"มัลดีฟส์ โมเดล" คมนาคม ดันนโยบายเปิด Seaplane ในไทย เริ่มที่ ภูเก็ต -เกาะพีพี
กระทรวงคมนาคม ผลักดันการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations ในไทย คาดเปิดบริการได้ ภายปี 2567 เตรียมนำร่องพื้นที่ ภูเก็ต และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับการบินสู่ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) “First Seaplane Operations Toward Thailand’s Aviation Hub ว่า จากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถระบบขนส่งทางอากาศของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคม พร้อมผลักดันนโยบายสำคัญด้านการขนส่งทางอากาศ เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศของประเทศ
โดยบรรจุในนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ด้านที่ 1 “คมนาคม เปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ” โดยพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ได้บูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations อย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายในปี 2567 นี้
การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน จะได้บูรณาการความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้ Seaplane Operations ดำเนินการด้วยความปลอดภัย สอดคล้องตามมาตรฐานสากล กฎหมาย และกฎระเบียบของประเทศ
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินของไทยได้กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations ซึ่งเป็นการบินรูปแบบใหม่ที่จะช่วยตอบโจทย์การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล ช่วยให้การเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ ทางทะเลที่เข้าถึงได้ยาก รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การค้นหาและช่วยชีวิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ที่เป็นน้ำหรือทะเลเกิดความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนบูรณาการการทำงานร่วมกันและขับเคลื่อนให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operators) สามารถปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations) ในรูปแบบเที่ยวบินสาธิต (Demo Flight) ขึ้นในประเทศไทยได้ภายในปี 2567
เปิดพื้นที่ ปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations
พื้นที่เป้าหมายอยู่บริเวณท่าเรืออ่าวปอ ท่าเรือรัษฎา ภูเก็ต และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและเป็นไปด้วยความปลอดภัย จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้บูรณาการความร่วมมือร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้ Seaplane Operations สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินการด้วยความปลอดภัยสอดคล้องตามมาตรฐานและกฎระเบียบของประเทศไทย และเป็นไปตามข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อสานต่อนโยบาย “คมนาคมเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ” ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย CAAT หรือ กพท. กล่าวว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. มีภารกิจหลักในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของการปฏิบัติการบิน และความปลอดภัยของสนามบินและที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน พร้อมให้การสนับสนุน ส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการ งาน เกี่ยวกับสนามบินน้ำและที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานบนน้ำ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Seaplane Operations เพื่อกำหนดมาตรฐานและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสนามบินน้ำและที่ขึ้นลงชั่วคราว ให้มีความปลอดภัย และสอดคล้องกับมาตรฐานการบินสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO
โดยพร้อมส่งเสริมและพัฒนา Seaplane Operations ในประเทศไทย ให้มีความปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล และให้สามารถออกใบอนุญาตรองรับเที่ยวบินสาธิต (Demo Flight) ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามที่กระทรวงคมนาคม ตั้งเป้าหมายไว้
ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า “บวท. ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการควบคุมอากาศยานทางทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการขนส่งทางอากาศรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว
อีกทั้งยังมีประโยชน์ในด้านการช่วยเหลือสนับสนุนทางการแพทย์ สาธารณสุข ตลอดจนการบรรเทาภัยพิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการให้บริการอากาศยานทางทะเลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นความสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ข้อกำหนด กฎหมายกฎ ระเบียบ
รวมถึงกระบวนการทำงานและประสานงานต่างๆ เพื่อให้ Seaplane Operations เป็นไปด้วยมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งนับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของทุกหน่วยงาน ในการเปิดมิติใหม่ทางการบิน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาคต่อไป
เปิดธุรกิจ Seaplane ในไทย ยกโมเดลมัลดีฟส์ เจาะนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก
กระทรวงคมนาคม โดยหน่วยงานด้านคมนาคมทางอากาศ อยู่ระหว่างยกโมเดล มัลดีฟส์ มากำกับดูแลการให้บริการเครื่องบินสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก หรือ Seaplane ในไทย ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อรองรับการเปิดให้บริการธุรกิจซีเพลนในไทย
ขณะนี้มี 2 สายการบินใหม่ ได้ยื่นขอใบรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT แล้ว ได้แก่ บริษัท SIAM Seaplane จำกัด และบริษัท Thai Seaplane จำกัด ที่รีแบรนด์มาจากบริษัท อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ จำกัด ที่เดิมให้บริการเครื่องบินชาร์เตอร์เพื่อชมวิวในพื้นที่อันดามัน มายื่นเรื่องขอเปิดให้บริการซีเพลน
ข้อมูลจาก "ฐานเศรษฐกิจ" เผยว่า นางสาววรกัญญา สิริพิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามซีเพลน จำกัด คาดว่าสายการบินจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จากกพท.ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 โดยในช่วง 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการจะใช้เครื่องบิน Cessna Grand Caravan EX 208B จำนวน 3 ลำ ลงทุนราว 300 ล้านบาท จุผู้โดยสาร 8 ที่นั่ง บริการในเครื่องให้ความรู้สึกเหมือนไพรเวทเจ็ท
โดยวางแผนจะบินใน 10 เส้นทาง อาทิ พัทยา กระบี่ พังงา เกาะยาวน้อย หลีเป๊ะ ตราด ตั้งราคาขายได้ไว้ที่ 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อ 1 ชั่วโมง
สายการบินเน้นเจาะกลุ่มตลาดพรีเมี่ยม ที่มีความต้องการใช้ซีเพลนเดินทาง เพราะสะดวกและรวดเร็ว อาทิ จากภูเก็ตไปหลีเป๊ะ ใช้เวลา 40-45 นาที กรุงเทพไปพัทยา 25-30 นาที และหากธุรกิจไปได้ดีวางแผนไว้ว่าจะเพิ่มเครื่องบินรวมเป็น 15 ลำภายใน 5 ปี ลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาท
ส่วนอีกสายการบินที่ยื่นขอใบอนุญาติคือ Thai Seaplane ซึ่งทั้ง 2 สายการบิน มีเครื่องบิน Seaplane นักบิน และได้ศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแผนทางธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบได้ทันที หากได้รับอนุญาต จาก กพท. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากต้องรอให้กพท.ดำเนินการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสนามบินน้ำ (Water Aerodrome) หรือ ที่ขึ้น-ลงชั่วคราวทางน้ำในพื้นที่ต่างๆที่สายการบินมีแผนจะเปิดบินให้แล้วเสร็จเสียก่อน