posttoday

INTERVIEW คนกับเมือง: “สีคิ้ว สมาร์ทลิฟวิ่ง“ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว “คน”

07 กรกฎาคม 2567

รู้จัก "สีคิ้ว สมาร์ทลิฟวิ่ง" โครงการที่มุ่งพัฒนาอำเภอสีคิ้วให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ“ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนก่อน รู้จัก “เมืองสีคิ้ว” มากขึ้นกับนายกเทศมนตรีฯ ปรีชา จันทรรวงทอง

ปัจจุบัน เทศบาลเมืองสีคิ้ว ได้รับการรับรองเป็น “เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ” จากดีป้าแล้ว ภายใต้โครงการ SIKHIO SMART LIVING ซึ่งจะกลายเป็น “ต้นแบบ” ให้กับเมืองอื่นๆในจังหวัดนครราชสีมา (ในโครงการ Korat Smart City) และหวังจะก้าวสู่ "เมืองอัจฉริยะ" ต่อไปในอนาคต 

 

หลังจาก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงดีอี และหน่วยงาน ดีป้า ร่วมเปิดตัวโครงการ “SIKHIO SMART LIVING” หรือ สีคิ้วสมาร์ทลิฟวิ่ง โครงการที่จะทำหน้าส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยจะมุ่งเน้น 3 ด้านหลัก ในจุดเริ่มต้นของความสมาร์ทก็คือ ด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP)

 

การพัฒนา "สีคิ้ว สมาร์ทลิฟวิ่ง" เป็นตัวอย่างของการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเรื่องใกล้ตัวก่อน ซึ่งจะเห็นผลได้ง่ายและชัดเจนที่สุด ก่อนที่จะก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง

 

INTERVIEW คนกับเมือง: “สีคิ้ว สมาร์ทลิฟวิ่ง“ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว “คน”

 

รู้จักสีคิ้ว “นครจันทึก จารึกภาพสี่พันปี สี่เขี้ยวต้นตำนาน คู่บ้านลำตะคอง”

สีคิ้ว เป็นเมืองหรืออำเภอในจังหวัดนครราชสีมาที่มีชื่อเดิมว่า “นครจันทึก” อดีตเมืองหน้าด่านแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอดีตอยู่ในเขตดงพญาเย็น ก่อนจะย้ายที่ตั้งและต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอสีคิ้ว” เมื่อวันที่ 1 เม.ย พ.ศ. 2482 

หลังจากที่ย้ายอำเภอออกมาจากเขตดงพญาเย็น ซึ่งเป็นแหล่งไข้ป่าชุกชุม ทำให้มีประชาชนมาติดต่อราชการเป็นจำนวนมาก การคมนาคมใช้รถไฟเป็นหลัก ปัจจุบันอำเภอสีคิ้วมีพื้นที่ 1,247 ตารางกิโลเมตร มีประชากร (ไม่รวมประชากรแฝง) ประมาณ 20,000 คน

         

นายปรีชา จันทรรวงทอง นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว

 

วันนี้โพสต์ทูเดย์ได้คุยกับ คุณปรีชา จันทรรวงทอง นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว ที่ได้มาอัพเดท 3 ด้านหลักๆ ของ “สีคิ้ว สมาร์ทลิฟวิ่ง” และปัจจัยสำคัญสู่การเป็น "เมืองอัจฉริยะ" ในอนาคต

 

ด้านความปลอดภัย คุณปรีชาเล่าว่า สีคิ้วมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านความปลอดภัยเป็นเรื่องหลัก ปัจจุบันสีคิ้วมี CCTV อยู่แล้ว 50 กว่าตัว และมีเป้าหมายว่าในอีก 1-2 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ตัว ล่าสุดได้ดำเนินการยกระดับซอฟต์แวร์ของกล้องภายใต้การดูแลของกระทรวงดีอี หน้าที่หลักๆ ของ CCTV ก็คือการตรวจจับความเคลื่อนไหวผิดปกติในพื้นที่ การตรวจจับการบุกรุกข้ามเส้นที่กำหนด ไปจนถึงการตรวจจับวัตถุที่ถูกวางทิ้งไว้หรือหายไปจากพื้นที่ การวิเคราะห์และประมวลผลภาพ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

ด้านบริการภาครัฐ มีการบริการใช้งานผ่าน Line OA มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับระบบ ทั้งการให้บริการร้องเรียน ร้องทุกข์ผ่าน LINE OA อาทิ ถนน ทางเท้า ไฟส่องสว่างสาธารณะ ขยะสิ่งปฏิกูล เหตุรำคาญ การตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ในพื้นที่สาธารณะ น้ำท่วม ฯลฯ เพื่อการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด แม่นยำ และรวดเร็ว

 

ส่วนด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง หรือ City Data Platform: CDP ซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่ของสีคิ้ว (ก่อนหน้านี้ Smart City อีกเมืองคือเทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นได้นำร่องเปิดตัวไปแล้ว) จะทำหน้าที่สร้างการเชื่อมโยง จัดเก็บ และนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาพื้นที่มาใช้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

 

จุดเด่นของสีคิ้วและแผนในอนาคต

คุณปรีชา ชูจุดเด่น “เทคโนโลยีดิจิทัลด้านความปลอดภัย” จากการติดตั้งและอัพเกรด CCTV และการบริการภาครัฐที่สะดวกรวดเร็วในฐานะ ”การบริการทางลัด“ และความร่วมมือกับภาคประชาชนและชุมชนที่ต่อไปประชาชนต้องรับรู้และมีส่วนร่วมในเทคโนโลยีมากขึ้น และยังมีความตั้งใจให้เกิด Smart People ในอนาคต เพราะตนเชื่อว่า คนคือจุดเริ่มต้นของ Smart City 

 

“Smart City คือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน คำว่า “สมาร์ท” อาจจะดูหล่อ แต่เราไม่ได้ต้องการจุดนั้น สิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะสมาร์ทลิฟวิ่ง หรือ สมาร์ทซิตี้ ก็คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากกว่า”

 

สิ่งที่จะทำให้สีคิ้วเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ในอนาคต มีอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ

เบื้องต้นน่าจะเป็นที่ตัวเราก่อน และภาคประชนชนที่จะเข้ามาร่วมกัน และสำคัญเลยคือ กระทรวงดีอี และทางดีป้าที่จะเข้ามาช่วยเราด้วย ผมว่าจึงจะไปได้

 

สร้าง “บุคลากรดิจิทัล” ปัจจัยสำคัญในการสร้าง Smart City

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก เราต้องมีบุคลากรที่จะเข้ามาจัดการเรื่องนี้ได้ เราจึงได้ตั้งทีม Smart City ของสีคิ้วขึ้นมาเลย เพื่อสรรหาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในเรื่องนี้เข้ามาทำงานตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำจริงจัง และต้องพัฒนาอยู่ตลอด ซึ่งเป็นปัญหาของท้องถิ่น ก็คือบุคลากรและงบประมาณไม่พอ และช่องทางในการบริการสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันต้องมีช่องทางอีก อย่างทางสีคิ้วเราประสานกับทางกระทรวงมันก็ไปต่อได้ แต่ในบางท้องถิ่นยังไม่รู้จะไปทางไหน 

 

คนรุ่นใหม่คือแรงขับเคลื่อนสำคัญ

เราเพิ่งเริ่มโครงการ แม้ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ทั้งที่นี่ หรือ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ผมเชื่อว่า เขาจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้มาก โดยเฉพาะการสะท้อนปัญหาให้เรา เนื่องจากคนรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีได้คล่องกว่า จึงสะท้อนปัญหาได้ง่าย ผมมั่นใจว่า เขาจะสามารถเข้ามาร่วมกับเราได้ในการขับเคลื่อนเมืองสู่อนาคต

 

INTERVIEW คนกับเมือง: “สีคิ้ว สมาร์ทลิฟวิ่ง“ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว “คน”

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่ดีอีให้การรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 36 เมืองจาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ไม่น้อยกว่า 105 เมืองในปี 2567 – 2570 พร้อมประเมินว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท

 

ตัวอย่างเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย:

 

1.กรุงเทพมหานคร: เน้นการพัฒนาการคมนาคม การจัดการสิ่งแวดล้อม และการบริการสาธารณะ

2. เชียงใหม่: เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวอัจฉริยะ

3. ขอนแก่น: เน้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

4.ภูเก็ต: เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการท่องเที่ยวอัจฉริยะ

5. สงขลา: พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการเมืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน

6. นครราชสีมา: เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรและการท่องเที่ยวอัจฉริยะ