ตามโพธ บุตรชายรังสรรค์แจงแทนพ่อไม่ได้ขายตึกสาทร ยูนีค ทาวเวอร์

02 เมษายน 2568

ตามโพธ บุตรชายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ แจงบิดาไม่ได้ขายตึกสาทร ยูนีค ทาวเวอร์ เจ้าตัวสุขภาพไม่ดีไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับใคร

นายตามโพธ ต่อสุวรรณ บุตรชาย นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ อดีตอาจารย์และอดีตหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ว่า บิดาไม่ได้เป็นคนขาย

ตึกสาทร ยูนีค ทาวเวอร์ (Sathorn Unique Tower) เนื้อหาดังนี้ 

วันนี้โทรศัพท์เข้าจนสายแทบไหม้  

ตั้งแต่ข่าวเรื่องประกาศขาย คุณพ่อ (อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ) ไม่ได้เป็นผู้ประกาศขายนะครับ

ตึกนี้มีข้อพิพาทและคดีความมากมายหลายอย่าง กระบวนการทางกฎหมายที่ฉ้อฉลยึดทรัพย์ภาคเอกชนผ่องถ่ายไปองค์กรข้ามชาติแล้วฟอกทรัพย์กลับมาเข้ามือกลุ่มทุนสามานที่เป็น deep stage ของประเทศนี้ คุณพ่อและคุณแม่ต่อสู้กับกระบวนการฉ้อฉลปล้นชาตินี้มายาวนานร่วม 30ปี

Fact ที่หลายคนอาจไม่รู้ ห้องชุดในตึกนี้ได้ขายไปแล้วมากกว่า 90% ตั้งแต่เปิดขายเมื่อ30กว่าปีที่แล้ว กลุ่มทุนสามานนี้ไม่ได้ปล้นเฉพาะ Developer แต่ปล้นคนซื้อทุกคน โอนถ่ายทรัพย์ไปมาเพื่อเขย่าให้ตึกนี้กลายเป็นตึกเปล่าที่ยังไม่มีใครซื้อ ซื้อถูก-ฟอกขาว-เขย่าให้เป็นตึกเปล่า นี่คือสิ่งที่ทุนสามานทำกับทุกตึกทุกอาคารที่โดนโยนลงหม้อต้มยำกุ้ง 

เรื่องราวการต่อสู้ของท่านทั้ง2 ยังคงดำเนินอยู่ และผมเชื่อว่าจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ท่านยังมีลมหายใจอยู่

การประกาศขายไม่ได้มาจากคุณพ่อ และท่านไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับใครเกี่ยวกับตึกนี้ในการขาย ช่วงระยะหลังท่านสุขภาพไม่ค่อยดี ท่านพักผ่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ

โปรดใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว ถ้าปัญหาตึกนี้มันจบง่าย มันคงไม่ยืนเป็นอนุสาวรีย์ต้มยำกุ้งมานาน 30ปี 

#ตึกสาทร #ghosttower #รังสรรค์ต่อสุวรรณ

ปล. ฝากแชร์ไปให้ถึงดาวสีเขียวทีนะครับ

ที่มา เพจ Tampote Torsuwan
 

สาธร ยูนีค ทาวเวอร์

ข้อมูลพื้นฐาน

-ออกแบบเป็นอาคารชุด 47 ชั้น (รวม 49 ชั้นเมื่อนับชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น)
-รองรับจำนวน: 600 ยูนิต
-ที่ตั้ง: เขตสาทร ใกล้ถนนเจริญกรุง ระหว่างซอย 51-53
-พื้นที่: 2 ไร่
-มูลค่าประมาณการปัจจุบัน: 4,000 ล้านบาท

สถาปัตยกรรมและการพัฒนา

-ออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เป็นผู้ออกแบบอาคารในเครือเดียวกับสเตท ทาวเวอร์ อาคารที่สูงเป็นอันดับ 9 ของประเทศไทย
-เจ้าของโครงการ: บริษัท สาธร ยูนีค จำกัด
-ผู้สนับสนุนด้านการเงิน: บริษัทหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์
-ผู้รับเหมาก่อสร้าง: บริษัท สี่พระยาก่อสร้าง จำกัด

ไทม์ไลน์และความท้าทาย

-เริ่มก่อสร้างในปี 2533
-เริ่มประสบปัญหาในปี 2536 เมื่อ ผศ.รังสรรค์ ถูกจับกุม

ถูกกล่าวหาว่าร่วมวางแผนลอบสังหารนายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกา
คดีถูกยกฟ้องโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ในปี 2553


โครงการได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

-อาคารหรูกว่า 300 แห่งถูกทิ้งร้างในช่วงนี้
-อาคารส่วนใหญ่ได้รับการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว 
-สาธร ยูนีค ยังคงถูกทิ้งร้าง ได้รับฉายาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่า "Ghost Tower"

สถานะปัจจุบัน

-โครงสร้างหลักของอาคารเสร็จสมบูรณ์และได้รับการรับรองความปลอดภัย
-งานออกแบบภายในและการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเริ่มต้นไปเพียงเล็กน้อย
-งานส่วนกำแพงและรายละเอียดต่างๆ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
-อาคารปิดไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้า
-แม้จะปิดให้เข้าชม แต่อาคารยังดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

Thailand Web Stat