posttoday

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปักหมุดความสำเร็จ DBD SMART Local

18 มิถุนายน 2566

กรมพัฒน์ฯ ปักหมุดความสำเร็จ ไม่ถึงปี DBD SMART Local ช่วยผู้ประกอบการชุมชน 210 ราย ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ มูลค่าการค้ารวมกว่า 65 ล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปักหมุดความสำเร็จ ไม่ถึงปี..DBD SMART Local ช่วยผู้ประกอบการชุมชน 210 รายขยายตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในและต่างประเทศ มูลค่าการค้ารวมกว่า 65 ล้านบาท กว่าจะมีวันนี้ ต้องคลุกคลีและทำความเข้าใจผู้ประกอบการและสินค้าอย่างถ่องแท้ ก่อนร่วมกันวางแผน เรียนรู้ พัฒนา บ่มเพาะและพาออกตลาดพบปะลูกค้าเพื่อสะสมประสบการณ์ มั่นใจ!! ความสำเร็จมาจากประสบการณ์และวิธีการแก้ไขปัญหา

 

ที่หลากหลาย เป็นการเพิ่มวัคซีนเสริมแกร่งผู้ประกอบการชุมชน ก่อนก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งใช่แค่การพัฒนาตนเองจนเข้มแข็ง แต่เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจประเทศอีกทางหนึ่ง

 

​นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ผลสำเร็จของการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนตามแนวทาง DBD SMART Local คือ การที่ผู้ประกอบการมีความเข้าใจตนเองและความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี สร้างสรรผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด และครองใจลูกค้าอย่างเหนียวแน่น จนก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพที่มีความแข็งแกร่ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้โครงการ ‘ขับเคลื่อนตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่เศรษฐกิจยุคใหม่’ ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพทางการตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผู้ประกอบการชุมชน

 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้ช่วยผู้ประกอบการชุมชน 210 ราย ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการค้ากว่า 65 ล้านบาท นับเป็นความสำเร็จและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของผู้ประกอบการ กว่าจะมีวันนี้ได้ กรมฯ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ ต้องคลุกคลี เรียนรู้ ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างถ่องแท้ เพื่อคั้นเอาความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการและความพิเศษของสินค้ามาพัฒนาจนตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึง เรียนรู้และวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งของตนเอง/สินค้า โดยต้องเร่งปิดจุดอ่อนที่เห็น-ขยายจุดแข็งที่พบอย่างรวดเร็วรอบคอบเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาด ซึ่งช่วยให้การประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างมั่งคง

 

ความสำเร็จของ DBD SMART Local เกิดจากการองค์ประกอบ 4 กิจกรรมสำคัญ คือ 1) การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีศักยภาพทางการตลาด 100 ผลิตภัณฑ์ (DBD Top 100 SMART Local) จากผู้ประกอบการ 43 จังหวัด 

 

มาพัฒนาและต่อยอดให้มีความสมบูรณ์ 2) เพิ่มศักยภาพการตลาดและขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจประกอบด้วย 2.1 การจัดเสวนาเพิ่มศักยภาพการตลาด ‘ก้าวทันโลก 2566’ เพื่อเรียนรู้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยผ่านมุมมอง Mega Trend เทรนด์ธุรกิจ สินค้า และพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต ก่อนนำมากำหนดทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

 

2.2 ฝึกเจรจาธุรกิจและจัดแสดงสินค้าอย่างมืออาชีพ โดยให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์มานำเสนอแก่ซัพพลายเออร์จริงๆ พร้อมทั้งสอนเทคนิคการเจรจาขั้นสูง การนำเสนอสินค้า การโน้มน้าวใจ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ตลอดจน สอนเทคนิคการออกแบบและจัดดิสเพลย์สินค้าตามสถานที่ต่างๆ โดยดีไซน์เนอร์ด้านการจัดดิสเพลย์ระดับประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญ ก่อนที่จะทำการทดสอบตลาดกับกลุ่มผู้จัดจำหน่าย 10 แห่ง ซึ่งเกิดคำสั่งซื้อภายใน 1 ปี จำนวนกว่า 10 ล้านบาท

 

 

3) เชื่อมโยงและเจรจาจับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเชิญเทรดเดอร์ บายเออร์ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด โรงแรม ธุรกิจการตลาดแบบตรง และธุรกิจขายออนไลน์ 20 แห่ง มาร่วมเจรจาธุรกิจและคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local จำนวน 51 ราย เจรจาธุรกิจ 220 คู่ สร้างมูลค่าการค้ากว่า 52 ล้านบาทนอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับคำแนะนำเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดและตรงใจลูกค้าทราบถึงเทรนด์สินค้าปัจจุบัน/อนาคตจากเทรดเดอร์ บายเออร์ อีกด้วย และ 4) กระตุ้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ทางการตลาด ในงาน ‘SMART Local Fair ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยนำผู้ประกอบการชุมชนร่วมออกงาน 24 ราย จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนกว่า 100 รายการโดยมียอดจำหน่ายสินค้ารวม 5 วัน กว่า 2.8 ล้านบาท

 

ที่กล่าวมาเป็นการดำเนินงานที่ยกระดับผู้ประกอบการชุมชนให้เป็นนักธุรกิจมืออาชีพ โดยเน้นที่การรู้จักตัวเองรู้จักผลิตภัณฑ์ เรียนรู้ความต้องการของตลาด และพฤติกรรมลูกค้าทั้งปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะเป็นเข็มทิศสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการชุมชนมีทิศทางการวางแผนการตลาด/ผลิตสินค้าที่โดนใจตลาดและผู้บริโภคอย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยมั่นใจว่าความสำเร็จของผู้ประกอบการมาจากประสบการณ์และวิธีการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย เป็นการเพิ่มวัคซีนเสริมแกร่งให้ธุรกิจ ก่อนก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาตนเองและธุรกิจจนมีความเข้มแข็งแล้ว ยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 0 2547 4445 สายด่วน1570 หรือ www.dbd.go.th และ Facebook Fanpage : DBD SMART Local  

 

#SuperDBD

 

****************************************

 

ที่มา : กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 94 / วันที่ 19 มิถุนายน 2566