posttoday

สสว.ยกระดับของดีเมืองไทย พัฒนาผู้ประกอบการ “ปลากัด” หวังดันตลาดส่งออกโต 800 ล้านบาท

23 กันยายน 2564

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงผลดำเนินการผลักดันธุรกิจผู้ประกอบการ SMEs สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 270 ล้านบาท ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสัตว์น้ำสวยงาม “คลัสเตอร์ปลากัด” ที่มีการเติบโตอย่างมั่นคงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หวังภายในครึ่งทศวรรษหน้า ตลาดส่งออกปลากัดจะเติบโต มูลค่าเฉียดหลักพันล้านบาท

นายวีระพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า เป็นปีที่ 3 แล้วที่สสว. ได้มุ่งพัฒนาคลัสเตอร์ผู้ประกอบธุรกิจด้านปลากัด การตั้งคลัสเตอร์จับผู้ประกอบการมารวมตัวเป็นกลุ่มแบ่งตามภูมิภาคต่างๆ นั้น มาจากแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนมุมมองแบบเดิม คนขายของประเภทเดียวกันคือคู่แข่ง กลายเป็นคู่ค้าที่สามารถขยายตลาดขายได้กว้างไกลยิ่งขึ้น ในปีนี้เรามีการพัฒนาระบบเว็บแอพลิเคชั่นในการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ดึงหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปิดออกซิเจนในน้ำ ไปจนถึงไฮไลต์การประกวดปลากัดนานาชาติ ในวันที่ 18-19 ก.ย. ที่ผ่านมา ร่วมมือกับสมาคมปลากัด กรมประมง ซึ่งมีปลากัดจากภูมิภาคต่างๆมาประชันโฉมกันผ่านทางออนไลน์มากกว่า 1,000 ตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ การประกวดปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือปลากัดป่า 18 รุ่น และการประกวดปลากัดสวยงามที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันที่สวยงาม 36 รุ่น

สสว.ยกระดับของดีเมืองไทย พัฒนาผู้ประกอบการ “ปลากัด” หวังดันตลาดส่งออกโต 800 ล้านบาท

การจัดประกวดปลากัดเป็นแผนการส่งเสริมให้เกิดการตลาด ควบคู่กับมาตรฐานปลากัดผ่านการประกวดปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ เนื่องจากปลากัดเป็นสัตว์น้ำสวยงามที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่น่าเสียดายอยู่ที่ต้องทำแบบออนไลน์ เพราะการมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันย่อมดีกว่า เช่นเดียวกับ ความท้าทายและอุปสรรค เรื่องสีของปลาเวลามองผ่านหน้าจอ กระนั้นทั้งหมดนี้ ก็ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนา สร้างความรับรู้ และสร้างมาตรฐาน ตามหลักการทำมาตรฐานได้ ก็กำหนดราคาได้ ทั้งเป็นการนำเสนอภาพความสวยงามออกสู่สายตาชาวโลก กระตุ้นกระแสความต้องการของปลากัดไทยในตลาดโลก

ก่อนหน้านี้ สสว.ได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการคลัสเตอร์ต่างๆ ทั้งแปรรูปอาหารทะเล แปรรูปประมงน้ำจืด สมุนไพร เกลือ ทุเรียน กระเทียม ด้านสุขภาพ ไม้ดอกไม้ประดับ ดิจิทัลคอนเทนต์ โกโก้ ด้วยเช่นกัน โดยมีปลากัดเป็นคลัสเตอร์ที่มีความเติบโตอย่างโดดเด่น ข้อมูลกรมศุลกากรปี 2563 พบปลากัดไทยส่งออกไป 74 ประเทศทั่วโลก มูลค่ากว่า 213.66 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกสัตว์น้ำสวยงาม มากที่สุดคือส่งไปสหรัฐอเมริกา มูลค่ากว่า 108.2 ล้านบาท รองลงมาคือจีน อิหร่าน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ และถือว่ามีปริมาณการส่งออกสูงสุดในกลุ่มสัตว์น้ำสวยงามของไทย

อย่างไรก็ตาม นายวีระพงศ์ยอมรับว่า เมื่อเป็นสัตว์น้ำประจำถิ่น จึงถูกดึงส่วนแบ่งการตลาดจากประเทศอื่นๆในภูมิภาคเราด้วยเช่นกัน แต่เชื่อว่า กลไกการตลาดในตอนนี้ เราพร้อมกว่าที่อื่น อีกทั้งปลากัดของเราก็มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โจทย์สำหรับเราจึงอยู่ที่การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีการดูแลเพื่อสร้างมาตรฐานให้ชัดเจน เพราะตัวอย่างเช่นปลากัดที่ส่งออกไป พอไปอยู่ที่อื่นเปลี่ยนน้ำ เปลี่ยนอุณหภูมิ สีก็เปลี่ยนตาม ใครก็อยากได้ของคุณภาพคงเดิมนับจากวันที่ซื้อ ตรงจุดนี้ต้องดำเนินการต่อ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าทำได้ประกอบกับการเรียนรู้ตลาด หาจุดเด่นของแต่ละคลัสเตอร์เพิ่มเติม ดึงผู้ประกอบการที่มีของดีอยู่ในมือ แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมคลัสเตอร์ ไปจนถึงหากลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และการทำสื่อสร้างความรับรู้ จะทำให้ภายใน 3 ปีข้างหน้า ตลาดส่งออกปลากัดอาจเติบโต ได้ถึง 800 ล้านบาท หรือระดับ 1,000 ล้านบาท

สสว.ยกระดับของดีเมืองไทย พัฒนาผู้ประกอบการ “ปลากัด” หวังดันตลาดส่งออกโต 800 ล้านบาท

ข้อจำกัดของเอสเอ็มอีในไทยคือ มีจำนวนไม่มาก มีไม่ถึง 30,000 ราย ทั้งที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สสว.จึงอยากส่งเสริมในเรื่องนี้ พร้อมประชาสัมพันธ์ว่าเกณฑ์การเข้าร่วมคลัสเตอร์ผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่การสมัครสมาชิกร่วมกับ สสว. ก็จะสามารถเข้าถึงประโยชน์ที่หลากหลาย อย่างในแอพลิเคชั่น สสว. Connext ก็ยังมีทั้งข้อมูลตลาดทุน การจัดกิจกรรม เปิดอบรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการจับตลาดต่างประเทศ ซึ่งภายในปี 2565 สสว.ยังตั้งใจจะผลักดันผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลทั่วไป ทั้งทำให้แอพฯเป็นหลักฐานในการยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการ ไปจนถึงแผนการที่จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งในการขอใบอนุญาตต่างๆ เช่น ใบอนุญาตอาหารและยา (อย.) หรือการขอใบอนุญาตส่งออกด้วยเช่นกัน