางประเทศสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเมื่ออัตราการเสียชีวิตสูงกว่าอัตราการเกิดจนเริ่มส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากร นำไปสู่ปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะทางสังคมและเศรษฐกิจ
ที่กำลังเป็นปัญหาไม่แพ้กันคือ ระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล เราทราบดีว่าอัตราการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุสูงกว่าคนทุกช่วงวัย บทบาทและความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์พุ่งสูงอย่าก้าวกระโดด เป็นเหตุให้แรงงานกลุ่มนี้เริ่มเกิดความขาดแคลนในหลายประเทศ
แต่ล่าสุดทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนทางการแพทย์
GARMI หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ออกแบบมาเพื่อดูแลผู้ป่วย
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Robotics and Machine Intelligenc แห่งเยอรมนีทำการร่วมมือกับแพทย์ พัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ GARMI ที่ได้รับการออกแบบให้ใช้งานทางการแพทย์ โดยมีศักยภาพในการตรวจสอบอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ เพื่อให้แพทย์สามารถนำมาวินิจฉัยต่อไป
ตัวหุ่นสีขาวได้รับการออกแบบให้มีรูปนร่างหน้าตาใกล้เคียงกับหุ่นยนต์มาตรฐานที่เรารู้จักกัน ส่วนใบหน้ามีจอแสดงผลสีดำเพื่อแสดงข้อมูลและการตอบสนอง แขนกลได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการตรวจสอบอาการรวบรวมข้อมูลวินิจฉัยโรค ส่วนล่างติดตั้งแท่นและล้อเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว
GARMI จะได้รับการติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์หลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, เครื่องวัดความดันเลือด, อัลตร้าซาวด์ ฯลฯ ตัวหุ่นจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์ที่ได้รับการติดตั้ง จากนั้นข้อมูลส่วนนี้จะได้รับการส่งไปหาแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อให้สามารถประเมินอาการของผู้ป่วยได้โดยตรง
ด้วยคุณสมบัตินี้เองจะช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้โดยไม่เกี่ยงระยะทาง ช่วยให้การพบแพทย์ทางไกลสามารถทำได้ง่ายขึ้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยซึ่งต้องเข้ารับการตรวจสอบอาการเป็นประจำแต่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล จากหุ่นยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไว้พร้อมสรรพและทำการตรวจนอกสถานที่ได้
ส่วนนี้เองจะช่วยเหลือผู้สูงอายุจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกลให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่น รวมถึงลดความแออัดในการรองรับและให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาล ป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหญ่กรณีเกิดโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย
การเข้ามาของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ทางออกของสังคมสูงอายุ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสังคมสูงอายุกำลังเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงในหลายประเทศ สวนทางกับปริมาณแรงงานในระบบสาธารณสุขไปจนการดูแลผู้ป่วยที่นอกจากไม่มีทางตามทัน หลายประเทศยังทยอยสูญเสียแรงงานกลุ่มนี้จากระบบเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก
ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงพยายามมองหาตัวเลือกชดเชยข้อจำกัดด้านแรงงาน คำตอบของพวกเขาคือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหลายบริษัทเริ่มมีการทยอยนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานในระบบ เช่น หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารและหุ่นยนต์เฝ้ายาม นำไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ในที่สุด
GARMI ได้รับการออกแบบในการสนับสนุนการแพทย์ทางไกล ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้ารับการตรวจเต็มระบบได้ไม่ต่างจากการเข้ารับการตรวจภายในโรงพยาบาล ขยายขีดความสามารถทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหุ่นยนต์ที่พวกเขาตั้งใจพัฒนา
ในอนาคตหุ่นยนต์จะได้รับการออกแบบในการช่วยเหลือผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่คอยช่วยจัดการงานบ้านภายในที่พักหรือบ้านพักคนชรา คอยสนับสนุนการใช้ชีวิตด้านต่างๆ เช่น การเสิร์ฟอาหาร, เปิดขวดน้ำ, ติดต่อขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน, เปิดวีดีโอคอลไว้ใช้ติดต่อกับลูกหลานและเพื่อนฝูง ฯลฯ
เป้าหมายสูงสุดของหุ่นยนต์เหล่านี้คือ การให้หุ่นยนต์สามารถเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูผู้สูงอายุไปจนผู้ป่วยติดเตียงให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปโดยสะดวก
ความกังวลต่อการทำงานของหุ่นยนต์
เมื่อพูดถึงการทำงานของหุ่นยนต์ในปัจจุบันหลายท่านอาจเกิดความกังวล เห็นได้จากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย อย่างหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารหลายครั้งเราก็เห็นว่าเมื่อเกิดการขัดข้องมันจะวิ่งวนอยู่ตรงนั้น ไม่สามารถขยับไปไหนได้จนกว่าจะมีคนลากออกมา นำไปสู่คำถามว่าเราสามารถไว้ใจหุ่นยนต์เหล่านี้ได้แค่ไหน? โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ
สำหรับหุ่นยนต์ GARMI อาจไม่ต้องกังวลนักในช่วงแรก ด้วยระบบที่ได้รับการออกแบบให้ใช้งานมีไว้สำหรับตรวจสอบอาการเป็นหลัก ส่วนนี้ใช้งานไม่ยากและพึ่งพาเครื่องมือที่ติดตั้งไว้ภายในมากกว่าระบบหุ่นยนต์เอง จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าหากเกิดการขัดข้องจะทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วยนัก
ส่วนหุ่นยนต์ที่พุ่งเป้าไปสู่การเป็นผู้ดูแลจัดการงานบ้าน อำนวยความสะดวก และดูแลการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุนั้นยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คาดว่าจำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักพักหุ่นยนต์ชนิดนี้จะออกมาให้ยลโฉม ซึ่งความเป็นไปได้ที่ว่าก็ใช่จะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ภายหลังการมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง ปัญญาประดิษฐ์
ปัจจุบันเราทราบดีว่า AI อย่าง ChatGPT ทำอะไรได้และมีขีดความสามารถขนาดไหน ชนิดที่ก่อนการเปิดตัวเรายังไม่อยากเชื่อ หากประเมินจากแนวโน้มในส่วนนี้ ถ้าสามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับหุ่นยนต์การแพทย์ได้ ไม่แน่ว่าหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยก็อาจเป็นจริงในไม่ช้า
ปัญหาที่จะได้รับการตั้งคำถามตามมาคือ การมาถึงของหุ่นยนต์การแพทย์เหล่านี้จะเกิดการเข้ามาแย่งงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือไม่ แต่ทางทีมวิจัยยืนยันว่า จุดมุ่งหมายของพวกเขาไม่ใช่การแย่งงาน แต่เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้สามารถมีเวลาพูดคุยและตรวจสอบอาการผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นหลักเท่านั้น
ด้วยอย่างไรเสียเมื่อถึงเวลาเป็นตายเราก็เชื่อมือมนุษย์ด้วยกันมากกว่าเครื่องจักรอยู่ดี
ที่มา