posttoday

อาชีวะ เปิดประชุมวิชาการนานาชาติโครงการฐานวิทย์ฯ ปี 2565

22 สิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมแกรซแลนด์ เขาหลัก บีชรีสอร์ต อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 7 “The 7th International Convention on Vocational Student’s Innovation Project”ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม 2565 โดย วิทยาลัยเทคนิคพังงาเป็นเจ้าภาพ

อาชีวะ เปิดประชุมวิชาการนานาชาติโครงการฐานวิทย์ฯ ปี 2565

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การพัฒนาผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ ถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพียงพอทีจะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ได้จัดตั้งโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (Science-Based Technology College :SBTC) เพื่อผลิตกำลังคนที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยีซึ่งเปรียบเสมือนหัวรถจักรของอาชีวศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับภาคการผลิตและบริการ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพกำลังคนอาชีวศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innopreneur) เป็นผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเป็นวิศวกรสังคม (Social Engineer) โดยเน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) และสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM  สร้าง Citizen Science ให้เกิดขึ้นเป็นการขยายโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง ยกระดับการเรียนในสายวิชาชีพให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ในงานอาชีพและชีวิตประจำวัน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนไทยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเยาวชน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย สิงคโปร์  และบังคลาเทศ  อีกทั้งยังได้ผสานความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างกันในโอกาสต่อๆ ไปด้วย กระทรวงศึกษาธิการ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ส่งเสริมและสร้างเวทีสำหรับผู้เรียนให้ได้แสดง ศักยภาพทั้งด้านวิชาชีพและทักษะในศตวรรษที่ 21  ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Project based Learning และนำเสนอผลงานระดับประเทศและนานาชาติ ถือเป็นโอกาสที่ได้นำความรู้ต่างๆมาแลกเปลี่ยนกัน โดยความสำเร็จนั้นจะไม่เกิดเฉพาะกับตัวนักเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสำเร็จในระดับภูมิภาคและระดับประเทศอีกด้วย

“วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งยวดและมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผลงานนักเรียนของวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 แห่ง จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความจำเป็นและความสำคัญต่อการสร้างบุคลากรของประเทศในการก้าวสู่โลกที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ในยุคVUCA World ที่มีความไม่แน่นอน สลับซับซ้อน และความคลุมเครือ และจากที่ได้สัมผัสนักเรียนกลุ่มนี้จะเห็นว่าเด็ก ๆ มีความคิดความอ่าน  มีการทำวิจัยหาข้อมูลมาพัฒนาจนเกิดเป็นผลงาน สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย เด็กสมัยนี้คิดเก่งมาก เชื่อว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก ถ้ามีโอกาสได้เรียนและได้ทำ”ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวและว่า ตอนนี้เรามีวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ภาคละ 1แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอแล้ว ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดแบบก้าวกระโดด จะต้องขยายผลให้มากขึ้น เพื่อสร้างกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานในยุคVUCA World ให้ได้

อาชีวะ เปิดประชุมวิชาการนานาชาติโครงการฐานวิทย์ฯ ปี 2565

ด้านนายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายในการทำวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ก็เพื่อทำโรงเรียนต้นแบบในการสร้างเด็กที่มีทักษะเฉพาะด้านเก่งทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษและการคำนวณ สามารถสร้างนวัตกรรมได้ จบแล้วมีงานทำแน่นอน แต่แทนที่จะออกไปเป็นลูกจ้าง เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการอำนวยการโครงการวิทยาลัยฐานวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่าจะต้องหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนให้เด็กเป็นผู้ประกอบการเองได้ ส่วนการขยายผลวิทยาลัยให้มากกว่า 5 แห่งนั้น คณะกรรมการจะกลับไปพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษาและครูเข้าร่วม จำนวน 360 คน ส่งผลงานนำเสนอ รวมทั้งสิ้น 94 ผลงาน ประกอบด้วยการนำเสนอภาค Oral Presentation รูปแบบออนไลน์ จำนวน 10 ผลงาน นำเสนอภาค Oral Presentation ออนไซต์ จำนวน 36 ผลงาน และภาค Poster Presentation จำนวน 48 ผลงาน จาก สถาบันการศึกษา 13 สถานศึกษา ได้แก่

- ประเทศบังคลาเทศ Institution of Diploma Engineer Bangladesh  1  ผลงาน

- ประเทศจีน   Chongqing Technology and Business Institute  8  ผลงาน

- ประเทศอินเดีย Sri Prakash Vidyaniketan 1  ผลงาน และ Chemistry Sevadal Mahila Mahavidyalaya, Nagpur  3  ผลงาน

- ประเทศญี่ปุ่น  National Institute of Technology(Kosen), Nagano  College  1  ผลงาน

- ประเทศสิงคโปร์  ITE College Central    3  ผลงาน และ    ITE College East  3  ผลงาน

-สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา(กรุงเทพมหานครฯ)    2   ผลงาน

-วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (จ.ชลบุรี)  15  ผลงาน

- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน (จ.ลำพูน)    9  ผลงาน

- วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี (จ.สิงห์บุรี)   6  ผลงาน          

- วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี(จ.นครราชสีมา)  16 ผลงาน

- และวิทยาลัยเทคนิคพังงา(จ.พังงา)  26 ผลงาน