องค์การเภสัชกรรมรับรางวัล หนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน ปี 2565
สาขานวัตกรรม การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019
วันที่ 26 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 น.ณ หอประชุมกองทัพอากาศ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อสังคมไทย จัดพิธีมอบรางวัลไทย รางวัลเกียรติยศ บนเส้นทางชีวิต ใน โครงการหนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน โดย พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล รางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศ ประจำปี 2565 สาขานวัตกรรม การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้กับองค์การเภสัชกรรม มีนายรังษี ปัดลี รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นผู้รับมอบ
?นายรังษี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงทางยาของประเทศ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการป้องกันและการรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย สามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข การพัฒนาวัคซีน HXP–GPOVac โดยการสนับสนุนจากองค์กร PATH ที่ได้ส่งมอบหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบซึ่งพัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ แห่งเมาท์ไซนาย (The Icahn School of Medicine at Mount Sinai) และมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งออสติน (University of Texas at Austin)ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทำการผลิตที่โรงงานผลิต(วัคซีน)ชีววัตถุ ขององค์การเภสัชกรรม ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วัคซีนชนิดนี้ ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก (Egg-based) เป็นวิธีการผสมผสานโดยการใช้เชื้อไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle disease virus, NDV) ร่วมกับใช้เทคโนโลยีเฮกซะโปรเพิ่มความคงสภาพของโปรตีนส่วนหนาม ได้เป็นไวรัสลูกผสม NDV-HXP-S มาใช้ในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคโควิด-19
ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม ได้พัฒนาและผลิตวัคซีนทดลอง HXP-GPOVac ซึ่งทำการศึกษาทางคลินิก ระยะที่ 1 และ 2 โดยศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประเมินความปลอดภัย และการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ผลการวิเคราะห์ทั้ง 2 ระยะ พบว่า วัคซีนดังกล่าว มีข้อมูลความปลอดภัยและผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ได้ทำการศึกษาวิจัยทดสอบทางคลินิก ระยะที่ 2 เพิ่มเติม ของวัคซีนเอซเอ็กซ์พี จีพีโอแวค (HXP-GPOVac) ขนาด 10 ไมโครกรัม เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในอาสาสมัครสุขภาพดี โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ 300 คน ณ โรงพยาบาลนครพนม สำหรับการดำเนินงานโครงการวิจัย HXP-GPOVac ระยะที่ 3 คาดว่าจะเริ่มในปลายปี 2565
“โครงการวิจัยดังกล่าว เป็นนวัตกรรมอันมีคุณประโยชน์ และสนับสนุนต่อนโยบายความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพขององค์การเภสัชกรรมและความสัมพันธ์อันดีด้านความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในและต่างประเทศ หากผลการศึกษาแสดงออกมาว่าวัคซีนที่ผลิตในประเทศมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยที่สามารถเทียบเคียง กับวัคซีนที่นำเข้า และมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนคนไทย ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และองค์การเภสัชกรรม ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานตามภารกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ” นายรังษี กล่าว