เมื่อปัญญาประดิษฐ์ถูกใช้วินิจฉัยความเสี่ยงหัวใจวาย
หัวใจวาย ถือเป็นหนึ่งในการเจ็บป่วยที่อันตรายยิ่ง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาไม่นาน หลายครั้งแม้แต่แพทย์ยังอาจไม่สามารถประเมินอาการได้ดีพอ แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มมีการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงหัวใจวาย
เมื่อพูดถึงการเจ็บป่วยเกี่ยวกับหัวใจสิ่งแรกที่ผู้คนจะนึกถึงย่อมเป็น หัวใจวาย หรือ หัวใจล้มเหลว หนึ่งในความผิดปกติทางหัวใจและหลอดเลือดชนิดร้ายแรง สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้เฉียบพลันหลังเกิดอาการเพียงไม่กี่นาที รวดเร็วเสียจนบางครั้งยังไม่ทันส่งตัวไปโรงพยาบาลด้วยซ้ำ
จากสถิติขององค์กรอนามัยโลก(WHO)พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายมีมากถึง 7.2 ล้านคน/ปี ถือเป็นอัตราส่วนกว่า 12.2% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ในประเทศไทยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 37,000 ราย/ปี เฉลี่ยแล้วมีผู้ป่วยเสียชีวิตชั่วโมงละ 2 รายเลยทีเดียว
วันนี้เราจึงมาลงรายละเอียดของอาการหัวใจวายและความยากลำบากในการวินิจฉัยอาการกันเสียหน่อย
หัวใจวาย หนึ่งในอาการร้ายแรงของโรคหัวใจ
อันที่จริงอาการนี้มีหลายชื่อเรียกตั้งแต่หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว ไปจนหัวใจขาดเลือด แต่โดยพื้นฐานอาการนี้เกิดขึ้นจากความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ นำไปสู่อาการกล้ามเนื้อหัวใจตายซึ่งถือเป็นอันตรายและสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ
ดังที่ทราบว่าอาการของโรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน สามารถมีอาการตั้งแต่เจ็บแน่นตรงกลางหน้าอก, เจ็บร้าวไปถึงบริเวณคอ แขน และกราม, เหงื่ออกมากจนรู้สึกหนาว, วิงเวียนหน้ามืด, คลื่นไส้, หายใจถี่, ชีพจรเร็ว ฯลฯ อาการเหล่านี้ถือเป็นตัวบ่งชี้อาการของโรคหัวใจ และความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายแทบทั้งสิ้น
สาเหตุในการเกิดอาการหัวใจวายมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันเฉียบพลันส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย, เกิดความผิดปกติกับลิ้นหัวใจจนเกิดอาการรั่ว, อาการไทรอยด์เป็นพิษนำไปสู่ความผิดปกติทางกระแสเลือด ไปจนอาการครรภ์เป็นพิษจนส่งผลกระทบต่อแม่ เป็นต้น
จริงอยู่กลุ่มเสี่ยงสำคัญที่มีแนวโน้มในการเกิดอาการหัวใจวายคือโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคอ้วน, เบาหวาน, ความดัน, นอนไม่หลับ, เครียด ฯลฯ แต่เห็นได้ชัดว่าสามารถเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นหรือปัจจัยภายนอกได้เช่นกัน นี่จึงเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนเกือบทุกวัย เป็นอันตรายต่อทุกช่วงอายุ
น่ากลัวกว่านั้นคือแม้นี่จะเป็นอาการที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ กลับไม่มีแนวทางประเมินหรือวินิจฉัยอย่างแม่นยำ ปัจจุบันแพทย์ทำได้เพียงประเมินความเสี่ยงโดยคร่าวเท่านั้น การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุไปจนยืนยันอาการ จะสามารถทำได้ดีเฉพาะในช่วงเวลาการกำเริบ ซึ่งบางครั้งนั่นก็เป็นเรื่องสายเกินไป
แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ช่วยประเมินความเสี่ยงหัวใจวาย
อัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยวินิจฉัยภาวะหัวใจวาย
ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยจาก British heart foundation แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งหันมาใช้ระบบประมวลผลจากปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ จากการใช้งานเพื่อช่วยในการวินิจฉัยอาการหัวใจวายของผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง โดยอาศัยการประเมินจากข้อมูลผู้ป่วยอย่างรอบด้าน
แนวคิดนี้เกิดจากความพยายามปรับปรุงระบบการวินิจฉัยหัวใจวายในปัจจุบัน จากเดิมจะสามารถตรวจสอบอาการได้จากการตรวจจัดระดับโปรตีน Troponin ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นโปรตีนที่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหาย สามารถพบได้ภายใน 3 – 12 ชั่วโมงภายหลังเกิดอาการ
อย่างไรก็ตามหลังผ่านพ้นช่วงเวลานี้การตรวจวัดจะขาดความแม่นยำ ทำให้บางครั้งการตรวจจึงมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนสูง โดยเฉพาะภายในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่วุ่นวายตลอดวัน อีกทั้งยังต้องรอให้อาการกำเริบเสียก่อนจึงสามารถชี้วัดได้ซึ่งถือเป็นเรื่องช้าเกินไป หลายครั้งเจ้าหน้าที่การแพทย์ยังอ้างอิงข้อมูลจากผลตรวจ โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ และโรคประจำตัวของผู้ป่วย ทำให้ประเมินความเสี่ยงคลาดเคลื่อนบ่อยครั้ง
นำไปสู่การพัฒนาอัลกอริทึมเอไอในชื่อ Collaboration for the Diagnosis and Evaluation of Acute Coronary Syndrome (CoDE-ACS) ได้รับการออกแบบเพื่อคำนวณความน่าจะเป็น และอัตราเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจวายของผู้ป่วยแต่ละรายออกมาโดยละเอียด
การพัฒนาระบบอัลกอริทึมนี้อาศัยข้อมูลผู้ป่วยหัวใจวายกว่า 10,286 ราย นำข้อมูลมาแมชชีนเลิร์นนิ่งป้อนข้อมูลให้ปัญญาประดิษฐ์ทำการเรียนรู้ อาศัยข้อมูลทั้งจากเพศ, อายุ, โรคประจำตัว, อัตราคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และประวัติทางการแพทย์ประกอบ เพื่อระบุความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวายให้ออกมาแม่นยำที่สุด
โดยอัลกอริทึมนี้ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่าเดิมถึง 2 เท่า และมีอัตราความแม่นยำในการวินิจฉัยมากถึง 99.6%
ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลของปัญญาประดิษฐ์นี้จะช่วยระบุความเสี่ยงให้แก่ผู้ป่วย ทั้งผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัว, ผู้ป่วยไตบกพร่อง หรือแม้แต่ผู้ที่มาเข้ารับการตรวจก่อนเกิดอาการ ช่วยป้องกันอาการหัวใจวายกำเริบที่นำไปสู่อาการรุนแรง ลดความเสียหายที่จะเกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงอัตราการเกิดผู้เสียชีวิตจากหัวใจวายลงมาก จากการระบุได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยรายใดสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย หรือรายใดจำเป็นต้องได้รับการตรวจเฝ้าดูอาการเพิ่มเติม
นี่จึงอาจเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการรักษาโรคหัวใจและรักษาชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลกได้อีกมากเลยทีเดียว
แน่นอนว่าปัญญาประดิษฐ์ CoDE-ACS นี้ยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขหากต้องการนำไปใช้งานทั่วไป ล่าสุดกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบภายในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสก็อตแลนด์ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและขีดความสามารถการใช้งาน
แต่หากการทดสอบนี้ประสบผลสำเร็จจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจหลายล้านคนทั่วโลกเลยทีเดียว
ที่มา
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/heart-attack
https://www.bangkokhearthospital.com/content/3-symptoms-to-look-out-for-before-a-heart-attack