posttoday

กทม.กับการเชื่อมระบบราง-รถ-เรือ

27 สิงหาคม 2561

การต่อเชื่อมระบบคมนาคมในกรุงเทพมหานครทั้งทางบก-เรือ เพื่อลดปัญหาจราจร

โดย..รศ.มานพ พงศทัต  

เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกโทรทัศน์พบประชาชน ประเด็นที่ท่านนำเสนอคือ การต่อเชื่อมระบบคมนาคมในกรุงเทพมหานครทั้งทางบก เรือ เพื่อลดปัญหาจราจร ประเด็นคือ การจราจรในเมืองใหญ่ส่วนใหญ่ยังเลวร้าย รถติดมากอยู่ในระดับต้นๆ ของเมืองใหญ่ทั่วโลก

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ด้วยประชากรมีมากอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก มีประชาชนโดยตรง (ลงทะเบียน) และไม่ลงทะเบียนมี 18 ล้านคน ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้า

กรุงเทพฯ จึงมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เรียกกันว่า Dynamic Changes ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงเร็วจากมหานครแห่งนี้

ดัชนีวัดความพร้อมของเมือง ประเด็นที่สำคัญอันดับแรกๆ คือ การจราจรคมนาคม ต้องสะดวก สบาย สะอาด ปลอดภัยและราคาไม่แพง

ในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 1 2 และ 3 ที่ผ่านมา ได้มีการเร่งปรับคมนาคมทั้งประเทศและที่กรุงเทพฯ มีเป้าหมาย นโยบาย ชัดเจนคือ เน้นขนส่งมวลชน ซึ่งรถในกรุงเทพฯ ที่มีร่วม 7 ล้านคัน ป้ายแดงวันละ 1,000 คัน มอเตอร์ไซค์ที่มีจำนวนพอๆ กันจะต้องเปลี่ยนจากระบบรถมาเป็นระบบราง

คนกรุงเทพฯ เพียง 50% ใช้ระบบขนส่งมวลชน แม้ว่าจะมีขนส่งมวลชนในอีก 2 ปี 10+3 สาย ระยะทางรวม 450 กิโลเมตร ก็ยังไม่พอยังต้องพัฒนาอีก สนามบินนานาชาติมี 2 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิและดอนเมือง น้อยมากสำหรับเมืองใหญ่ที่จะต้องรองรับนักท่องเที่ยว 60 ล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้อย่าง ลอนดอน ปารีส มี 3 สนามบิน

สำหรับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินเพื่อรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แม้จะเชื่อมทั้ง 3 สนามก็ยังไม่เพียงพอ

กทม.กับการเชื่อมระบบราง-รถ-เรือ โดยสารทางเรือ

ท่านนายกฯ พูดถึงระบบทางน้ำที่เรามีท่าน้ำมากมาย มีการขนส่งทางน้ำไม่ว่าจะขนส่งสินค้าและคน ลุ่มเจ้าพระยามีเรือด่วน เรือข้ามฟาก เรือท่องเที่ยว มากมาย แต่การเดินทางยังไม่ต่อเชื่อมกันและยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่

หันมาดูผังเมืองกรุงเทพฯ ที่กำลังจะปรับปรุงครั้งที่ 4 ในปีนี้ก็มีนโยบายปรับลดระบบรถเป็นระบบราง จัดให้เมืองกระจุกตัวรอบสถานีรถไฟฟ้าในรัศมี 1 กิโลเมตร จะให้ก่อสร้างได้มากกว่าปกติ 20% เรียกกันว่า TOD โบนัส (Transit-Oriented Development) คนในเมืองใหญ่จะอยู่ ทำงาน พักผ่อน มีชีวิตอยู่รอบสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งจะเปิดพื้นที่พัฒนาอีกไม่ต่ำกว่า 500 กิโลเมตร อสังหาริมทรัพย์จะเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนตามจุดนี้ เรียกกันว่าเป็น โหนด มีจุดตัดจุดเปลี่ยนและมีเส้นทางต่อกันเรียกว่าเป็น LINE คือเส้นทางคมนาคม

มหานครกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วแน่ๆ พวกนักพัฒนาอสังหาฯ ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายส่วนรวม เมืองจะใหญ่ขึ้นอีกไม่นานเราจะเห็นกรุงเทพฯ มีประชากรเหยียบ 30 ล้านคน จะอยู่ จะกิน
จะทำงาน พักผ่อนเป็น Urban Citizen จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองที่ดีได้อย่างไรกัน

ก็ต้องเริ่มที่ ระบบของเมือง ผังเมืองแม่บท ตามด้วยระบบคมนาคม ปรับที่มีปัจจุบันต่อเชื่อมเป็นโครงข่ายที่ดีทั้ง 3 ระบบก่อน เช่น ระบบรางอย่าให้มี Missing Link มีสกายวอล์ก ให้คนกรุงได้เดิน จอดรถให้เป็นที่เป็นทางและใช้ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น จัดระบบคมนาคมให้ดีคนกรุงเทพฯ เฝ้ารอมานานจะได้มีเมืองหลวงที่สะดวก สบาย ปลอดภัยน่าอยู่น่าเที่ยวมากขึ้นเป็นหน้าเป็นตาของประเทศครับ