เลขาธิการ คปภ. สรุปส่งท้ายโครงการ “พ.ร.บ.รุกทั่วไทย”
เลขาธิการ คปภ. สรุปส่งท้ายโครงการ “พ.ร.บ.รุกทั่วไทย” เผยประชาชนตื่นตัวทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้น 2 ล้านฉบับ พร้อมเดินหน้าดำเนินการเชิงรุกเพื่อช่วยให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงการประกันภัย พ.ร.บ. อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวปิดโครงการ “พ.ร.บ.รุกทั่วไทย” ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหา ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เป็นอย่างมาก ดังนั้น ระบบประกันภัยจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงและสามารถเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดโครงการ พ.ร.บ.รุกทั่วไทย เพื่อรณรงค์ให้เจ้าของรถและผู้ครอบครองรถตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น
สำนักงาน คปภ. มีภารกิจหลักในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองดูแลผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ผ่านการจ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ในกรณีรถที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่มีการประกันภัย พ.ร.บ. รวมถึง กรณีรถมีการประกันภัย พ.ร.บ. แต่ไม่อาจใช้สิทธิได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระทางการเงินให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัวผู้ประสบภัย ผู้ขับขี่ สถานพยาบาล หรือแม้แต่นายจ้างของผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการลดปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประสบภัยจากรถไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
ทั้งนี้ จากสถิติการทำประกันภัย พ.ร.บ. และการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม ปี 2565 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ในปี 2565 มีการทำประกันภัย พ.ร.บ. เพิ่มขึ้นจำนวน 2.01 ล้านฉบับ และจากตัวเลขการทำประกันภัย พ.ร.บ. ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิจากการประกันภัยลดลงถึง 12.50 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการ พ.ร.บ. รุกทั่วไทย ที่มีการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากกิจกรรมที่มีการเปิดให้ประชาชน สามารถลงทะเบียนรับกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ จำนวน 10,000 ฉบับ โดยเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2565 ปรากฏว่ามีประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมลงทะเบียนกว่า 30,000 ราย ซึ่งสำนักงาน คปภ. โดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้ดำเนินการส่งมอบกรมธรรม์ ให้แก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 10,065 ฉบับ แบ่งเป็น ภาคเหนือ จำนวน 1,090 ฉบับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) จำนวน 1,302 ฉบับ ภาคกลาง จำนวน 556 ฉบับ ภาคตะวันออก จำนวน 886 ฉบับ ภาคตะวันตก จำนวน 488 ฉบับ ภาคใต้ จำนวน 1,104 ฉบับ และกรุงเทพมหานคร จำนวน 4,639 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดได้ดำเนินการส่งกรมธรรม์ให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ทางไปรษณีย์ครบถ้วนแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “ส่งรักทั่วไทย อุ่นใจเมื่อมีประกันภัย พ.ร.บ.” ที่จัดขึ้นทั้ง 4 ภาค อีกทั้งมีการผลิตและเผยแพร่คลิปวีดิโอให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. รวมถึงผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ Infographic แบบภาพเคลื่อนไหว (Motion Graphic) เพื่อย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. อีกด้วย
“สำนักงาน คปภ. ต้องขอขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนให้โครงการ พ.ร.บ. รุกทั่วไทย ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง รวมทั้งพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะยังคงมุ่งมั่นในการเป็นหน่วยงานที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยจะดำเนินการเชิงรุกเพื่อช่วยให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงการประกันภัย พ.ร.บ. อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย