Lumen เอไอจิตแพทย์ช่วยเหลืออาการซึมเศร้า
ซึมเศร้า ถือเป็นอาการทางจิตเวชที่ได้รับการยอมรับทั่วไปว่าเป็นการเจ็บป่วย หนึ่งในปัญหาทางสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการเอาใจใส่และรักษา ปัจจุบันขั้นตอนอาจทำได้ไม่ดีนักจากข้อจำกัดทางบุคลากร แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มมีการคิดค้นเอไอจิตแพทย์
รูปแบบการใช้ชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้น ภายหลังการเปิดเผยข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกที่บอกว่าโรคทางจิตเวชไม่ใช่เรื่องไกลตัว อาการทางจิตประเภทซึมเศร้า ตื่นตระหนก ไปจนวิตกกังวลถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นทั่วไป และโดยเฉลี่ยในสังคมเราสามารถพบคนเหล่านี้ได้ในอัตราส่วนราว 12.5% เลยทีเดียว
แน่นอนเมื่อเกิดความผิดปกติสิ่งแรกที่เราต้องทำคือการพบแพทย์ สำหรับอาการทางจิตเองก็มีจิตแพทย์คอยรองรับให้คำปรึกษา แต่การเข้ารับการรักษาในส่วนนี้มีข้อติดขัดหลายด้าน โดยเฉพาะในทางบุคลากรที่กำลังประสบปัญหาไม่เพียงพอต่อการให้บริการ นำไปสู่แนวคิดการนำเอไอจิตแพทย์มาช่วยเหลือ
กระนั้นเรามาย้อนดูปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางจิตเวชกันเสียหน่อยว่าร้ายแรงเพียงใด
ข้อจำกัดของจิตแพทย์ปัจจุบัน การขาดแคลนบุคลากรทางจิตเวช
หนึ่งในปมปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิตเวชคือ การขาดแคลนบุคลากร จิตแพทย์ที่มีหน้าที่รับฟังคำปรึกษาให้ความรู้ผู้ป่วย ถือเป็นหนึ่งในสายอาชีพที่มีจำนวนและอัตราการผลิตบุคลากรไม่เพียงพอ ห่างไกลจากจำนวนขั้นต่ำที่จะช่วยรองรับผู้ป่วยได้โดยสิ้นเชิง
นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายภาคส่วนทั่วโลก จากการศึกษาของ American Psychological Association พบว่าสหรัฐฯขาดแคลนบุคลากรในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาอย่างเพียงพอ ข้อมูลสถิติในช่วงปี 2022 พบว่า จิตแพทย์ในสหรัฐฯกว่า 60% ไม่ได้ทำการเปิดรับผู้ป่วยรายใหม่ สวนทางกับอัตราการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในประเทศไทยการขาดแคลนบุคลากรทางจิตเวชก็ถือเป็นปัญหาร้ายแรงทางสาธารณสุข ในปี 2022 ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและบำบัดอาการทางจิตเวชมีมากถึง 2.5 ล้านราย ส่วนหนึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของยาเสพติดภายในประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ป่วยทางจิตเวชจำนวนมหาศาล และกว่า 34.58% ถือเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง
ส่วนนี้สวนทางกับจำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่ที่มีอยู่ ด้วยปัจจุบันจำนวนจิตแพทย์ภายในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครมีอยู่เพียง 822 คน ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วจิตแพทย์หนึ่งคนจำเป็นต้องดูแลประชากรกว่า 85,000 ราย อีกทั้งบุคลากรยังถูกแบ่งออกเป็น จิตแพทย์ทั่วไป กับ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ทำให้การจัดสรรบุคลากรยิ่งยากขึ้นไปอีก
ล่าสุดมีแนวโน้มในการผลักดันนโยบายในการผลิตบุคลากรทางจิตเวช มีเป้าหมายในการฝึกอบรมและผลิตจิตแพทย์เพิ่มเข้าสู่ระบบอีก 400 คนให้ได้ภายใน 5 ปี เพื่อกระจายการดูแลสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่เราต่างทราบดีว่านอกจากใช้เวลานานจำนวนบุคลากรก็ยังไม่เพียงพอ จึงเริ่มมีแนวคิดนำเอไอจิตแพทย์มาช่วยเหลือ
Lumen ปัญญาประดิษฐ์รับปรึกษาอาการทางจิต
ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยจาก University of Illinois Chicago กับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ตัวใหม่ในชื่อ Lumen ที่สามารถพูดคุยตอบโต้คู่สนทนา สามารถช่วยเหลือให้คำปรึกษา รวมถึงบำบัดทางจิตในขั้นต้นให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลที่ไม่ร้ายแรงได้
เมื่อพูดถึงประเด็นด้านเอไอกับสุขภาพจิตหลายท่านอาจพากันตั้งคำถาม ด้วยปัญญาประดิษฐ์ตัวเก่งอย่าง ChatGPT ที่ถูกสร้างจากเทคโนโลยี Chatbot นั้นปฏิเสธในการให้คำปรึกษาอย่างแข็งขัน และจะแนะนำให้ผู้ใช้งานที่ตั้งคำถามเชิงปรึกษาในส่วนนี้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
แน่นอนถ้าจะให้พูดเราคงอยากรับคำปรึกษาและพูดคุยกับมนุษย์ด้วยกันมากกว่า แต่ด้วยข้อจำกัดทางบุคลากรดังที่กล่าวไป สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้คนเริ่มเคยชินในการใช้เทคโนโลยีในการหาคำตอบยิ่งขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา
Lumen จะทำหน้าที่รับฟังข้อมูลผ่านเสียงโดยการให้ผู้ป่วยเข้ารับคำปรึกษาผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นจึงช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต โดยทำการบำบัดในรูปแบบ Problem-solving therapy (PST) คอยให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ผู้ป่วยที่ประสบภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ช่วยให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยในการแก้ปัญหาต่างๆ
ผลการศึกษาจากผู้เข้าร่วมการทดลองกว่า 63 ราย พบว่าผู้ป่วยในอัตราส่วน 2 ใน 3 ซึ่งได้รับการพูดคุยและบำบัดด้วย Lumen ราว 8 ครั้งมีระดับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียดทางจิตใจลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัด ช่วยให้พวกเขาสามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
เป้าหมายของทีมพัฒนาไม่ได้ต้องการให้เอไอเข้ามาทดแทนจิตแพทย์ ในมุมมองพวกเขาไม่มีอะไรมาทดแทนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมแก่ผู้คนที่ขาดโอกาสในการเข้ารับรักษาสุขภาพจิต และอาจช่วยเหลือผู้คนได้เป็นจำนวนมากก่อนเข้ารับการรักษา ซึ่งจะมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุข
อย่างไรก็ตามการทดลองใช้และเปิดตัวของ Lumen อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเร็ววัน จากปัญหาสำคัญคือแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี จริงอยู่ ChatGPT ถือเป็นโมเดลปัญญาประดิษฐ์ทรงประสิทธิภาพ แต่หลายครั้งการให้ข้อมูลผิดพลาดหรือข้อมูลเท็จอาจสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้งาน โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษยิ่งต้องระมัดระวัง
อีกทั้งการเปิดตัว Lumen ให้ใช้งานทั่วไปก็ถือเป็นเรื่องน่ากังวล จำเป็นต้องมองหาและกำหนดขอบเขตให้พอเหมาะ เพื่อให้แน่ใจว่าเอไอตัวนี้จะเป็นมิตรและไม่ทำให้เกิดผลกระทบในแง่ลบแก่ผู้ใช้งาน มิเช่นนั้นความเสียหายที่ได้รับอาจมากเกินจะจินตนาการ
เราจึงต้องรอดูต่อไปว่าในอนาคตเราจะมีเอไอจิตแพทย์มาให้คำปรึกษาจริงหรือไม่
ที่มา
https://interestingengineering.com/health/therapized-by-an-ai-chatbot
https://www.hfocus.org/content/2022/12/26556