posttoday

ศศก.ประชุมวิชาการเผยเยาวชนไทยใช้กัญชาพุ่ง10เท่าตัว

27 ธันวาคม 2565

ศศก. จัดประชุมวิชาการ มุ่งพัฒนาศักยภาพการวิจัยและนักวิชาการการเสพติด พบสถิติน่าห่วง เยาวชนไทยใช้กัญชาแบบสูบพุ่งสูง 10 เท่า จ.น่าน พบนักดื่มมากที่สุด

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด จัดเสวนารายงานผลวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสารเสพติด พบสถิติเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้กัญชาแบบสูบสูงขึ้น 10 เท่าในระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ปัจจัยการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นพบว่าเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด จ.น่าน ดื่มมากสุดอันดับ 1 ขณะที่ จ.ยะลา ครองแชมป์เสี่ยงดื่มน้อยที่สุด

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมโซ แบงคอก ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการและประชุมวิชาการศูนย์การศึกษาปัญหาการเสพติด เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยและนักวิชาการการเสพติด โดยร่วมนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเสพติดจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การต่อยอดในเชิงวิชาการและการนำไปแก้ไขปัญหาสารเสพติดในสังคม

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สารเสพติดที่แพร่หลายในปัจจุบันมีทั้ง บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาบ้า  กัญชา และ โอปิออยด์ (Opioids) ซึ่งสารเหล่านี้อยู่ในสังคมไทยและทั่วโลกมานาน สำหรับสถานการณ์โลกปี ค.ศ.2022 มีรายงานที่เผยแพร่โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า ประชากรทั่วโลก อายุ 15 - 64 ปี มีการใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย 284 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26 จากปี ค.ศ.2010 โดยสารเสพติดที่พบหลัก ๆ ได้แก่ กัญชา โอปิออยด์ แอมเฟตามีน เอ็กซ์ตาชี (ยาไอซ์) ขณะที่ประเทศไทย ผลสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2563 คือช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 เพื่อดูว่าสถานการณ์ของสารเสพติดในช่วงนั้นเป็นอย่างไร พบว่าร้อยละ 4.6 ประชากรใช้สารเสพติดกฎหมายในรอบ 12 เดือน ขณะที่ผลการสำรวจปี พ.ศ. 2565 พบว่าเด็กและเยาวชน อายุ 18 - 19 ปี มีการสูบกัญชาเพิ่มมากขึ้น 2 เท่าจากที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผลการสำรวจ ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด จากกรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 - 65 ปี ใน 20 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2565  ที่จัดทำร่วมกันระหว่าง ศศก. กับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 5,630 คน เป็นเพศชาย 2,725 คน เพศหญิง 2,905 คน พบว่า ประชาชนไทยอายุ 18 - 65 ปี มีทัศนคติเห็นด้วยว่าปัญหาสารเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของชาติ และไม่ควรลองใช้สารเสพติด และส่วนใหญ่ร้อยละ 41 ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การถอดกัญชาออกจากยาเสพติดเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ขณะที่ร้อยละ 25 มองว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย

รศ.พญ.รัศมน กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจเกี่ยวกับกัญชา ที่ปลดออกจากบัญชียาเสพติด พบว่า การปลูกกัญชาในครัวเรือน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 86 ของกลุ่มตัวอย่างพบว่าเป็นผู้ที่ไม่ปลูก ส่วนคนที่ปลูกมีค่าเฉลี่ยจำนวนต้นที่ปลูกในครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 2 ต้น โดย 3 ใน 4 ของคนที่ปลูกนั้นไม่ได้จดแจ้ง หรือไม่ขอตอบ/ไม่ทราบ นอกจากนี้ยังพบว่าในหนึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.9 ใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการ และหนึ่งในห้าของผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีการใช้กัญชาแบบนันทนาการ

โดยตัวเลขที่น่าตกใจคือเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้กัญชาแบบสูบสูงขึ้น 10 เท่า ภายในระยะเวลา 3 ปี ในด้านผลกระทบจากการใช้พบว่าร้อยละ 10 ของผู้ที่ตอบว่าเคยใช้กัญชา มีอาการทางกาย เช่น วิงเวียน ใจสั่น เหงื่อแตก และร้อยละ 1.5 มีอาการทางจิต เช่น หูแว่ว ภาพหลอน ขณะที่พืชกระท่อม พบว่า ร้อยละ 6.4 มีการเคี้ยวใบกระท่อมสดเพื่อนันทนาการ ร้อยละ 4.5 ดื่มน้ำต้มกระท่อมผสมสารอื่น และ ร้อยละ 4.0 ดื่มน้ำต้มกระท่อมบรรจุขวดสำเร็จรูปไม่ผสมสารอื่น ในส่วนของข้อมูลการใช้สารเสพติด พบว่า ร้อยละ 58.7 ของกลุ่มตัวอย่างมีการใช้สารเสพติด รวมแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา กระท่อม ยาบ้า ไอซ์ และร้อยละ 4.8 ของกลุ่มตัวอย่างมีการใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย (ไม่รวมแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา กระท่อม) นอกจากนี้ร้อยละ 48.9 ของกลุ่มตัวอย่าง ดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 25.5 ของกลุ่มตัวอย่างสูบบุหรี่ในปีที่ผ่านมา

“กล่าวโดยสรุปว่า กลุ่มตัวอย่างมองปัญหาสารเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของชาติ และมีความเห็นว่าไม่ควรลองใช้สารเสพติด การใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2565 การใช้กัญชาแบบสูบในเด็กและเยาวชนไทยอายุ 18-19 ปี สูงขึ้น 10 เท่า จากร้อยละ 1 - 2 เป็นร้อยละ 9.7 ในระยะเวลาเพียง 3 ปี การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สูงขึ้น รวมถึงสารเสพติดผิดกฎหมายอื่นพบสูงขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าสัดส่วนการใช้กัญชา โดยมีข้อแนะนำ ว่า ควรใช้กฎหมายเข้าควบคุมสารเสพติดโดยเร่งด่วน โดยเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้ (enforcement) ได้จริงในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบ ควรติดตามผลกระทบทางกายและจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นของประชากรไทยในช่วงปีที่ผ่านมา มาตรการการป้องกันโดยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงสารเสพติดยังเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงมาตรการให้ความรู้แก่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของสารเสพติดยังเป็นสิ่งจำเป็น” รศ.พญ.รัศมน กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สถานการณ์จากผลสำรวจข้างต้น ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน พร้อมเผยผลการสำรวจในกลุ่มเด็กและเยาวชนในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไทยยังผิดกฎหมาย ในเรื่องการนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามให้บริการ ซึ่งที่ผ่านจมามีงานวิจัยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ที่เรานำมาอ้างอิง แต่ในไทยก็มีการศึกษาเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มมากขึ้น โดยนำผลงานวิจัยเรื่อง Use of E-Cigarettes and Associated Factors among Youth in Thailand หรือ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ที่ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2564 จากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนจำนวน 6,045 คน อายุระหว่าง 11 - 16 ปี จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3.7% โดยเด็กผู้ชายสูบมากกว่าผู้หญิง (5.9% และ 1.3% ตามลำดับ) “การศึกษาพบว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยมี 5 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. มีพ่อหรือแม่สูบบุหรี่ไฟ้ฟ้าเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม 6 เท่า 2. คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย เสี่ยงติดเพิ่ม 5 เท่า 3. สูบบุหรี่ธรรมดาอยู่แล้ว เสี่ยงติดเพิ่ม 4 เท่า 4. มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงติดเพิ่ม 4 เท่า และ 5. สภาพแวดล้อมที่เพื่อนยอมรับการสูบบุหรี่ เสี่ยงติดเพิ่ม 2 เท่า ซึ่งผลการศึกษาค่อนข้างตรงกับการศึกษาในต่างประเทศ ในฐานะผู้ดูแลเรื่องสุขภาพ และร่วมกำหนดนโยบาย ควรให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ในเรื่องการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ปริมาณสารนิโคตินสูง เสพติดง่ายและเลิกยาก มีอันตรายกับสมองเด็กเพราะสมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ด้าน ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวถึง ผลการศึกษา ภาระโรคจากยาเสพติดและแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2562 และแง่มุมการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ในยุค VUCA World พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับที่ 4 ที่ทำให้ประชากรไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรหรือการอยู่อย่างทุพพลภาพคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของการสูญเสียทั้งหมด แอลกอฮอล์เป็นทั้งสารเสพติด สารพิษและสารก่อมะเร็งทำให้เกิดโรคและการบาดเจ็บกว่า 230 อาการ การดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มผู้ชายทำให้เกิดภาระโรคจาการป่วยและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุด รองลงมาคือโรคตับแข็ง การบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ การฆ่าตัวตายหรือความรุนแรงทางกาย และโรคมะเร็ง โดยการเจ็บป่วยด้วยโรคตับแข็งและโรคมะเร็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้เกิดขึ้นผลเฉพาะกับผู้ดื่ม แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างผู้ดื่มด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นความความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในสังคม ไปจนถึงสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงจากคนดื่มและเมาสุรา ในยุคปัจจุบันเยาวชนมีความเสี่ยงรอบด้านที่จะเข้าใกล้แอลกอฮอล์และยาเสพติดทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการทำการตลาดและส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ของธุรกิจแอลกอฮอล์ที่มากขึ้น

ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ด้วยนโยบายแอลกอฮอล์ที่ป้องสุขภาพประชาชน จัดการปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการไม่ดื่มไม่เสพ และการวิถีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอล์และสารเสพติด ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนและสังคม โดยเฉพาะการเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายและแจ้งแก่หน่วยภาครัฐด้วย

ด้าน ดร.นพ.อธิบ ตันอารีย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวถึง รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัดปี พ.ศ. 2564 ที่ทำการสำรวจพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ จากกลุ่มตัวอย่าง 84,000 คน ทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 28 ของประชากรไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไปดื่มสุราในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 9 ของวัยรุ่นไทยอายุ 15 - 19 ปี ดื่มสุรา แม้ว่ากฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้ผู้อายุต่ำว่า 20 ปี ขณะที่สัดส่วนของนักดื่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูง คือ ดื่มบ่อยอย่างน้อยทุกสัปดาห์ ร้อยละ 43.8 ดื่มหนัก ร้อยละ 35.9 ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ร้อยละ 31.6 ขณะที่ความชุกของการดื่มรายภาค พบว่า ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีนักดื่มวัยผู้ใหญ่สูงที่สุด สอดคล้องกับนักดื่มวัยรุ่น แต่พบว่าสัดส่วนการดื่มประจำมากที่สุด คือ ภาคกลาง เมื่อเทียบรายจังหวัดที่ดื่มมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ น่าน เชียงราย แพร่ มุกดาหาร พะเยา จังหวัดที่ดื่มน้อยที่สุด 5 อันดับ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา สิงห์บุรี ตามลำดับ

“ข้อมูลที่น่าสนใจคือ จังหวัดที่พบการดื่มมากที่สุด 5 อันดับในปี 2560 อันดับลดลงซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ได้แก่ จ.ลำปาง จากอันดับ 1 ลงมาอยู่ที่อันดับ 22 จ.จันทบุรี จากอันดับที่ 4 ลงมาอยู่ที่อันดับ 18 และ จ.สุโขทัย จากอันดับ 5 ลงมาอยู่ที่ 17 ส่วนจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำสุดยังคงเป็นกลุ่มจังหวัดเดิม เพียงแต่สลับอันดับเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์ และเรียนรู้จากจังหวัดเหล่านี้ว่ามีมาตรการในพื้นที่อย่างไร” ดร.นพ.อธิบ กล่าว