posttoday

ดีอี กดปุ่ม โคราช ดิจิทัล ชู สีคิ้ว ต้นแบบ สมาร์ท ซิตี้

02 กรกฎาคม 2567

“ประเสริฐ” ปั้น โคราช มหานครดิจิทัล ยกโซลูชั่นอัจฉริยะ พัฒนาบริการสู่ภาคประชาชน ดันอาสาสมัครดิจิทัลให้ความรู้ ชู สีคิ้ว เมืองต้นแบบประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หวังก้าวสู่สมาร์ท ซิตี้ ในอนาคต

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการใช้งานได้ดิจิทัลในส่วนภูมิภาคเพื่อให้ส่วนราชการในภูมิภาคและประชาชนได้ตระหนักถึงการนำดิจิทัลมาประยุกต์ในใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต การเข้าถึงบริการภาครัฐช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของภาครัฐไปยังประชาชน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่นโยบายรัฐบาลดิจิทัล

ดังนั้นกระทรวงจึงได้นำเทคโนโลยีของหน่วยงานภายใต้กระทรวงมานำเสนอให้จังหวัดนครราชสีมา ได้รับรู้ รวมถึงมีโครงการต่างๆที่เริ่มทำร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับโครงการ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มุ่งยกระดับชุมชนเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร พร้อมต่อยอดจากโดรนสู่รถแทรกเตอร์ โดยดีป้าสนับสนุนเงินทุน 60% 

ดีอี กดปุ่ม โคราช ดิจิทัล ชู สีคิ้ว ต้นแบบ สมาร์ท ซิตี้

บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ในการนำเสนอโซลูชั่น เตือนภัย โดยมีการเชื่อมต่อกล้องมือถือ กล้อง CCTV เพื่อแจ้งเตือนกับตำรวจโดยตรง ผ่านไลน์ และสามารถแชร์ตำแหน่งที่ตั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงการรวมการรายงานผลมิเตอร์น้ำและไฟผ่านแอปพลิเคชันเดียว ทำให้สามารถลดต้นทุนพนักงานจดมิเตอร์ และใบเสร็จที่เป็นกระดาษได้ เป็นต้น

ขณะที่ สดช. ได้นำโครงการที่สร้างความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วนของสังคม มาร่วมนำเสนอ ประกอบด้วย 1.โครงการยกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชน : สาธิต e-Service ของศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2.โครงการการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) : การเรียนรู้และทดสอบระบบด้วยแอปพลิเคชัน อสด. 3.โครงการสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศ (Digital Literacy : DL) : การทดสอบสมรรถนะด้านดิจิทัล

4. บริการดิจิทัลสำหรับผู้พิการ : สาธิตการใช้แอปพลิเคชันสำหรับความพิการทางการได้ยิน (Smart Ear) และการเรียนรู้บัตรคำสามภาษา 5.โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 6.ภารกิจด้านกิจการอวกาศแห่งชาติ : จัดแสดงโมเดลดาวเทียม IPSTAR

นอกจากนี้ กระทรวงยังช่วยยกระดับการรักษาให้กับประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมอบหมายให้สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI หน่วยงานในสังกัด วางแผนดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อบรรจุแพลตฟอร์ม Health Link เข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ มุ่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระดับชาติ พร้อมทั้งกำหนดแผนปฏิบัติการและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพที่สามารถนำไปใช้พัฒนาระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ โดยเริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต่อด้วยจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขยายผลการใช้งานในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกหน่วยบริการ

ดีอี กดปุ่ม โคราช ดิจิทัล ชู สีคิ้ว ต้นแบบ สมาร์ท ซิตี้

พร้อมผลักดันจังหวัดนครราชสีมา สู่การเป็นต้นแบบในการบูรณาการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ รวมถึงจัดทำแผนงบประมาณระยะยาว ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด ยกระดับระบบสาธารณสุขไทยได้อย่างยั่งยืน 

ระบบ Health Link ทำให้ชาวโคราช สามารถรักษาข้ามโรงพยาบาลได้ โดยแพทย์สามารถดูประวัติการรักษาข้ามสถานพยาบาลนอกสังกัด ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการตรวจวินิจฉัยซ้ำซ้อน และสามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทันท่วงที  

นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้ เทศบาลเมืองสีคิ้ว ได้รับการรับรองเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากดีป้าแล้ว ภายใต้โครงการ SIKHIO SMART LIVING ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆในจังหวัดนครราชสีมา และหวังว่าจะก้าวสู่เมืองอัจฉริยะในอนาคต ซึ่งการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นหนึ่งในแผนพัฒนา Mega Program เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย ได้รับการบรรจุในเครื่องยนต์ที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้นโยบายการดำเนินงานของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand เพื่อสร้างสังคมให้มีความน่าอยู่ ทันสมัย กระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค พัฒนาท้องถิ่นให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข พร้อมเร่งส่งเสริมการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี ดีป้า เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรระดับพื้นที่

ดีอี กดปุ่ม โคราช ดิจิทัล ชู สีคิ้ว ต้นแบบ สมาร์ท ซิตี้

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า โครงการ SIKHIO SMART LIVING คือโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมืองในภาคประชาชน สังคมและท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลเมืองสีคิ้ว ครอบคลุมมิติด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP)

• ด้านความปลอดภัย ดำเนินการยกระดับซอฟต์แวร์ของกล้อง CCTV ทั้งหมดในอำเภอสีคิ้วใน 4 ฟังก์ชัน ประกอบด้วย การตรวจจับความเคลื่อนไหวผิดปกติในพื้นที่ที่กำหนด การตรวจจับการบุกรุกข้ามเส้นที่กำหนด การตรวจจับวัตถุที่ถูกวางทิ้งไว้หรือหายไปจากพื้นที่ที่กำหนด และการวิเคราะห์และประมวลผลภาพ ทั้งหมดเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

• ด้านบริการภาครัฐ ส่งเสริมศักยภาพการให้บริการร้องเรียน ร้องทุกข์ผ่าน LINE OA อาทิ ถนน ทางเท้า ไฟส่องสว่างสาธารณะ ขยะสิ่งปฏิกูล เหตุรำคาญ การตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ในพื้นที่สาธารณะ น้ำท่วม ฯลฯ เพื่อการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด แม่นยำ และรวดเร็ว

• ด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง สร้างการเชื่อมโยง จัดเก็บ และนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่มาใช้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ปัจจุบันมีเมืองที่ผ่านการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 36 เมืองจาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ไม่น้อยกว่า 105 เมืองในปี 2567 – 2570 พร้อมประเมินว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท