“เมืองชาญฉลาด” กับ ”เมืองน่าอยู่“ โจทย์ความท้าทายของสังคมเมือง
ความท้าทายของสังคมเมืองจากภายใน ทั้งจากโครงสร้างประชากรในสังคม ไปจนถึงปัจจัยภายนอกอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคอุบัติใหม่ รวมถึงนโยบายที่อาจจะไม่สอดคล้องกับแต่ละสังคมเมือง ล้วนเป็นสาเหตุที่ขับเคลื่อนเมืองนำไปสู่ Smart City ที่เราพูดถึงกัน
Smart City หรือ เมืองที่ชาญฉลาด คืออะไร?
ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า เมืองคืออะไร? เมืองเป็นหน่วยหนึ่งของการปกครอง ที่เกิดจากการตั้งถิ่นฐานที่มีขอบเขต และมีผู้ปกครอง ตั้งแต่ขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือน สิ่งอำนวยความสะดวก ถนน สะพาน การสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา และที่ขาดไม่ได้เลยคือ คน หรือที่เรียกว่า พลเมือง เมืองจึงเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรเป็นจำนวนมาก ความหนาแน่นของประชากรประกอบด้วย ประชากรที่มีความแตกต่างทางเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมและประเพณี ซึ่งแต่ละเมือง ก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตามสถานที่ตั้ง ลักษณะเด่น หรืออัตลักษณ์เฉพาะของเมืองนั้นๆ
คราวนี้ก็มาต่อที่ Smart City แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ขอพูดถึงคุณลักษณะของเมืองที่ดีก่อนสักนิด ว่าเมืองที่ดีควรมีลักษณะเป็นเช่นไร เมืองที่ดี ควรจะมีความหนาแน่นของประชาการอย่างเหมาะสม เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา สถานบริการทางสาธารณสุขเพียงพอ มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ โอกาสในการประกอบอาชีพได้หลากหลาย ประชากรมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในลักษณะทุติยภูมิ จึงเป็นที่ของคำที่เราได้ยินและพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ คือ สังคมเมือง ทุกสังคมเมือง มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึงปัญหาต่างๆ มาจากการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากสังคมเมืองนั้นเอง หรือปัจจัยภายนอกสังคมเมือง
ความท้าทายของสังคมเมือง จากภายใน เช่นโครงสร้างประชากรในสังคมเปลี่ยน การแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด การย้ายถิ่นฐาน และปัจจัยภายนอกที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกวัน โรคอุบัติใหม่ รวมถึงนโยบายที่อาจจะไม่สอดคล้องกับแต่ละสังคมเมือง ความท้าทายเหล่านี้จึงเป็นตัวขับเคลื่อน นำไปสู่ Smart City ที่เราพูดถึงกัน
Smart City ก็แปลความหมายได้ตรงตัวคือ เมืองฉลาด หรือแปลให้สวยขึ้นอีกหน่อย ก็คือ เมืองน่าอยู่ ที่มีการนำเทคโนโลยีประยุกต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการในชุมชน ลดต้นทุนในด้านเม็ดเงิน และเวลา รวมถึงการจัดการผังเมือง ที่เป็นมิตรกับทุกเพศ ทุกวัย การใช้อาคาร แบบ Mixed use ที่ไม่ใช่มั่วๆ มีพื้นที่สีเขียวมากพอ มีระบบการจัดการขยะ น้ำเสีย ที่มีประสิทธิภาพ มีแผนป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือการเกิดน้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า
ถ้านึกภาพยังไม่ออกว่า Smart City คืออะไร หลับตาจิ้มไปเลยที่สิงคโปร์ สิงคโปร์เป็นหนึ่งประเทศตัวอย่างของความสำเร็จในการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยขน์สูงสุดอย่างชาญฉลาด มีการแบ่งเขตเมืองเก่า เมืองใหม่ชัดเจน เขตที่พักอาศัย เขตธุรกิจ ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศที่มีความจำกัดในเรื่องของภูมิประเทศ แต่เป็นประเทศผู้นำในภูมิภาค ศูนย์กลางทางการเงิน เศรษฐกิจ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชากร คาสิโนเสรี สวนสนุกระดับโลก ที่หมายในการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินทั่วโลก มหาวิทยาลัยติดอันดับต้นๆ ของโลก ทำไมสิงคโปร์ทำได้? ประเทศไทยทำบ้างไม่ได้? สิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่ผู้ใหญ่บ้านเราตั้งงบไปดูงานอยู่บ่อยครั้ง แต่ทำไมเรายังไปได้ไกลไม่เท่า ว่าไป บุญบาป ตอนนี้ประเทศไทยก็มีการจัดการนำสายไฟลงดินให้เห็นในหลายพื้นที่แล้ว ถือได้ว่า ยังมีการสิ่งสัญญาณที่ดีอยู่ในการพัฒนาอื่นๆ ต่อ ๆ ไป
ขอฝากไว้เท่านี้ก่อน สำหรับ Smart City คืออะไร แล้วจะมาต่อประเด็นอื่นต่อไป
ดร ฉันฑิต สว่างเนตร