posttoday

“แลนด์บริดจ์” เนื้อหอมมาก? เกิดไม่เกิด? จับตาทุน-ปัจจัย/ไทย-เทศ

08 มิถุนายน 2567

ส่องทุนไทย-เทศชิงเค้กแลนด์บริดจ์ที่กำลัง “เนื้อหอมมาก” จะพาฝันทุน 1 ล้านล้านของ “รัฐบาลเศรษฐา” ไปถึงฝั่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยใด แกงไม่แกง หลัง “สุริยะ” ยืนยัน เกิดแน่!

KEY

POINTS

  • ส่องทุนไทย-เทศชิงเค้กแลนด์บริดจ์ที่กำลัง “เนื้อหอมมาก” 
  • ดันพ.ร.บ.SEC ต่างชาติถือสัดส่วนลงทุนได้กว่า 51%
  • รายละเอียดรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์

โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามันหรือ “แลนด์บริดจ์” มูลค่า1ล้านล้านบาท หนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม ที่หมายมั่นปั้นมือให้เกิดในรัฐบาลนี้ หลังมหากาพย์อันยาวนาน โดยตั้งความหวังดึงเงินนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพสูงเข้ามาลงทุน

 

เริ่มจากสรุป Market Sounding - ดัน พ.ร.บ.SEC เข้าสภาฯ - พร้อมเปิดประมูลปลายปี 68

 

ลิสต์รายชื่อที่น่าสนใจมีใครบ้าง ตามคำเชิญของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ระบุว่า มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกว่า100 ราย ร่วมประชุมทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่จากจีน และไต้หวันประกาศจุดยืน “พร้อมเข้าร่วมประมูล” แม้ยังห่วงขนาดท่าเรือต่างกันหวั่นกระทบปริมาณตู้สินค้า 

 

ไล่เรียงรายชื่อทุนไทย-เทศที่สนใจร่วมประมูลในโครงการแลนด์บริดจ์

รายชื่อนักลงทุนกลุ่มสายการเดินเรือ,กลุ่มบริหารท่าเรือ, กลุ่มการก่อสร้าง ฯลฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ให้ความสนใจกว่า 100 ราย

เช่น บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ดับลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์,บริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย ) จำกัด,บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด , บจ.โอโอซีแอล โลจิสติคส์ (ประเทศไทย), บจ.เอสไอทีซี คอนเทนเนอร์ ไลนส์ (ประเทศไทย), บจ.เค ไลน์ (ประเทศไทย) ,บจ.อินเตอร์เอเชียไลน์ (ประเทศไทย), บมจ.ธนาคารกรุงไทย, China energy international group ,Nippon Koei Co,Ltd.(Japan) ,Mitsubishi Company (Thailand), Bank of China, Embassy of India,Jica Thailand Office ฯลฯ

 

 

“แลนด์บริดจ์” เนื้อหอมมาก? เกิดไม่เกิด? จับตาทุน-ปัจจัย/ไทย-เทศ

 

ยักษ์จีน “ไชน่า ฮาร์เบอร์” และ “อินเตอร์เอเชีย ไลน์” ทุนจากไต้หวัน

- ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือรายใหญ่ เปิดเผยว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ยังอยู่ในกระบวนการหลายขั้นตอน บริษัทยืนยันมีความสนใจเข้าร่วม ทั้งโครงการ หากมีการเปิดประมูลเอกชนร่วมลงทุน ส่วนความกังวลกรณีที่มีการเวนคืนที่ดินและส่งมอบที่ดินให้แก่ภาคเอกชนเมื่อมีการเปิดประมูลนั้น มองว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

 

- บริษัทอินเตอร์เอเชีย ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนว่า บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งตู้สินค้าทางเรือของสัญชาติไต้หวัน มีความกังวลเกี่ยวกับรูปแบบ One port to side ของโครงการแลนด์บริดจ์ ว่าสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เนื่องจากขนาดของท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนองทั้ง 2 ฝั่งมีความต่างกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งตู้สินค้าได้

 

“ปัจจุบันบริษัทมีการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาค่อนข้างมาก หากโครงการนี้สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางและช่วยลดต้นทุนได้จะทำให้ตัวเลขผู้ใช้บริการขนส่งตู้สินค้ากับบริษัทเพิ่มขึ้น”

 

"ทุนอิตาลี" สนใจหลังการเดินสายโรดโชว์ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

 

- ฝ่ายบริหารของบริษัท Fincantieri ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือขนาดใหญ่ของอิตาลี มีความสนใจเข้าลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า บริษัทฯ สามารถให้บริการซ่อมบำรุงเรือขนส่งสินค้า รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าเรืออื่น ๆ ของกระทรวงคมนาคม

 

- กรรมการบริหารการตลาดบริษัท Webuild ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการก่อสร้างและออกแบบวิศวกรรมโยธามีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ การสร้างเขื่อน ท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ ท่าอากาศยาน ปัจจุบันดำเนินธุรกิจใน 50 ประเทศทั่วโลกนั้น ได้นำเสนอเทคโนโลยีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และแสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยเช่นกัน 

 

โดยได้เสนอความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อปรับปรุงขบวนรถไฟสำหรับการให้บริการในระดับ Luxury ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์ในการให้บริการที่หลากหลายแก่ประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างรายได้ให้กับ รฟท. ในระยะยาวและเป็นการสนับสนุนนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลอีกด้วย

 

ทุนตะวันออกกลาง “ดูไบ” ก็มา

ล่าสุดนายเศรษฐาโพสต์ใน “X” ว่า สุลต่าน Bin Sulayem  แห่งดูไบ พอร์ต เวิลด์ได้ตอบรับคำเชิญมาเยือนไทยเพื่อศึกษาพื้นที่และความเป็นไปได้ของโครงการ Landbridge

 

ดูไบ พอร์ต เวิลด์ (DP Word) บริษัทบริหารท่าเรือระดับโลก ธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร ของดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งร่วมทุนมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก (มีเรือเดินสมุทรทั้งหมด 1,700 ลำ บริหารท่าเรือหลายสิบประเทศ) ได้แสดงความสนใจและจะเดินทางมาสำรวจพื้นที่ในเดือนมิถุนายนนี้ 

 

WHA พร้อม!

ทุนฝั่งไทยที่น่าสนใจก็มีเช่น WHA ผู้นำโลจิสติกส์ที่ระบุว่า มีความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประมูลงานในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของบริษัท โดยมองว่าจากการที่ภาครัฐเดินทางไปให้ข้อมูลกับภาคเอกชนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นการปูพื้นฐานสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนยังไทยเพิ่มมากขึ้น

 

“หากว่าภาครัฐสามารถเดินหน้า "โครงการแลนด์บริดจ์" ให้สำเร็จได้ ก็จะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้อย่างมหาศาล โดยหัวใจหลักๆ ของการลงทุน คือ พื้นที่รองรับฐานการผลิต ระบบสาธารณูปโภค และระบบการขนส่ง (โลจิสติกส์)”

 

สิ่งสำคัญที่สุดในการดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ คือ ความพร้อมในด้านพื้นที่ของภาคเอกชนว่า เพียงพอรองรับการย้ายฐานทุน หรือฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศได้มากพอแล้วหรือไม่ ซึ่งจุดนี้มองว่าทาง WHA ค่อนข้างมีความพร้อม เพราะในปัจจุบันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยของบริษัทที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 40,000-50,000 ไร่ และมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทยอีก จำนวน 12 แห่ง

 

อีกทั้งบริษัทยังมีวางแผนลงทุนพัฒนาโครงการนิคมฯ ใหม่ และขยายนิคมฯ เดิมที่มีอยู่แล้ว รวม 7 โครงการ บนพื้นที่รวมเกือบ 10,000 ไร่ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2568-2570) ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีพื้นที่นิคมฯ รวมกว่า 52,000 ไร่ ในปี 2570 สำหรับโครงการนิคมฯ แห่งใหม่ล่าสุด ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 5 ขนาดพื้นที่กว่า 3,400 ไร่ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 2567 นี้

 

SJWD มองบวก!

บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD มองว่า "โครงการแลนด์บริดจ์" ของรัฐบาลนั้น หากผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง จะเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศไทยมาก เนื่องจากจะดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยได้เพิ่มอย่างมาก

ในส่วนของ SJWD เองก็มีความสนใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการดังกล่าว หากว่ามีการเปิดประมูลในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมเสนอราคาด้วย ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นการจับมือร่วมกันกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ เพื่อเอาความเชี่ยวชาญและความรู้ที่มีมาผนวกรวมกัน เพื่อต่อยอดด้านการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ 

 

“จากนี้ไปคงต้องรอดูความชัดเจนของภาครัฐก่อนว่าจะสามารถผลักดันโครงการออกมาได้เร็วมากน้อยแค่ไหน กรอบการประมูลงานของภาคเอกชน และจะมีการเปิดประมูลงานในภาคส่วนใดบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าขั้นตอนในแต่ละขั้นตอนของการพิจารณาและการลงทุนนั้น ค่อนข้างมีความซับซ้อนและต้องให้ระยะเวลา”

 

ฝันไกลไปทางไหนต่อ?

Step 1. ดันพ.ร.บ.SEC ต่างชาติถือสัดส่วนลงทุนได้กว่า 51%

เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดออกกฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันสนข.ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมาที่กระทรวงแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนก.ย.นี้ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

 

ในร่างพ.ร.บ.SEC จะมีสิทธิประโยชน์คล้ายกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.) อีอีซี เช่น 

- สิทธิประโยชน์ทางภาษี

- สัดส่วนการลงทุน โดยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถครองสัดส่วนการลงทุนได้กว่า 51% ฯลฯ 


ขณะความคืบหน้าการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการเข้าพื้นที่ เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการขอใบอนุญาตเข้าพื้นที่

"ปัจจุบันได้มีการลงพื้นที่สำรวจแล้ว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567"

หลังจากนั้นจะเสนอไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 

คาดว่าทั้งหมดจะเสร็จพร้อมๆ กับการจัดตั้งพ.ร.บ. SEC ในช่วงปลายปี 2568

 

โครงการแลนด์บริดจ์จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 

ระยะที่ 1 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 6 ล้านทีอียู เปิดให้บริการภายในปี 73

ระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 6 ล้านตู้ทีอียู เปิดให้บริการปี 82 แล

ระยะที่ 3 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 8 ล้านตู้ทีอียู โดยการเปิดให้บริการระยะนี้จะต้องรอดูการเริ่มดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 ระยะก่อน ส่งผลให้ทั้งโครงการฯสามารถรองรับปริมาณได้ทั้งหมดฝั่งละ 20 ล้านตู้ทีอียู

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: ฐานเศรษฐกิจ