posttoday

งานก่อสร้างล่าช้า แก้ปัญหาอย่างไร

23 ตุลาคม 2561

ปัญหางานก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดระหว่างผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง

โดย...วิโรจน์ พูนสุวรรณ

ปัญหางานก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดระหว่างผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง ตลอดจนผู้ควบคุมงาน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้าง มาตรการที่ผู้ว่าจ้างนำมาใช้ป้องกันความล่าช้าก็คือ การคิดเบี้ยปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1-0.2 ของมูลค่าของสัญญา

เรื่องค่าปรับเป็นเรื่องใหญ่ เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วของผู้รับจ้าง เพราะต้องจ่ายเป็นรายวัน ถ้าค่าจ้าง 1 หมื่นล้านบาท เบี้ยปรับ 0.1% ต่อวัน ผู้รับจ้างก็อาจต้องเสียถึงวันละ 10 ล้านบาท ผู้รับจ้างจึงไม่ควรลืมที่จะกำหนดเพดานไว้อย่าให้เบี้ยปรับเกิน 10% ของค่าจ้างทั้งหมดตามสัญญาเป็นอันขาด มิฉะนั้นมีแต่ขาดทุนกับขาดทุน ตามตัวอย่างข้างต้นถ้ามูลค่าของสัญญา 1 หมื่นล้านบาท ค่าปรับรายวันที่ผู้ว่าจ้างปรับได้รวมทั้งสิ้นก็ไม่ควรเกิน 1,000 ล้านบาท

แต่ผู้ว่าจ้างจะมีสิทธิปรับหรือไม่นั้น ก็ต้องมาดูข้อเท็จจริงก่อนว่าความล่าช้าเป็นความผิดของใคร ถ้าผู้รับจ้างเป็นฝ่ายผิด ผู้ว่าจ้างก็ปรับได้โดยหักออกจากค่าจ้าง ถ้าหักแล้วไม่พอต่อค่าเสียหายก็ยังเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีก แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นฝ่ายผิด หรือเป็นเพราะสาเหตุที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ ผู้ว่าจ้างก็จะปรับไม่ได้ และถึงแม้ว่าผู้รับจ้างจะเป็นฝ่ายผิด แต่ผู้ว่าจ้างตรวจรับมอบงานไว้ โดยไม่สงวนสิทธิที่จะคิดเบี้ยปรับ ต่อมาในภายหลังนึกขึ้นได้จะหันไปคิดเบี้ยปรับ อันเนื่องมาจากความล่าช้าจากผู้รับจ้างอีกไม่ได้

การที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้านั้น ถ้าเป็นเพราะพฤติการณ์ที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ ก็จะถือว่าผู้รับจ้างผิดสัญญาไม่ได้ เช่น เป็นช่วงฤดูฝน เกิดฝนตกหนักเพราะมีพายุใหญ่เข้าหลายลูก น้ำท่วมถนนทางเข้าและสถานที่ก่อสร้าง ตลอดจนบริเวณใกล้เคียงอยู่หลายอาทิตย์ ผู้รับจ้างทำงานต่อไม่ได้ ทำให้ส่งมอบงานล่าช้า อย่างนี้ก็ถือว่าความล่าช้านั้นไม่ใช่เพราะความผิดของผู้รับจ้าง และผู้รับจ้างไม่ได้ผิดนัด ผู้ว่าจ้างจะเรียกร้องเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายอื่นไม่ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่ระบุว่า ตราบใดที่การชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่

เมื่อผู้รับจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด หากการทำงานตามสัญญายังไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างก็ต้องต่ออายุสัญญาให้เท่าจำนวนวันที่เสียไปนั้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ว่าจ้างผิดพลาดกันมาก คือในกรณีที่มีการตกลงชำระเบี้ยปรับกันไว้เมื่อส่งมอบงานล่าช้า แล้วก็มีความล่าช้าเกิดขึ้นจริงๆ หากผู้ว่าจ้างพลั้งเผลอไปตรวจรับมอบงานที่ล่าช้านั้น โดยไม่สงวนสิทธิการปรับไว้ ป.พ.พ.ก็บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่ากรณีนี้ต้องถือว่าผู้ว่าจ้างสละสิทธิในเบี้ยปรับนั้น และจะไปเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชำระเบี้ยปรับในภายหลังไม่ได้ ถือว่าผู้ว่าจ้างสูญสิ้นสิทธิในเบี้ยปรับโดยสิ้นเชิง

การที่ผู้ว่าจ้างรับมอบงานโดยไม่สงวนสิทธิไว้ โดยมากไม่ใช่เพราะว่าใจดี แต่เป็นเพราะว่าไม่ทราบว่ามีข้อบังคับตามกฎหมายที่กำหนดให้ตนต้องสงวนสิทธิการปรับไว้ ผู้ว่าจ้างจึงมุ่งเฉพาะเนื้องาน รับมอบงานให้เสร็จๆ ไป ส่วนเรื่องจะปรับหรือไม่ปรับไม่สำคัญ ไปว่ากันทีหลัง ในบางกรณีก็มีเหมือนกันที่ผู้ว่าจ้างใจดี สุภาพเรียบร้อย ไม่ประสงค์ที่จะสร้างประเด็นความขัดแย้งกับผู้รับจ้าง อยากให้การทำงานราบรื่นมากกว่า ไม่อยากที่จะไปเรียกร้องค่าปรับ หรือขอหักค่าปรับออกจากค่าจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าอึดอัด

ผู้ว่าจ้างจึงไม่อยากหยิบยกประเด็นนี้มาให้เป็นที่ขุ่นเคืองใจ กระทบความสัมพันธ์อันดีกับผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ฝีมือดี แต่ในภายหลังผู้ว่าจ้างอาจถูกผู้ตรวจสอบบัญชีหรือกรรมการบริษัทท้วงติง หรือเปลี่ยนใจโดยประการอื่น จึงทำให้ผู้ว่าจ้างมาเรียกร้องเบี้ยปรับเอากับผู้รับจ้างในภายหลัง อย่างนี้ ป.พ.พ.ระบุเอาไว้ว่าผู้ว่าจ้างที่ไม่สงวนสิทธิการปรับไว้ตอนรับมอบงานย่อมเสียสิทธิในเบี้ยปรับนั้น

งานก่อสร้างล่าช้า แก้ปัญหาอย่างไร

ส่วนค่าเสียหายของผู้ว่าจ้างจากการที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กฎหมายไม่ได้ระบุตัดสิทธิไว้โดยเฉพาะเจาะจง ผู้ว่าจ้างจึงยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายในกรณีความล่าช้าได้อยู่

ปัญหาอีกประเด็นหนึ่งคือสัญญาก่อสร้างมักจะมีข้อความมาตรฐานทั่วไปว่า ในกรณีใดๆ ก็ตามจะไม่ถือว่าผู้ว่าจ้างสละสิทธิใดๆ ของตนตามกฎหมายหรือตามสัญญา หากผู้ว่าจ้างไม่ได้สละสิทธินั้นๆ ไว้โดยเฉพาะเจาะจงเป็นลายลักษณ์อักษร จึงเกิดปัญหาว่าการที่ ป.พ.พ.ระบุว่าการที่ผู้ว่าจ้างรับมอบงานโดยไม่สงวนสิทธิการปรับไว้ ให้ถือว่าสละสิทธิ หมดสิทธิที่จะปรับได้อีกต่อไป กับข้อสัญญาที่ว่าในกรณีใดๆ ไม่ให้ถือว่าผู้ว่าจ้างสละสิทธิ จนกว่าจะได้สละสิทธิไว้โดยเฉพาะเจาะจงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งกฎหมายกับสัญญาขัดกัน ใครเป็นฝ่ายชนะ จะถือกฎหมายเป็นหลัก หรือสัญญาเป็นหลัก เรื่องนี้กฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะเจาะจงแน่นอนชัดเจนกว่า จึงควรถือกฎหมายเป็นหลัก กฎหมายที่ชัดเจนย่อมมีชัยชนะเหนือสัญญาที่กำกวมในจุดนี้

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้ว่าจ้างจึงควรระบุไว้ในสัญญาให้ชัดเจนว่า การที่ตนรับมอบงานล่าช้าโดยไม่สงวนสิทธิการปรับ ไม่ให้ถือว่าตนสละสิทธิ และตนยังมีสิทธิในการปรับอยู่ ก็จะแก้ไขปัญหาที่ ป.พ.พ.ตัดสิทธิไว้ได้ เพราะบทบัญญัติของกฎหมายข้อนี้ไม่ใช่บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงทำสัญญาให้ผิดแผกแตกต่างไปจากข้อความในกฎหมายได้

ประเด็นเหล่านี้ที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้าง ย่อมนำไปใช้กับสัญญาซื้อขายได้ด้วย เพราะมีเรื่องส่งมอบเหมือนกัน และอาจเกิดความล่าช้าในการส่งมอบได้เช่นกันในสัญญาทั้งสองประเภท

ข้อสัญญาอีกข้อหนึ่งที่เห็นบ่อยในสัญญาจ้างก่อสร้าง ก็คือข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาได้ในกรณีที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนด และให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ของผู้รับจ้างที่เก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ก่อสร้างให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างได้โดยไม่ต้องใช้ราคา อย่างนี้ข้อสัญญาดังกล่าวใช้ได้ตามกฎหมายได้หรือไม่ และผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบสิ่งของดังกล่าวตามที่ตกลงกันหรือไม่

ประเด็นนี้เข้าข้อกำหนดของ ป.พ.พ.อีกข้อหนึ่ง ที่ระบุให้คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้รับจ้างชำระเบี้ยปรับด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นได้ โดยไม่ต้องชำระเป็นจำนวนเงิน ดังนั้นตามกฎหมายแล้วก็ต้องถือว่าผลงานตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ของผู้รับจ้างที่ผู้ว่าจ้างยึดเป็นกรรมสิทธิ์หลังบอกเลิกสัญญานั้นเป็นเบี้ยปรับที่ผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบได้

เมื่อริบแล้วก็ต้องตีราคาทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นตัวเงินออกมาเอามาหักกับค่าเสียหายของผู้ว่าจ้าง ถ้าหักแล้วยังไม่พอใช้หนี้ ผู้รับจ้างก็ต้องชำระค่าเสียหายส่วนที่ขาด ทั้งนี้ผู้รับจ้างก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลลดเบี้ยปรับนั้นลงตามที่ศาลเห็นสมควรได้ ถ้าศาลสั่งลดเบี้ยปรับแล้ว มีทรัพย์สินที่ผู้ว่าจ้างริบไว้เกินจำนวนเงินที่ศาลอนุญาต ก็ต้องคืนเงินค่าปรับที่ริบไว้เกินให้ผู้รับจ้างไป