posttoday

เปิดแผนงาน "กสว." วาระเร่งด่วนพัฒนา AI พร้อมขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์

02 เมษายน 2567

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์" ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเวที กสว. ชี้ทิศทางก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) นำเสนอนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนประเทศด้วยระบบระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านงาน "กสว.: ก้าวต่อไปสู่การขับเคลื่อนระบบ ววน.ของประเทศ" พร้อมแนะนำคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ชุดใหม่ กับสื่อมวลชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ให้เกิดพันธมิตรทางการสื่อสาร ร่วมกันมุ่งสร้างประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว
เปิดแผนงาน \"กสว.\" วาระเร่งด่วนพัฒนา AI พร้อมขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลให้ความสนใจที่จะนำวิจัยมาใช้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ รวมถึงได้มีการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาวิจัยของประเทศ ทำให้การวิจัยมีความชัดเจนมากขึ้น มีการเพิ่มทรัพยากรในการวิจัย และการขยายตัวของนักวิจัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากการปฏิรูป ซึ่งกองทุน ววน. นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้ รวมถึงการดูแลส่งเสริมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตร์ในทุก ๆ ด้านอีกด้วย

"เรามีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ขับเคลื่อนนโยบายและที่สำคัญ คือ มีกองทุน ววน. เป็นเครื่องมือในการที่จะจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศ เข้าไปช่วยในการดำเนินการในมิติต่าง ๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นช่วยทำให้ประเทศมีความชัดเจนว่าจะทำวิจัยในด้านใด และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง ด้วยการให้กองทุน ววน. เข้าไปสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่ทางสภานโยบายได้กำหนดไว้"

เปิดแผนงาน \"กสว.\" วาระเร่งด่วนพัฒนา AI พร้อมขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยและนวัตกรรมจะสามารถสร้างรายได้ ถ้าเรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้อาจเป็นในด้านของการชุมชน ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง หรือทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยรายได้ที่ได้มานั้นประชาชนก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง เราก็จะสามารถทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทรัพยากรดีขึ้น น้ำสะอาด ขยะลดลง ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เราสามารถจะทำให้เกิดการเดินทางที่มีความสะดวกปลอดภัยมากขึ้น อุบัติเหตุในท้องถนนลดลง ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

ซึ่งการทำให้มีระบบในการนำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมาก เราจำเป็นจะต้องผสมผสานศาสตร์ในทุก ๆ ด้านรวมกัน ไม่ใช่เฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องสังคม สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังนั้น สกสว. ต้องการที่จะส่งเสริมให้นักวิชาการในแต่ละด้านได้มาทำงานร่วมกัน และที่สำคัญนักวิชาการไม่ได้ทำงานกับเฉพาะนักวิชาการเท่านั้น แต่ต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือสื่อมวลชน ซึ่งอาจจะรวมทั้งกลไกในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติอีกด้วย

เปิดแผนงาน \"กสว.\" วาระเร่งด่วนพัฒนา AI พร้อมขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์

เปิดแผนงานและวาระเร่งด่วนของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) 

ทั้งนี้ทีมงานชุดใหญ่ชุดใหม่ของ กสว. ที่วางไว้ ได้มองเห็นภาพการบริหารจัดการ การดูแลทิศทางงบประมาณของประเทศในภาพรวม ขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางตามที่ประเทศต้องการ ประกอบด้วย

1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีกลไกขับเคลื่อนและสร้างความสำเร็จเห็นผลสัมฤทธิ์ ประชาคมวิจัยมีความเชื่อมั่นในระบบ ววน. เน้นการร่วมหารืออย่างต่อเนื่องกับทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและประชาคมเพิ่มเติมจากที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง

2. กำหนดสัดส่วนงบประมาณที่เหมาะสม เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผสานการสร้างประโยชน์และเสริมสร้างความเข้มแข็ง มีความโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานสร้างความเสมอภาค แม้อยู่ในสภาวะงบประมาณจำกัด มุ่งให้ทุกภาคส่วนที่เป็นการลงทุนของระบบ ววน. ทั้งประชาชน ประเทศ อุตสาหกรรมได้ประโยชน์ และเห็นความสำเร็จของโครงการสำคัญของประเทศ เช่น แก้ปัญหาสภาพแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ สนับสนุนให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น

3. สร้างการเจริญเติบโตและความเสถียรของกองทุน ววน. ด้วยกลไกของการกำหนดทรัพยากรส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญ เป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่อุปทาน อาศัยการมีส่วนร่วม demand side approach เช่น แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ยาและเคมีภัณฑ์ มีวัคซีนเพียงพอ น้ำท่วมน้ำแล้ง โดยระบุระยะเวลาความสำเร็จที่ชัดเจน

4. ทำให้เกิดความร่วมมือกับกลไกอื่นของประเทศ เพื่อให้เกิดผลกระทบที่มากขึ้น รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการทำแผนการปฏิบัติงานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครบถ้วน และเหมาะสมทั้งกรอบของกระบวนการ กรอบเวลาที่แน่นอน เพื่อให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

5. การปรับปรุง/แก้ไข กฎระเบียบสำคัญเพื่อให้มีความคล่องตัวมุ่งเน้นการดำเนินงานเป็นสำคัญ และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย     

6. มุ่งสร้างการยอมรับให้กับ กองทุน ววน. ให้เป็นที่ประจักษ์ เข้าถึงและจับต้องได้ ด้วยการมีกลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจน มีการสื่อสารแบบสองทางที่พร้อมตอบคำถามสำคัญ