เสมา 3 เปิดงานการจัดงานแสดงผลงาน Best Practice ของโรงเรียนนอกระบบ
พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และบันทึกความเข้าใจความร่วมมือฯ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบไทย
วันนี้ (23 มิถุนายน 2565) เวลา 09.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานเปิดงานการจัดงานแสดงผลงาน Best Practice ของโรงเรียนนอกระบบและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การส่งเสริมและพัฒนากำลังคนคุณภาพ เพื่อการมีงานทำ” และบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ การส่งเสริมและพัฒนากำลังคนของโรงเรียนเอกชนให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีนายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายประยูร หรั่งทรัพย์ รองเลขาธิการ กช. นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้แทนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ศึกษาธิการจังหวัด ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนนอกระบบจังหวัด นายกสมาคมโรงเรียนนอกระบบทุกสมาคม พร้อมด้วยคณะครูผู้สอน นักเรียน และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมงานและให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Fanpage สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
นางกนกวรรณ กล่าวว่า สังคมโลกกำลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคที่มีความสลับซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ส่งผลให้การศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนและสังคมต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ตนจึงเล็งเห็นถึงการศึกษาของประเทศไทยที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถสร้างผลผลิตได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงบริบทของสังคมในวิถีใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีการส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง สร้างแรงบันดาลใจพัฒนาตนเองให้เกิดจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในศตวรรษที่ 21 บรรลุถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในการพัฒนาระบบการเรียนรู้ ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาให้ก้าวหน้าและยั่งยืนอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
การจัดงานแสดงผลงาน Best Practice ของโรงเรียนนอกระบบ ในวันนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง ในการพัฒนาระบบการเรียนรู้ของโรงเรียนนอกระบบ ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งตนถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของการศึกษาเอกชนนอกระบบไทย ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือร่วมพลังกันในการบูรณาการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบสู่วิถีชีวิตใหม่ และขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ตนได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การส่งเสริมและพัฒนากำลังคนคุณภาพ เพื่อการมีงานทำ” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภา และสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) และบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ การส่งเสริมและพัฒนากำลังคนของโรงเรียนเอกชนให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ สช. เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาและส่งผลให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้เกิดความสร้างสรรค์ สร้างเครือข่ายทางการศึกษาในการส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบให้ก้าวหน้าและยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป นางกนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
นายพีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานแสดงผลงาน Best Practice ของโรงเรียนนอกระบบในวันนี้ ได้จัดขึ้นภายใต้โครงการการบูรณาการการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) และองค์กรภาคีเครือข่ายทางการศึกษาเอกชนนอกระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูรณาการจัดการศึกษาส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีใหม่ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้นักเรียนโรงเรียนนอกระบบได้รับความรู้พัฒนาทักษะความสามารถของตนเองผ่านการแข่งขันได้อย่างเต็มศักยภาพสามารถนำไปประยุกต์ใช้ นำไปต่อยอดพัฒนาตนเองด้านการศึกษา และด้านการประกอบอาชีพได้ รวมไปถึงเป็นการประชาสัมพันธ์การแสดงผลงานของโรงเรียนนอกระบบให้ประจักษ์ต่อสาธารณชน ได้เข้าใจถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบซึ่งเป็นการจัดการศึกษาสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ สช. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ การบูรณาการการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีชีวิตใหม่แล้ว จำนวน 2 กิจกรรม คือ
กิจกรรมที่ 1 การจัดการแข่งขันทักษะและการแสดงของนักเรียนโรงเรียนนอกระบบ ระหว่างวันที่ 11 - 18 มิ.ย. 2565 ผ่านระบบออนไลน์ (Facebook Fanpage สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน) จำนวน 7 ทักษะวิชา ได้แก่ ทักษะดนตรี ทักษะวิชาการ ทักษะภาษา ทักษะอาชีพ ทักษะบริบาล ทักษะนวดไทยเพื่อสุขภาพ และทักษะการแสดง และกิจกรรมที่ 2 การจัดงานเสวนาวิชาการเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2565 ผ่านระบบออนไลน์ (Facebook Fanpage สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน) ในหัวข้อรายงานความก้าวหน้า ผลงานวิจัย “บทบาทและศักยภาพ ของโรงเรียนเอกชนนอกระบบต่อการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน” และ “Life Long Education ในทศวรรษหน้า”
ทั้งนี้การจัดงานแสดงผลงาน Best Practice ของโรงเรียนนอกระบบ ในวันนี้ ได้มีการคัดสรรผลงาน Best Practice ซึ่งเป็นตัวแทนของโรงเรียนนอกระบบ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบของการแสดงบนเวที จำนวน 8 ชุด การจัดบูธนิทรรศการ จำนวน 8 บูธ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 290 คน