posttoday

แถลงการณ์สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เรื่อง ความจําเป็นของการได้รับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น

20 เมษายน 2565

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ที่มีการระบุว่า ไม่มีความจําเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น การปล่อยให้ ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron มีความปลอดภัย และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาตินั้น สถาบันมีความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับการส่งต่อข้อมูลที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวอย่างมาก

ในการนี้ สถาบันขอยืนยันว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในสถานการณ์ที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วนั้น มีความจําเป็นอย่างมาก โดยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดอาการป่วยที่รุนแรง ลดโอกาสการเสียชีวิต และลดโอกาสการเกิดภาวะ Long COVID ในผู้ใหญ่ รวมถึงภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children; Mis-C) จากการป่วยด้วยโควิด 19 ได้จริง หลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถลดอาการเหล่านี้ลงได้มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเลย หรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น มีการดําเนินการอย่างกว้างขวาง ทําให้มีรายงานยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิผล (Vaccine effectiveness) ของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจํานวนมาก จากหลายประเทศทั่วโลก โดยในประเทศไทยได้มีการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ในประเทศด้วยเช่นกัน ผลการศึกษาในปัจจุบัน (ข้อมูลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริง จ.เชียงใหม่ ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2565 ณ วันที่ 8 เมษายน 2565) ระบุว่า

“ในสถานการณ์การระบาดของ Omicron การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 85% และหากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในระยะเวลาที่เหมาะสม สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 34-68% และเพิ่มการป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 98-99% และเมื่อมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 เมื่อครบกําหนดการเข้ารับวัคซีน พบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สูงถึง 80-82% โดยยัง ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจาก โควิด 19 ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4”

จากผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริงในระดับโลก ทําให้องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศสนับสนุนให้ประชาชน เข้ารับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่า ความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยรวมยังค่อนข้างน้อย โดยมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 35% เท่านั้น (ข้อมูลระดับประเทศ ณ วันที่ 8 เมษายน) และจากการเก็บข้อมูลของผู้ที่มีอาการป่วย รุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 พบว่า ยังคงเป็นประชากรในกลุ่ม 608 ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในอัตราส่วนที่สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น โดยพบด้วยว่า ประชากรในกลุ่ม 608 ยังมีการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นค่อนข้างต่ำ

ดังนั้น สถาบันจึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคร่วม 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด 19 มาก่อน ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มแรก และเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกําหนดนัดหมาย หากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มาแล้วนานกว่า 3 เดือน ให้รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 และหากได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มาแล้ว เป็นเวลา 4 เดือน ขึ้นไป ให้รีบเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 4 นอกจากนี้ การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการสําคัญ ที่เมื่อปฏิบัติควบคู่กับการฉีด วัคซีนจะช่วยควบคุมการระบาดของโรค ลดโอกาสการกลายพันธุ์ของไวรัส และลดความเสี่ยงของการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิผล สถาบันจึงขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและบุคคลที่ท่านรัก