“สมาพันธ์ FATA” ผนึกกำลัง“แอ๊ตต้า”ชู “มิ่งขวัญ”นั่งรองปธ.บูมท่องเที่ยวอาเซียน
“สมาพันธ์ FATA ” ผนึกกำลัง “แอ๊ตต้า” ชู “มิ่งขวัญ” นั่งรองปธ.บูมท่องเที่ยวอาเซียน เจ้าตัวหนุนเต็มที่สร้าง “มาตรฐานท่องเที่ยวอาเซียน – HUB ตลาดไมซ์” คาดสร้างรายได้เข้าปท.กว่าหมื่นลบ.
“สมาพันธ์ FATA ” ผนึกกำลัง “แอ๊ตต้า” ชู “มิ่งขวัญ” นั่งรองปธ.บูมท่องเที่ยวอาเซียน เจ้าตัวหนุนเต็มที่สร้าง “มาตรฐานท่องเที่ยวอาเซียน – HUB ตลาดไมซ์” คาดสร้างรายได้เข้าปท.กว่าหมื่นลบ.
นางมิ่งขวัญ เมธเมาลี ประธานฝ่ายการตลาด สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการสมาพันธ์บริษัทนำเที่ยวอาเซียน (Federation of ASEAN Travel Association : FATA) แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองประธานสมาพันธ์ FATA ( Deputy of President ) ในส่วนของแอ๊ตต้า รู้สึกยินดีและมองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้จุดยืนของสมาพันธ์ฯคือ การให้ความช่วยเหลือในการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาเซียนให้ไปสู่มาตรฐานสูงสุดของการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว
โดยปัจจุบันสมาพันธ์ FATA มีบริษัทนำเที่ยวเป็นสมาชิกอยู่รวมกันถึง 10 ประเทศนับจำนวนประชากรรวมประมาณ 622 ล้านคน มีบริษัทนำเที่ยวที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ฯมากกว่า 10,000 ราย ดังนั้นการขยับและรวมตัวกันทำงานของสมาพันธ์ฯ ในฐานะที่เป็นองค์กรระดับภูมิภาคจะช่วยเกิดประโยชน์กับกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาเซียน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ทั้งนี้ในส่วนของแอ๊ตต้าที่เข้าไปมีบทบาทในสมาพันธ์ FATA ได้มีเป้าหมายอยากจะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมการตลาดหรือจัดประชุมสัมมนาในรูปแบบ MICE ในเมืองหลักแล้วเกิดการท่องเที่ยวต่อยังเมืองรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
นางมิ่งขวัญ กล่าวด้วยว่า จากการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยผ่านสมาคมแอ๊ตต้า ปี 2017 พบว่า มียอดนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 500,000 คน ในจำนวนนี้ใช้เวลาอยู่เมืองไทยประมาณ 3 วันเป็นอย่างน้อยและมาบ่อย เกิดค่าใช้จ่ายต่อวันต่อคนประมาณ 3,500 บาท คิดเป็นรายได้เข้าประเทศประมาณ 5,250 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น หากผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์รวมกิจกรรมการตลาดหรือจัดประชุมสัมมนาในรูปแบบ MICE ได้ คาดว่าจะมีรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัว คือจากค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อวัน 3,500 บาทเพิ่มเป็น 7,000 บาทต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็นรายได้เข้าประเทศเพิ่มรวมประมาณ 10,500 ล้านบาท.