James Bond X โฆษณาแฝงในวงการหนัง: ลู่ทางดันยอดขายในโลกยุคใหม่
ในปัจจุบันการทำการตลาดแบบ Product Placement ในวงการหนังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นสื่ออันดับต้นๆ ที่คนเลือกจะเข้าถึง และโอกาสที่คนจะเห็นสินค้าในหนังก็มีมากขึ้น หากมองในระยะยาว การสร้างแบรนด์ด้วยวิธีนี้ก็ถือเป็นอะไรที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ถือเป็นหนึ่งในความสำคัญเบอร์ต้นๆของเหล่าสตาร์ทอัพรวมถึงนักธุรกิจหลายๆคน ซึ่งวิธีผลักดันสินค้าในปัจจุบันก็มีมากมายหลายวิธี แต่สิ่งที่น่าจับตามองและอาจจะมาเหนืออยู่หน่อยๆในยุคนี้คือการทำ “Product Placement” ในภาพยนตร์ หรือจะเรียกว่าเป็นการโฆษณาแอบวางสินค้าเข้าไปแบบเนียนๆก็ไม่ผิดนัก
หากเราสังเกตดีๆ อาจเคยเห็นฉากที่ตัวเอกของเรื่องเลือกใส่รองเท้าแบรนด์หรู หรือสมาร์ทโฟนที่ใช้ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกันแทบทั้งเรื่อง ฯลฯ นี่แหละคือวิธีในการวางสินค้าเนียนๆของแต่ละแบรนด์ ซึ่งใครจะบอกว่าไม่เวิร์คก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก ในเมื่อภาพยนตร์เป็นสื่อที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่าย อัตราที่คนจะเห็นสินค้าก็เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำถ้าเลือกจับกระแสภาพยนตร์ได้ถูกจุด ดูไม่ยัดเยียดผู้ชมจนเกินไป จะยิ่งทำให้ยอดขายพุ่งทยานแบบถล่มทลาย
James Bond กับโฆษณาแฝงในภาพยนตร์
จากงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ใน ใน Medical Journal of Australia ว่าด้วยเรื่องการศึกษาพฤติกรรมการดื่มของพยัคฆ์ร้าย 007 ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา พบว่ายอดสายลับรายนี้มีพฤติกรรมติดแอลกอฮอล์อย่างเห็นได้ชัด แต่นอกจากพฤติกรรมของตัวละครแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาไปถึงผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่า ‘แอบขายแบบเนียนๆ’ ที่ปรากฎในภาพยนตร์แฟรนไชส์หนังสายลับเรื่องนี้
ในช่วงแรกที่ภาพยนตร์แฟรนไชส์เรื่องนี้ปรากฏสู่สายตาสาธารณะชนในช่วงปี 1960 มีการวาง Product Placement หรือผลิตภัณฑ์แฝงทั้งหมด 5 ตัวด้วยกัน โดยไม่มีการพาดพิงถึงแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย แต่ในช่วงปี 2010 ภายในภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมีการวางโฆษณาแฝงถึง 30 ตัวด้วยกัน! ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ประเภทแอลกอฮอล์ไปจนถึงรถยนต์
สัดส่วนโฆษณาแฝงในหนัง James Bond
งานวิจัยได้เผยสัดส่วนโฆษณาแฝงของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ปรากฏในภาพยนตร์แฟรนไชส์สายลับเจมส์ บอนด์ 007 โดยนับตั้งแต่ปี 1962 - 2015
ผลิตภัณฑ์ประเภทแอลกอฮอล์ที่โฆษณาแฝง
ปี 1960s 3.3%
ปี 1970s 12%
ปี 1980s 16%
ปี 1990s 21%
ปี 2000s 13%
ปี 2010s 15%
รวมทุกผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาแฝง
ปี 1960s 5 ชิ้น
ปี 1970s 7 ชิ้น
ปี 1980s 8 ชิ้น
ปี 1990s 11 ชิ้น
ปี 2000s 21 ชิ้น
ปี 2010s 30 ชิ้น
จะเห็นได้ว่า Product Placement มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการจะผลักดันสินค้าและยอดขายด้วยวิธีวางเนียนๆในภาพยนตร์แบบนี้ ใช่ว่าจะเวิร์คทุกเรื่องเสมอไป เพราะไม่ใช่ว่าหนังทุกเรื่องที่เข้าฉายจะดังเป็นพลุแตกหรือเป็นที่รู้จัก การประเมินศักยภาพของภาพยนตร์ไว้ก่อนถือเป็นภาระที่ทางแบรนด์ต้องประเมิน และแลกมากด้วยค่าใช้จ่ายแบบสูงลิ่ว
นอกจากสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ 007 แล้ว อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่านำมาศึกษาคือรถคู่กายอย่าง ‘Aston Martin’ ที่กลายมาเป็นภาพจำระดับตำนาน แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีในปี 1995 รถคู่ใจของบอนด์จะเป็นแบรนด์หรูอย่าง BMW แต่หลังจากในปี 2002 ที่ Aston Martin วางเดิมพันทับด้วยมูลค่า 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เสนอให้แบรนด์ตัวเองเข้ามาใช้ในเรื่องแทน เราจึงได้เห็นรถยนต์แบรนด์นี้อยู่คู่กับ พยัคฆ์ร้าย 007 เสมอมา
Case Study ที่ควรศึกษา
หากจะถามว่าแล้วมีภาพยนตร์เรื่องใดบ้าง ที่เมื่อแบรนด์สินค้าตัดสินใจลงทุนกับ Product Placement แล้วออกมาเวิร์กสุดๆ? มาลองดูกันที่เรื่องแรกดีกว่ากับภาพยนตร์ที่เข้าฉายในปี 1996 ‘Top Gun’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทอม ครูซได้รับบทเป็นนักแสดงนำของเรื่อง แถมยังสวมแว่นตา Ray-Ban Aviator แทบทั้งเรื่อง ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย ยอดขายแว่นรุ่นนี้พุ่งทะยานถึง40% ภายใน 7 เดือน!
หรืออีกตัวอย่างจากฝีมือการกำกับของ สตีเวน สปีลเบิร์ก กับภาพยนตร์เรื่อง ‘E.T.’ ที่แบรนด์ขนมอย่าง Reese’s Pieces ยอมลงทุนกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อให้สินค้าของตัวเองปรากฎในหนังเรื่องนี้ ซึ่งข่าวดีคือหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ยอดขายของ Reese’s Pieces ถีบตัวสูงขึ้นถึง 70-80% และยังกลายมาเป็นขนมที่เด็กๆชื่นชอบเป็นอย่างมากอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.statista.com/chart/16434/james-bond-product-placements/
https://www.mja.com.au/system/files/issues/209_11/10.5694mja18.00947.pdf