posttoday

“กสว.- จ.เชียงใหม่” อัดงบ 70 ล้านบาทแก้ปัญหาฝุ่นเชียงใหม่

27 พฤษภาคม 2567

“กสว.- จ.เชียงใหม่” ร่วมแก้ปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ทุ่มงบ ววน. กว่า 70 ล้านบาท แก้ปัญหาฝุ่น และไฟป่า พร้อมดันจังหวัดเชียงใหม่สู่เมืองที่ใช้วิจัย

คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้นำผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัย ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้านำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของกองทุน ววน. มุ่งแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเร่งด่วนตามโจทย์และความต้องการของจังหวัดเชียงใหม่

โดย สกสว. ได้สนับสนุนงานวิจัย ภายใต้งบประมาณปี 2566 เป็นเงินทุนวิจัยรวมกว่า 70 ล้านบาท ใน 4 มิติเร่งด่วนสำหรับการลดฝุ่นจากต้นตอแหล่งกำเนิด ได้แก่ การลดไฟในพื้นที่ป่าไม้ การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การลดไฟในพื้นที่เกษตร และการลดฝุ่นข้ามแดน โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยทุกภาคส่วนตั้งเป้าผลลัพธ์ทั้งการลดปัญหาที่เกิดซ้ำในแต่ละพื้นที่ การติดตามสถานการณ์ การวางแผนป้องกันและรับมือฝุ่นจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรกรรม 
 

“กสว.- จ.เชียงใหม่” อัดงบ 70 ล้านบาทแก้ปัญหาฝุ่นเชียงใหม่

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า แต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ หลังการปฏิรูประบบ ววน. ในปี 2562 ได้มีการจัดตั้งกองทุน ววน. ขึ้น โดยมี กสว. ทำหน้าที่กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่สภานโยบายได้กำหนดไว้ 
    
“ความสำคัญของงานวิจัยจะช่วยให้ผู้ดำเนินงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นำมาสู่การแก้ไขที่เป็นระบบ รวมทั้งเป็นแนวทางเชิงรุกที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง การควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที การจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า การช่วยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกันซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมีความยั่งยืนและมีโอกาสนำไปใช้เป็นวงกว้าง”
 

“กสว.- จ.เชียงใหม่” อัดงบ 70 ล้านบาทแก้ปัญหาฝุ่นเชียงใหม่
ขณะที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับวิกฤติ  ไฟป่า งานวิจัยถือเป็นเครืองมือสำคัญที่จะช่วยลดข้อถกเถียงของวิธีแก้ไขที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนระหว่างปฏิบัติงาน อย่างเช่นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม งานวิจัยจะช่วยให้ได้บทสรุปขององค์ความรู้ วิธีดำเนินการ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ตรงกับบริบทของพื้นที่ ชีวิตของคนในชุมชน และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแบบที่ทุกภาคส่วนต้องการ ดังนั้น เมื่อพื้นที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำได้ คือ การเปิดพื้นที่เชิญหลากผู้รู้จากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์องค์ความรู้ที่มีร่วมกัน จนนำไปสู่การลงมือปฎิบัติจริง นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยให้หลากผู้รู้ยอมรับว่าการตกผลึกขององค์ความรู้ว่าทางออกที่แท้จริงของพื้นที่คืออะไร

ด้านนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันกับ สกสว. นับเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะทำให้วิกฤติคลี่คลายได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาทางเชียงใหม่ได้มีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้แล้วแต่อาจยังไม่ทั่วถึง และบางนวัตกรรมอาจยังไม่ครอบคลุมกับปัญหาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดมีความยินดีและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 16 โครงการวิจัยที่สกสว. และกองทุน ววน. ได้สนับสนุนมานั้นจะไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเฉพาะในระยเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหา และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยการนำงานวิจัยมาใช้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการออกนโยบาย ยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เกิดการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ที่เป็นบริบทสำคัญของจังวัดได้อย่างเข้มข้น”

นายทศพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การถอดบทเรียนจากสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดหวังว่าเมื่อ จ.เชียงใหม่ ได้ทดลองปรับโครงสร้างให้องค์กรส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาใช้ติดตาม วางแผนการรับมือ และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้การสนับสนุบงบประมาณจากกองทุน ววน. จะช่วยให้ จ.เชียงใหม่ ได้รับประโยชน์จากงานวิจัย และเกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเป็นระบบที่จะเป็นแรงจูงใจไม่ให้เผาและบุกรุกป่า การส่งเสริมความเข้าใจและค่านิยมของประชาชนจากความเข้าใจถึงผลกระทบและช่วยกันลดปัญหาต่าง ๆ ปรับโครงการสร้างการเพาะปลูกเพื่อเข้าสู่วิถีเกษตรไม่เผา และมีทางเลือกสำหรับการทำเกษตรกรรมที่จะมีพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านองค์ความรู้ การร่วมบริหารจัดการและป้องกัน รวมถึงนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ

กองทุน ววน. และสกสว. ได้มีการกำหนดกรอบวิจัยร่วมกับ PMU ใน ใน 4 มิติ ดังนี้ 

• โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ป่า จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการรักษาผืนป่า

มากกว่าเดิมด้วยกลไกการตอบแทนคุณนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Service (PES) ด้วยการศึกษาบริการทางนิเวศและมูลค่าของทรัพยากรเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชนไปใช้สนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ป่าและป้องกันไฟป่า เช่น การขายคาร์บอนเครดิต การทำวิจัยชุมชนเพื่อพัฒนากิจกรรมการอนุรักษ์และกองทุนอนุรักษ์ระดับชุมชน เพื่อ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการไฟป่าของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาระบบติดตามและการวิเคราะห์โอกาสความเสี่ยงที่แม่นยำผ่านการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและงานวิจัย 

• การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ที่จะช่วยให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่า 

- ปัญหาฝุ่นควันที่แต่เดิมมีความซับซ้อน ลดการเกิดการเผาไหม้ซ้ำ ๆ  และสามารถนำข้อมูลไปจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ ได้เพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลชุดที่ 1 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ข้อมูลด้านจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน ข้อมูลชุดที่ 2 ด้านอุตุนิยมวิทยา และสภาพของพื้นที่ ข้อมูลชุดที่ 3 ด้านการป้องกันผลกระทบและวิธีการเยียวยา ข้อมูลชุดที่ 4 ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ การลดสาเหตุ การรองรับการเผชิญเหตุ และรองรับการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยทั้ง 4 ชุดข้อมูลนี้ยังมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปสู่การกำกับและติดตามค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมทั้งประเทศที่ดำเนินงานโดยกรมควบคุมมลพิษ และพ.ร.บ.อากาศสะอาดและมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดฝุ่น PM 2.5 ของกรรมการร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด 

• การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร การทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชแบบไม่เผา และมีนวัตกรรม / วิธีทำเกษตรที่สร้างรายได้สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะวิธีการจัดการแปลงก่อนเริ่มทำการเพาะปลูกและหลังกระบวนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการปรับเปลี่ยนจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด หรือ ไม้ยืนต้นและไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน และโครงการวิจัยในกลุ่มนี้ยังมุ่งให้มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำพลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ทั้งเกษตรกร ผลผลิต และไร่นาแต่ละพื้นที่มีความยั่งยืนขึ้น 

• การลดฝุ่นข้ามแดน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น (Best Practice) ไปขยายผลกับการผลิตการเกษตรภายในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเกิดการถ่ายอดองค์ความรู้ที่สำคัญที่สามารถใช้ได้ร่วมกันระหว่างสามประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมา และถอดบทเรียนการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน 

การจะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องบูรณาการข้อมูลและส่งต่อผลงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ใช้ และผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับกระบวนการขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์และความต้องการมากที่สุด ดังนั้น การหารือในครั้งนี้จะทำให้ กสว. และหน่วยงานทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ รศ.ดร. ปัทมาวดี กล่าวปิดท้าย